top of page
  • รูปภาพนักเขียนUrbinner

การละลายพฤติกรรม หรือ Ice-breaking คืออะไร? ทำให้มีคุณภาพได้อย่างไร?

อัปเดตเมื่อ 10 มี.ค. 2565

Highlights

  • การละลายพฤติกรรม (ice-breaking) คือ การทำกิจกรรมบางอย่างเพื่อที่จะช่วยให้ผู้คนที่อยู่รวมกันเป็นกลุ่มรู้สึกสบายใจ คุ้นเคยที่จะอยู่ร่วมกัน

  • เป้าหมายของการละลายพฤติกรรม คือ การเพิ่มพื้นที่ปลอดภัยให้กับกลุ่มเพื่อที่จะทำบางอย่างร่วมกัน

  • กิจกรรมละลายพฤติกรรมที่ดีจะช่วยให้ผู้เข้าร่วมไปสู่เป้าหมายได้เร็วขึ้น ในขณะที่กิจกรรมละลายพฤติกรรมที่ไม่ดีจะนำไปสู่ความแตกแยกระหว่างกลุ่ม สร้างความโดดเดี่ยว และทำให้ผู้เข้าร่วมไม่พร้อมที่จะทำตามเป้าหมายร่วมกันได้

 

การเตรียมความพร้อมของผู้เข้าร่วมกิจกรรมก่อนการทำกิจกรรมต่างๆ สามารถช่วยทำให้การทำให้ผลลัพธ์ของกิจกรรมออกมาได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ว่ากิจกรรมนั้นจะเกี่ยวข้องกับการเรียน การระดมความคิด หรือการทำงานร่วมกัน


การละลายพฤติกรรมหรือ ice-breaking เป็นส่วนประกอบที่สำคัญที่จะช่วยให้ผู้เข้าร่วมหรือพนักงานได้มีความรู้สึกปลอดภัยเชิงจิตวิทยา (psychological safety) เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนที่จะเริ่มทำอะไรได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะในกรณีที่แต่ละคนไม่รู้จักกัน


หากองค์กรของคุณกำลังหาแนวทางในการละลายพฤติกรรมบุคลากร คุณสามารถติดต่อเราเพื่อจัด Value-Based Team building ให้กับองค์กรของคุณได้ ซึ่ง Value-Based Team building จะเป็นการจัดกระบวนการที่ผสมผสานช่วยให้บุคลากรเข้าใจกันมากขึ้น เปิดใจพูดคุยกัน และทำงานร่วมกันได้ดีขึ้น


เนื้อหาในบทความ


การละลายพฤติกรรม หรือ Ice-breaking คืออะไร?

การละลายพฤติกรรม (ice-breaking หรือ ice breaker) คือ การทำกิจกรรมบางอย่างเพื่อที่จะช่วยให้ผู้คนที่อยู่รวมกันเป็นกลุ่มรู้สึกสบายใจ คุ้นเคยที่จะอยู่ร่วมกัน ทำงานร่วมกัน เรียนรู้ร่วมกัน หรือพร้อมที่จะบรรลุเป้าหมายอย่างใดอย่างหนึ่งได้


กิจกรรมละลายพฤติกรรม (Ice-breaking) มีประโยชน์อย่างไร?

ทำให้แต่ละคนรู้จักกัน

การรู้จักชื่อ ความสนใจ หรือตำแหน่งงาน เป็นสิ่งแรกๆ ที่จะเกิดขึ้นเมื่อเราต้องการมีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่น กิจกรรมละลายพฤติกรรมจะช่วยทำให้เราได้รู้จักสิ่งเหล่านี้ และอยู่ในบรรยากาศที่ตัวเองรู้สึกปลอดภัยมากเพียงพอที่จะรู้จักกัน


เพิ่มความรู้สึกปลอดภัยเชิงจิตวิทยา (Psychological Safety)

หลายครั้งมนุษย์จะรู้สึกแปลกประหลาดเมื่อมีใครมาถามเรื่องส่วนตัว หรือพยายามทำความรู้จักกัน ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นความกลัวที่เกิดขึ้นโดยธรรมชาติ


กิจกรรม ice-breaking จะเป็นสถานการณ์บังคับที่ทำให้แต่ละคนต้องทำความรู้จักกัน เพื่อเพิ่มความรู้สึกปลอดภัยเชิงจิตวิทยา (psychological safety) ซึ่งหลังจากที่ได้ทำกิจกรรมแล้วกำแพงของแต่ละคนจะค่อยๆ ลดลงมา และพร้อมที่จะอยู่ร่วมกันได้ในที่สุด


ช่วยให้ร่างกายมีความพร้อม

การทำกิจกรรมที่ช่วยให้ร่างกายได้ขยับ ได้เปลี่ยนรูปแบบการคิด และรู้สึกสนุกไปกับมัน คือการช่วยให้เราได้ใช้ปัญญาทั้ง 3 ฐาน คือ ฐานหัว ฐานกาย และฐานใจ ซึ่งจะสามารถช่วยทำให้สมอง ร่างกาย และจิตใจมีความพร้อมในการทำงาน หรือการเรียนรู้มากขึ้น การทำกิจกรรมละลายพฤติกรรมบางประเภทช่วยทำให้คนออกจากความง่วง มีความ active มากขึ้นได้



เปลี่ยนบรรยากาศ ลดความตึงเครียด

กิจกรรม ice-breaking สามารถเป็นกิจกรรมที่ดีในการลดความเครียดของพนักงาน เพราะช่วยเปลี่ยนบรรยากาศ เพื่อที่จะให้สมองได้พักผ่อน ลดความเครียดระหว่างกัน ก่อนที่จะเริ่มต้นใหม่


สร้าง Empathy ระหว่างบุคลากร

กิจกรรม ice-breaking ที่ได้รับการออกแบบมาดีจะช่วยทำให้เกิดความเข้าใจระหว่างกัน (empathy) ในที่ทำงานได้ นอกจากนี้หัวหน้าหรือผู้จัดการยังสามารถใช้ช่วงเวลานี้สำรวจลักษณะนิสัยของแต่ละบุคคล ได้ได้จากการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างบุคคลได้ในระหว่างกิจกรรมละลายพฤติกรรม


เป้าหมายของ Ice-Breaking คืออะไร?

เป้าหมายหลักของกิจกรรม ice-breaking คือการเพิ่มพื้นที่ปลอดภัยให้กับกลุ่ม โดยที่การมีพื้นที่ปลอดภัยที่เพียงพอสามารถทำให้เกิดการเรียนรู้ร่วมกัน การทำงานร่วมกัน หรือการอยู่ด้วยกันได้โดยไม่มีความกดดันได้ จนนำไปสู่ความรู้สึกปลอดภัยเชิงจิตวิทยา (psychological safety) ซึ่งจะทำให้กลุ่มสามารถทำงานร่วมกันและบรรลุเป้าหมายร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพได้


ตามทฤษฎีลำดับขั้นความต้องการของมาสโลว์ การทำกิจกรรม ice-breaking สามารถช่วยทำให้แต่ละคนรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มได้ ซึ่งเป็นความต้องการขั้นพื้นฐานก่อนที่พวกเขาจะเกิดความต้องการในทำบางอย่างอย่างเต็มที่ หรือสำเร็จความเป็นเลิศในด้านใดด้านหนึ่ง


กิจกรรม Ice-Breaking สามารถทำให้เกิดการเรียนรู้ได้

แม้ว่าหัวใจของกิจกรรมละลายพฤติกรรมคือการเพิ่ม psychological safety ให้กับกลุ่มในปริมาณที่มากเพียงพอที่จะสามารถทำสิ่งต่างๆ ที่ต้องการร่วมกันได้ แต่กิจกรรม ice-breaking อาจสร้างมาเพื่อตอบสนองเป้าหมายอื่นๆ ได้เช่นกัน เช่น ลดความตึงเครียดในที่ทำงาน หรือทำให้เกิดการเรียนรู้ทักษะ soft skills ได้


ในการจัดกระบวนการเรียนรู้ หรือ transformative learning เราอาจได้ใช้กิจกรรมเหล่านี้เพื่อทำให้เกิดการเรียนรู้ในองค์กร ในที่นี้เราจะให้ความสำคัญกับกิจกรรมการละลายพฤติกรรม (ice-breaking) เพื่อที่จะทำให้แต่ละคนมีความพร้อมในการบรรลุเป้าหมายร่วมกัน สำหรับกลุ่มคนที่ไม่จำเป็นต้องรู้จักกันมาก่อน




ลักษณะของกิจกรรมละลายพฤติกรรม (Ice-breaking) ที่มีคุณภาพเป็นอย่างไร?

ปัญหาส่วนใหญ่ที่ทุกคนเคยพบหลังจากที่ต้องเลือกทำกิจกรรมละลายพฤติกรรม (ice-breaking) คือเราพบว่ามีกิจกรรมต่างๆ ให้เลือกเยอะมาก จนเราไม่สามารถเลือกได้เลยว่าควรจะทำกิจกรรมไหน กิจกรรมไหนเป็นกิจกรรมที่ดีสำหรับเรา


หลายคนเมื่อค้นหากิจกรรมละลายพฤติรรม จะคิดว่าควรเป็นกิจกรรมที่สนุกมากที่สุด จริงๆ แล้วกิจกรรม ice-breaking ที่ดีไม่จำเป็นต้องเป็นกิจกรรมที่สนุกสนานมากที่สุด สร้างเสียงหัวเราะได้มากที่สุด แต่ควรจะเป็นกิจกรรมที่เหมาะสมกับสถานการณ์และทำให้เราไปถึงเป้าหมายที่ต้องการได้มากที่สุด โดยกิจกรรม ice-breaking ที่ดีและเหมาะสมสามารถเลือกได้จากคุณลักษณะดังนี้


คนส่วนใหญ่สามารถทำกิจกรรมได้

กิจกรรมละลายพฤติกรรม (ice-breaking) ที่ดีจะต้องเป็นกิจกรรมที่ทุกคนสามารถเข้าร่วมได้ และยินดีที่จะทำ การคำนึงถึงกลุ่มคนที่จะต้องทำกิจกรรมเป็นสิ่งสำคัญอันดับแรกในการเลือกกิจกรรมละลายพฤติกรรม (ice-breaking) ที่ดี


ทุกคนรู้จักกันมากขึ้น

กิจกรรมละลายพฤติกรรมที่ดีจะช่วยทำให้แต่ละคนได้รู้จักกันมากขึ้น สำหรับคนที่ไม่เคยรู้จักกันมาก่อน สามารถรู้จักและสร้างความคุ้นเคยให้กันได้ นอกจากนั้นหากผู้เข้าร่วมรู้จักกันอยู่แล้ว กิจกรรมละลายพฤติกรรม (ice-breaking) ที่ดียังจะสามารถทำให้แต่ละคนรู้จักกันได้เพิ่มในมิติต่างๆ อีกด้วย


ลดความรู้สึกไม่ปลอดภัย

ความรู้สึกไม่ไว้วางใจเป็นสิ่งแรกที่ทำให้ทีมไม่มีประสิทธิภาพ หลายครั้งที่เราจะมาพบกันโดยไม่รู้จักกันมาก่อน กิจกรรม ice-breaking ที่ดีจะต้องสามารถลดความรู้สึกไม่ปลอดภัยนี้ได้ เพื่อที่จะให้แต่ละคนสามารถมีปฏิสัมพันธ์กันได้ง่ายขึ้น และบรรลุเป้าหมายร่วมกันได้ง่ายขึ้น


มีความพร้อมที่จะรู้เป้าหมายที่มีร่วมกัน

หลังจากที่จบกิจกรรมละลายพฤติกรรมที่ดีไป แต่ละคนควรจะมีความพร้อม พอจะรู้เป้าหมายอย่างคร่าว และยอมรับเป้าหมายที่กำลังจะทำร่วมกันเช่น ทำงานร่วมกัน หรือเรียนรู้ร่วมกัน


กิจกรรมละลายพฤติกรรมนั้นจะไม่เหมาะสม หากผู้เข้าร่วมกิจกรรมไม่พร้อมที่จะทำสิ่งถัดไป เช่นในบางกิจกรรมอาจทำให้ผู้เข้าร่วมรู้สึกเหนื่อยเกินไป รู้สึกสนุกจนไม่มีสมาธิ หรืออาจเป็นกิจกรรมสนุกสนานเพียงอย่างเดียวแต่ไม่ได้นำทางไปสู่การทำงานร่วมกันดีที่หรือเป้าหมายร่วมกันได้



เหมาะสมกับกลุ่มผู้เข้าร่วม

กิจกรรมละลายพฤติกรรมจะดีเป็นพิเศษ หากเหมาะสมกับความสนใจของกลุ่มผู้เข้าร่วม หรือเป็นไปด้วยดีในกลุ่มผู้เข้าร่วม และจะเป็นกิจกรรมที่สร้างความประทับใจให้กับกลุ่มผู้เข้าร่วมได้ด้วย ซึ่งแต่ละช่วงอายุ แต่ละกลุ่มมักจะมีกิจกรรมที่ชอบที่แตกต่างกัน


ตัวอย่างเช่นกิจกรรมสำหรับกลุ่มผู้เข้าร่วมที่เป็นเด็ก อาจต้องใช้การเคลื่อนไหว การแสดงออกที่มากกว่าปกติ หรือกลุ่มผู้เข้าร่วมที่อยู่ในช่วงวัยกลางคนอาจเหมาะสมกับกิจกรรมที่ได้ฝึกฝนทักษะการฟังอย่างลึกซึ้ง (deep listening) มากกว่า


มีความเหมาะสมในเรื่องเวลา

สิ่งสุดท้ายที่สำคัญคือเรื่องเวลา เพราะยิ่งเราใช้เวลาไปกับกิจกรรม ice-breaking มากเท่าไหร เราจะยิ่งสูญเสียเวลาในการบรรลุเป้าหมายร่วมกันมากยิ่งขึ้นเท่านั้น การเลือกดูความเหมาะสมเรื่องเวลาเป็นสิ่งที่ขึ้นอยู่กับบริบทและผลลัพธ์หลังกิจกรรมว่าคุณต้องการอะไรหลังจากจบกิจกรรม ice-breaking


หากเป็นไปได้กิจกรรมละลายพฤติกรรมควรจะใช้เวลาไม่เกิน 10-30% ของระยะเวลาที่มีทั้งหมด แต่ในกรณีที่คุณต้องการลัพธ์สูงจากกิจกรรม กิจกรรมนี้อาจใช้เวลาได้ถึง 40%-60% เพื่อที่จะให้กลุ่มคนได้บรรลุบางอย่างตามที่ต้องการได้


ตัวอย่างเช่น กิจกรรมศิลปะบำบัดเป็นกิจกรรมที่ต้องการผลลัพธ์สูงจากการทำกิจกรรม ice-breaking กิจกรรมจะออกแบบมาเพื่อให้ผู้เข้าร่วมได้ทั้งผ่อนคลาย และมีความคุ้นเคยกันมากขึ้น จนสามารถระบายปัญหาต่างๆ ออกมาได้ ซึ่งกว่า 50% ของกิจกรรมจะเป็นกิจกรรมที่ออกแบบมาเพื่อสร้างบรรยากาศที่เอื้ออำนวยต่อการบรรลุเป้าหมายร่วมกัน (นั่นคือการเยียวยาตัวเอง) โดยระหว่างที่ละลายพฤติกรรม ผู้เข้าร่วมก็ได้ปลดปล่อยไปโดยไม่รู้ตัว


ลักษณะของกิจกรรมละลายพฤติกรรม (Ice-breaking) ที่ไม่ดีเป็นอย่างไร?

ผู้เข้าร่วมรู้สึกว่าเขากำลังทำอะไรไม่เข้าท่า

หลายกิจกรรมอาจเป็นกิจกรรมที่ทำให้พวกเขารู้สึกว่าสิ่งที่เขาทำไปดูไม่เข้าท่า ดูโง่ หรือไม่เหมาะสมกับสถานการณ์ สิ่งเหล่านี้ทำให้เขาไม่อยากมีส่วนร่วมกับกิจกรรม และยังสร้างความไม่พอใจให้กับเขาอีกด้วย


ทำให้ผู้เข้าร่วมไม่พร้อมทำตามเป้าหมาย

เมื่อผู้เข้าร่วมทำกิจกรรมไปแล้ว พวกเขาควรจะรู้สึกพร้อมที่จะรับรู้เป้าหมายมากขึ้น พร้อมทำสิ่งต่างๆ มากขึ้น แต่ถ้าเขารู้สึกมีความพร้อมลดลงไม่ว่าจะเป็นความรู้สึกเหนื่อย สนุกสนานเกินไป หรือโมโหที่เกิดความผิดพลาด นั่นจะเป็นกิจกรรมละลายพฤติกรรมที่ไม่ดี


ทำให้เกิดการบูลลี่

กิจกรรมละลายพฤติกรรมที่แย่จะนำไปสู่การบูลลี่ หรือการเยียดกันและกันได้ เช่นเกิดการเหยียดเพศสภาพ หรือเชื้อชาติ นอกจากนั้นบางครั้งตัวกิจกรรมอาจไม่ได้นำไปสู่การบูลลี่โดยตรง แต่อาจเกิดจากผู้นำกิจกรรมที่ทำให้เกิดการบูลลี่ แม้ว่าอาจมีบางคนที่รู้สึกสนุกกับกิจกรรมมาก แต่ก็ไม่ควรทำให้ใครรู้สึกว่าเขาโดนบูลลี่เป็นอย่างยิ่ง


ทำให้กำแพงของผู้เข้าร่วมสูงขึ้น

กิจกรรมบางอย่างที่ทำให้กำแพงข้อผู้เข้าร่วมสูงขึ้น หรือทำให้คนบางคนรู้สึกโดดเดี่ยวมากขึ้นเป็นกิจกรรมที่ไม่ดี กิจกรรม ice-breaking ควรจะทำให้ทุกคนลดกำแพงลงได้ แทนที่จะเลือกลดกำแพงสำหรับบางคนและเพิ่มกำแพงสำหรับคนบางคน


วิธีการพัฒนากิจกรรม Ice-breaking ให้มีคุณภาพ

กิจกรรมละลายพฤติกรรมหรือ ice-breaking จำนวนมากสามารถนำมาปรับเปลี่ยนเล็กน้อย เพื่อที่จะทำให้มันเข้ากับบริบทของกลุ่มคนที่เราต้องเผชิญมากขึ้นได้ โดยวิธีการพัฒนากิจกรรมสามารถทำได้โดย


ศึกษากลุ่มผู้เข้าร่วม

การรู้ข้อมูลของผู้เข้าร่วมกิจกรรมก่อนเป็นสิ่งที่จำเป็นในการพัฒนากิจกรรม ice-breaking ที่มีคุณภาพ โดยตัวอย่างของข้อมูลที่ควรรู้ก่อนเช่น จำนวน, เพศ, อายุ, อาชีพ เป็นต้น การศึกษาข้อมูลผู้เข้าร่วมจะช่วยทำให้เราสามารถพัฒนากิจกรรมให้เหมาะสมกับแต่ละกลุ่มได้มากขึ้น



รู้เป้าหมายที่ต้องการคืออะไร

การรู้เป้าหมายที่ต้องการในวันนั้น จะช่วยทำให้เราออกแบบกิจกรรมละลายพฤติกรรมออกมาได้เหมาะสมมากขึ้น เมื่อเรารู้เป้าหมายที่ต้องการในเวลานั้น เราจะรู้เป้าหมายที่ควรจะได้รับจากกิจกรรม ice-breaking ด้วย


ตัวอย่างของเป้าหมายที่ต้องการเช่น

  • การเรียนรู้ร่วมกันในเวิร์คช็อป อาจมีเป้าหมายของกิจกรรม ice-breaking นั่นคือการละลายพฤติกรรมเพื่อที่จะให้ทุกคนสามารถมีการเรียนรู้ที่ดีร่วมกันได้ ไม่มากหรือไม่น้อยไปกว่านั้น

  • การทำงานร่วมกันในระยะยาว เป้าหมายของกิจกรรม ice-breaking อาจเป็นการทำกิจกรรมเพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน ทำให้แต่ละคนลดช่องว่างระหว่างกัน เพื่อนำไปสู่การรู้จักกันได้มากขึ้น

  • รู้จักกันเพื่อระดมความคิด อาจมีเป้าหมายของกิจกรรม ice-breaking เพื่อให้ทุกคนสามารถพูดคุยกันได้ โต้เถียงกันได้ หรือเป็นกิจกรรมสนุกสนานที่กระตุ้นการสร้างความคิด ไอเดียที่แปลกๆ นอกกรอบ เป็นต้น


ทดลองเพิ่ม ลดระยะเวลาในการทำกิจกรรม

บางกิจกรรมเป็นกิจกรรมที่ต้องใช้ระยะเวลานานถึงจะได้ประสิทธิภาพ บางกิจกรรมอาจใช้เวลาไม่มาก แต่ละกิจกรรมละลายพฤติกรรมมีคุณลักษณะที่แตกต่างกัน การทดลองเพิ่มหรือลดระยะเวลาในการทำกิจกรรมจะช่วยทำให้เราเห็นภาพในมุมกว้างมากขึ้นว่า กิจกรรมไหนที่จะมีคุณภาพมากขึ้นใช้เวลามากขึ้นหรือน้อยลง


ใช้กระบวนการ After Action Review (AAR) หลังการทำกิจกรรม

กระบวนการ After Action Review (AAR) คือ กระบวนการที่ช่วยทำให้เราสามารถพัฒนาการทำงานให้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยหลังจากที่เราได้ทำกิจกรรม ice-breaking เหล่านั้นในสถานการณ์จริงแล้ว การขอความคิดเห็นที่ช่วยทำให้เราเข้าใจกิจกรรมมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะนำไปสู่การปรับปรุงและพัฒนากิจกรรมละลายพฤติกรรมที่ดีขึ้นได้



กิจกรรมละลายพฤติกรรม (ice-breaking) ที่ดีสามารถนำไปสู่การมีส่วนร่วมกันในองค์กรได้ และยังสร้างความรู้สึกปลอดภัยทางใจในที่ทำงาน ซึ่งทำให้องค์กรของคุณมีประสิทธิภาพการทำงานที่ดีขึ้นได้อีกด้วย หากเริ่มทำอะไรร่วมกันใหม่ๆ หรือมีสมาชิกใหม่ในองค์กร คุณควรให้ความสำคัญกับการละลายพฤติกรรมด้วย


หากองค์กรของคุณกำลังหาแนวทางในการละลายพฤติกรรมบุคลากร คุณสามารถติดต่อเราเพื่อจัด Value-Based Team building ให้กับองค์กรของคุณได้ ซึ่ง Value-Based Team building จะเป็นการจัดกระบวนการที่ผสมผสานช่วยให้บุคลากรเข้าใจกันมากขึ้น เปิดใจพูดคุยกัน และทำงานร่วมกันได้ดีขึ้น


Related Topics


แหล่งอ้างอิงและข้อมูลเพิ่มเติม

 

Urbinner เป็นพื้นที่ให้ทุกคนได้เติบโตจากการเรียนรู้ในทุกช่วงเวลาของชีวิต โดยทีมนักจัดกระบวนการจะพาคุณไปเรียนรู้ทักษะที่นำไปสู่การเข้าใจตัวเอง สร้างความสัมพันธ์ที่ดี และการตระหนักรู้ร่วมกัน เพื่อให้ทุกคนสามารถทำในสิ่งที่มีคุณค่าและความหมายสำหรับตัวเอง องค์กร และชุมชนของเราได้

Facebook group Banner.jpg
bottom of page