top of page
  • รูปภาพนักเขียนUrbinner

การฟังอย่างลึกซึ้ง (Deep Listening)

อัปเดตเมื่อ 10 มี.ค. 2565

Highlights

  • การฟังอย่างลึกซึ้งเป็นการฟังที่ทำให้เราสามารถช่วยคนที่อยู่ข้างหน้าเราที่กำลังมีความทุกข์ หรือมีปัญหา โดยสามารถทำได้ง่ายที่สุดและไม่ต้องใช้อุปกรณ์อะไร

  • ในกระบวนการฟังอย่างลึกซึ้ง เราจะไม่พยายามเข้าไปควบคุมความคิดและอารมณ์ของตนเอง เมื่อเราได้ยินสิ่งที่เราคิดว่าไม่ถูกต้อง หรือเชื่อว่าไม่ถูกต้อง เรายังคงเท่าทันว่าสิ่งเหล่านี้เป็นการตัดสินและกรอบความเชื่อของเรา เพียงแค่เท่าทันเสียงที่เกิดขึ้นภายใน เท่าทันการแสดงออกของเราในลำดับถัดมา และปล่อยความคิดหรือการตัดสินเหล่านั้นไป และอยู่กับการฟังคนที่อยู่ข้างหน้า

 

สังคมและวัฒนธรรมของเรามักให้คุณค่ากับคนที่มีความสามารถในการพูด ตั้งแต่ในโรงเรียนที่ออกแบบการสอนให้นักเรียนได้เป็นผู้พูดที่ดี หรือเมื่อเริ่มโตขึ้นความเป็นผู้นำก็มักจะให้คุณค่ากับผู้ที่พูดเก่ง มีความสามารถในการอภิปราย โน้มน้าวผู้คน จนทำให้โลกของเราเต็มไปด้วยคำสอน การโน้มน้าวจิตใจ และหลายครั้งที่มักจะทำให้คนเราคิดถึงแต่สิ่งที่ตนเองกำลังจะพูดมากกว่าการฟังสิ่งที่อยู่ข้างหน้า


การฟังอย่างลึกซึ้งเป็นสิ่งที่สำคัญในยุคที่เต็มไปด้วยการสื่อสารออนไลน์มาก ไม่ว่าจะมีความสำคัญทางด้านการมีความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง ครอบครัว หรือความสำคัญในการสื่อสาร ทำงานร่วมกัน ภาวะความเป็นผู้นำ จนถึงความสำคัญเชิงจิตวิญญาณ


หากคุณต้องการสร้างทักษะการฟังอย่างอย่างลึกซึ้งให้กับองค์กร คุณสามารดูได้เพิ่มเติมที่หลักสูตรการฟังอย่างลึกซึ้งสำหรับองค์กร เพื่อให้บุคลากรของคุณได้เรียนรู้เกี่ยวกับการฟังอย่างลึกซึ้งในเชิงปฏิบัติ



การฟังอย่างลึกซึ้งเป็นการฟังที่ทำให้เราสามารถช่วยคนที่อยู่ข้างหน้าเราที่กำลังมีความทุกข์ หรือมีปัญหา โดยสามารถทำได้ง่ายที่สุดและไม่ต้องใช้อุปกรณ์อะไร และบางครั้งความทุกข์หรือปัญหาของคนที่อยู่ข้างหน้าอาจไม่ต้องการการแก้ไขหรือคำแนะนำใดๆ เพียงแค่ต้องการรับฟังเท่านั้น


เนื้อหาในบทความ


การฟังอย่างลึกซึ้งคืออะไร?

การฟังอย่างลึกซึ้ง (Deep Listening) คือการฟังสิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน โดยห้อยแขวนคำตัดสินหรือเสียงที่เกิดขึ้นภายในของตนเองเอาไว้ เป็นการฟังเพื่อคนที่อยู่ข้างหน้า เป็นการฟังเพื่อได้รับรู้ความเข้าใจและข้อมูล และเท่าทันกรอบความคิด ความเชื่อของตนเอง บางครั้งการฟังอย่างลึกซึ้งไม่ได้หมายถึงการฟังเนื้อหาใจความของคำพูด แต่อาจรวมไปถึงเจตนาของผู้พูด ความรู้สึกของผู้พูดขณะที่กำลังพูด โดยที่เจตนาและความรู้สึกของผู้พูดอาจไม่ได้เป็นไปในทิศทางเดียวกันกับสิ่งที่เขาพูดออกมาก็ได้เช่นกัน


นอกจากนั้นไม่จำเป็นที่เราจะต้องเข้าใจเรื่องที่มีเนื้อหา ใจความสำคัญจากผู้พูดในทุกแง่มุม เพราะบางครั้งผู้พูดเองก็อาจไม่รู้แน่ชัดว่าต้องการสื่อสารอะไร แต่การฟังอย่างลึกซึ้งจะช่วยสร้างพื้นที่ปลอดภัย พื้นที่ที่เอื้อเฟื้อต่อการเปิดเผยและเข้าใจ ทำให้เกิดความสัมพันธ์ที่ดี และการเรียนรู้ได้


ในกระบวนการฟังอย่างลึกซึ้ง เราจะไม่พยายามเข้าไปควบคุมความคิดและอารมณ์ของตนเอง เมื่อเราได้ยินสิ่งที่เราคิดว่าไม่ถูกต้อง หรือเชื่อว่าไม่ถูกต้อง เรายังคงเท่าทันว่าสิ่งเหล่านี้เป็นการตัดสินและกรอบความเชื่อของเรา เพียงแค่เท่าทันเสียงที่เกิดขึ้นภายใน เท่าทันการแสดงออกของเราในลำดับถัดมา และปล่อยความคิดหรือการตัดสินเหล่านั้นไป และอยู่กับการฟังคนที่อยู่ข้างหน้า



การฟังอย่างลึกแตกต่างกับการฟังทั่วๆ ไปอย่างไร?

โดยมากขณะที่เราฟังสิ่งต่างๆ เรามักจะมีจุดประสงค์ในการฟัง หรือบางครั้งเมื่อเราไม่อยากฟังเราอาจไม่ได้ตั้งใจฟังใจเท่าที่ควร แต่กลับมีธรรมชาติและระบบอัตโนมัติของตนเองที่ทำให้เกิดความสัมพันธ์ที่ไม่ดี หรือการรับรู้ที่ผิดพลาดของแต่ละคนได้


การฟังอย่างลึกซึ้งเป็นทักษะที่ถูกใช้ในหลากหลายมิติตั้งแต่เรื่องความสัมพันธ์, การเยียวยา, การบำบัด, การเรียนรู้, จิตวิญญาณ, การเจริญสติ, ธุรกิจ, หรือชุมชนและความขัดแย้ง แต่สิ่งเหล่านี้มีจุดร่วมกันคือการฟังสิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน และดำรงอยู่เต็มที่ต่อสิ่งที่เกิดขึ้น



วิธีฝึกปฏิบัติการฟังอย่างลึกซึ้ง

วิธีฝึกปฏิบัติการฟังอย่างลึกซึ้ง (Deep Listening)
วิธีฝึกปฏิบัติการฟังอย่างลึกซึ้ง (Deep Listening)

การฟังอย่างลึกซึ้งไม่ได้มีรูปแบบหรือกฏกติกาที่ต้องให้เราทำตาม เพียงแต่เป็นคำแนะนำเพื่อให้เราได้ฝึกปฏิบัติเพื่อไปรับรู้ประสบการณ์ตรงของการฟังอย่างลึกซึ้งได้ง่ายขึ้น นอกจากนี้สิ่งสำคัญของการฟังอย่างลึกซึ้งคือการฝึกปฏิบัติ


เตรียมพร้อมร่างกาย

เตรียมพร้อมร่างกายเพื่อการฟังอย่างลึกซึ้ง (Deep Listening)
เตรียมพร้อมร่างกายเพื่อการฟังอย่างลึกซึ้ง (Deep Listening)

เพื่อที่จะฝึกปฏิบัติการฟังอย่างลึกซึ้ง ในช่วงเริ่มต้นควรเป็นช่วงเวลาที่เราได้มีจิตใจที่เปิดกว้าง มีความพร้อม และได้รับการพักผ่อนอย่างเพียงพอ เนื่องจากการฟังอย่างลึกซึ้งเองนั้นอาศัยความใส่ใจ และพลังกายในการรับฟังเช่นกัน หากร่างกายไม่พร้อมอาจทำให้เหนื่อยล้าทางใจ หงุดหงิด หรือนำพาความใส่ใจไปที่ความเจ็บป่วยของตนเองแทน

  • ควรพักผ่อนให้เพียงพอ การพักผ่อนที่เหมาะสมจะช่วยทำให้เรามีสมาธิได้ง่ายมากขึ้น และทำให้เราเข้าใจสิ่งที่ผู้พูดได้ดีขึ้น

  • ไม่ง่วงนอน หรือเหนื่อยล้าจากเรื่องอื่นๆ มาก่อน เพราะหากคุณรู้สึกง่วงนอนหรือเหนื่อยล้า คุณอาจมีการโต้ตอบไปในท่าทีที่ทำให้ผู้พูดรู้สึกไม่อยากพูดต่อ ไม่อยากเล่าได้

  • ไม่รู้สึกหิวเกินไปหรืออิ่มเกินไป หรืออยู่ในสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสมเช่น ร้อนมากไป หนาวมากไป สิ่งเหล่านี้จะทำให้คุณสนใจกับสภาพแวดล้อมแทน


เปิดการรับรู้ของตนเอง

เปิดการรับรู้ของตัวเองเพื่อฟังอย่างลึกซึ้ง (Deep Listening)
เปิดการรับรู้ของตัวเองเพื่อฟังอย่างลึกซึ้ง (Deep Listening)

เปิดการรับรู้ (awareness) ของตนเองคือการเปิดรับสิ่งใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นจากประสาทสัมผัสของเรา รวมทั้งความคิดกับความรู้สึกด้วยเช่นกัน การเปิดรับการรับรู้สิ่งเหล่านี้จะช่วยทำให้เราสังเกตสิ่งที่อาจไม่ได้ใส่ใจ หรือไม่ให้ความสำคัญมากในชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะเมื่ออยู่กับคนที่เราต้องใช้เวลาร่วมกันเป็นประจำ


เพิ่มความสนใจ อยากรู้อยากเห็น

เพิ่มความสนใจ อยากรู้อยากเห็นเพื่อฟังอย่างลึกซึ้ง (Deep Listening)
เพิ่มความสนใจ อยากรู้อยากเห็นเพื่อฟังอย่างลึกซึ้ง (Deep Listening)

ความอยากรู้อยากเห็นเป็นสิ่งง่ายๆ ที่ช่วยทำให้เราก้าวข้ามกำแพงบางอย่างได้เช่นอคติ โดยความอยากรู้อยากเห็นที่มักจะเป็นประโยชน์อาจเกิดขึ้นตอนที่เกิดความขุ่นเคืองใจ ความไม่เห็นด้วย ในเรื่องที่พูดไม่ตรงกับสิ่งที่เราคิด หรือเชื่อ โดยมากในสถานการณ์นั้นเรามักจะคิดว่าสิ่งเหล่านั้นไม่ใช่ความจริง และความจริงคือสิ่งที่เรากำลังคิด และสิ่งที่เรากำลังเชื่อ เราสามารถถามเพิ่มเติม เพื่อให้ผู้พูดได้อธิบายเพิ่มเติม และทำความเข้าใจว่า อะไรที่ทำให้เขามีความจริงที่แตกต่างกับเราได้


รับรู้สิ่งที่เกิดขึ้นตรงหน้า

รับรู้สิ่งที่เกิดขึ้นตรงหน้าเพื่อฟังอย่างลึกซึ้ง (Deep Listening)
รับรู้สิ่งที่เกิดขึ้นตรงหน้าเพื่อฟังอย่างลึกซึ้ง (Deep Listening)

การรับรู้สิ่งที่อยู่ตรงหน้า สามารถทำได้โดยการฟังสิ่งอื่นนอกจากคำพูดที่เขาพูด ซึ่งธรรมชาติของบางคนอาจพูดในสิ่งที่ไม่ตรงกับใจของตนเอง เมื่อเราฝึกสังเกตการรับรู้สิ่งที่เกิดขึ้นตรงหน้ามากขึ้น เราอาจเห็นความเป็นไปได้ใหม่ระหว่างการฟัง และเข้าใจคนที่อยู่ข้างหน้าเราได้มากขึ้น โดยเราสามารถรับรู้สิ่งต่างๆ ในเบื้องต้นได้ดังนี้

  • สายตา สังเกตสายตาของผู้พูดว่าเป็นอย่างไร ช่วงเวลาไหนที่มองขึ้นหรือลง

  • ท่าทางหรือภาษากาย เช่นภาษามือหรือ non-verbal communication อื่นๆ ที่เกิดขึ้นระหว่างการพูดคุย บางคนอาจพูดด้วยการกัดเล็บ หรือขยับมือ เขย่าขาระหว่างการพูดคุยไปด้วย

  • น้ำเสียง น้ำเสียงที่พูดอาจสื่อได้ว่าเป็นอย่างไร ขณะพูดพูดด้วยน้ำเสียงหนักแน่น โมโห หรือประชดประชัน บางครั้งอาจน้ำเสียงและเนื้อหาที่พูดอาจไม่ได้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน

  • เนื้อหาที่พูด พูดเกี่ยวกับเรื่องอะไร ชุดคำที่ใช้สื่อความหมายอย่างไร บางครั้งชุดคำที่ใช้อาจมีความหมายไม่ตรงกับความเข้าใจของเรา หรือเนื้อหาที่พูดอาจมีลักษณะการพูดซ้ำๆ วนเวียนอยู่กับเรื่องบางเรื่อง ความกังวลบางอย่าง หรือสื่อความหมายบางอย่างมากกว่าสิ่งที่ได้พูดออกไป

  • การแสดงออกของใบหน้า การยิ้ม การขมวดคิ้ว การมองไปข้างๆ ก้มหน้า เป็นการแสดงออกที่ช่วยทำให้เราได้เข้าใจมากขึ้น และเข้าใจสิ่งที่คนที่อยู่ข้างหน้าเราต้องการพูดมากขึ้น


แม้ว่าเราจะได้เปิดการรับรู้สิ่งที่อยู่ตรงหน้า แต่นั่นไม่ได้ความหมายความว่าสิ่งที่เขาแสดงออกจะเป็นจริงตามที่เราคิด ตัวอย่างเช่นการแสดงออกของใบหน้าด้วยการก้มหน้าอาจเกิดจากความเศร้า ความสุข ความไม่พอใจ ความอาย หรือสิ่งต่างๆ ได้หลายสิ่ง ดังนั้นในการฝึกฟังอย่างลึกซึ้งเราเพียงแค่จะรับรู้ว่าคนที่พูดกำลังก้มหน้าอยู่ โดยไม่ตัดสินว่าเขามีความรู้สึกแบบที่เราคิดว่าเป็นจริง หรือใช้ทฤษฎีมาอธิบายการเคลื่อนไหวของลูกตา ใบหน้า หรือท่าทางภาษากาย


เท่าทันเสียงตัดสินของตนเอง

เท่าทันเสียงตัดสิืนของตนเองเพื่อฟังอย่างลึกซึ้ง (Deep Listening)
เท่าทันเสียงตัดสิืนของตนเองเพื่อฟังอย่างลึกซึ้ง (Deep Listening)

ขณะที่มีความคิดใดๆ เกิดขึ้น ให้เรารับรู้และเท่าทันความคิด เสียงที่เกิดขึ้นภายใน โดยไม่ไปตัดสินทั้งผู้พูดว่าเป็นความคิดที่ถูกหรือผิด และโดยมากจะเกิดกับเราซึ่งเชื่อว่าสิ่งที่เรากำลังคิดเป็นความจริง สิ่งที่คุณพูดไม่ใช่ความจริง แต่สิ่งที่ยากคือการเท่าทันความเชื่อของตนเองว่าสิ่งที่เราเห็นว่าเป็นความจริง แต่อาจไม่ใช่ความจริงก็ได้ อาจเป็นเพียงความเชื่อตามการรับรู้ของเราก็ได้


ดังนั้นระหว่างการรับฟังอย่างลึกซึ้ง เราจะฝึกปฏิบัติเพื่อเท่าทันเสียงตัดสินต่างๆ ของตนเอง ความแบ่งแยกเป็นขั้วเช่น ถูกผิด ดีเลว ควรไม่ควร จริงไม่จริง ด้วยเช่นกัน


ปล่อยความคิดหรือเสียงที่เกิดขึ้นภายใน

ปล่อยความคิดหรือเสียงที่เกิดขึ้นภายในเพื่อฟังอย่างลึกซึ้ง (Deep Listening)
ปล่อยความคิดหรือเสียงที่เกิดขึ้นภายในเพื่อฟังอย่างลึกซึ้ง (Deep Listening)

ปล่อยความคิดหรือเสียงที่เกิดขึ้นภายใน คือการกลับมาอยู่กับปัจจุบันขณะ เพราะเป็นธรรมดาที่เรามักจะเผลอไปคิดถึงเรื่องต่างๆ ตามสิ่งที่ได้ฟัง อารมณ์หรือสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้น เมื่อเราฟังสิ่งเหล่านั้นแล้ว เราเผลอไปคิดตามให้เรากลับมาอยู่ที่การตั้งใจฟังอีกครั้งหนึ่ง โดยวางความคิดที่เกิดขึ้นไว้ข้างๆ ก่อน


บางครั้งการปล่อยความคิดหรือเสียงที่เกิดขึ้นภายในอาจไม่ได้เกิดจากการฟังคนที่อยู่ข้างหน้าพูดเพียงอย่างเดียว แต่เป็นการปล่อยวางความคิดที่เกิดจากการพูดคุยกันภายในระหว่างตัวเราด้วยเช่นกัน


ไม่พูดแทรกและไม่พูดต่อทันที

ไม่พูดแทรกและไม่พูดต่อทันทีเพื่อฟังอย่างลึกซึ้ง (Deep Listening)
ไม่พูดแทรกและไม่พูดต่อทันทีเพื่อฟังอย่างลึกซึ้ง (Deep Listening)

การฝึกไม่พูดแทรกและไม่พูดต่อทันทีเป็นการฝึกฝนที่ง่ายที่สุด และรู้ตัวได้เร็ว เมื่อเรากำลังจะพูดแทรก และรู้ทันให้หยุดและกลับไปฟังต่อ บางครั้งบทสนทนาอาจทำให้เราอยากพูดออกไปทันทีทันใด โดยอาจมีความคิดหลอกให้เราเชื่อว่าหากไม่พูดออกไปตอนนี้ไม่ได้ ให้เราเท่าทันความอยากพูดของตนเอง ไม่พูดแทรก


นอกจากนี้ยังแนะนำว่าไม่ควรจะพูดต่อทันทีที่ผู้พูดพูดจบ เพราะหลายครั้งการหยุดพูดอาจเป็นเพียงการต้องการเวลาเพื่อรวบรวมความคิดในการพูดต่อ โดยหากเรามีสิ่งที่ต้องการพูดบ้างอาจลองนับ 1-10 ในใจช้าๆ ก่อนที่จะพูดสิ่งที่เราอยากสื่อสารหรือคำถามที่เราอยากถามออกไป


เท่าทันความรู้สึกที่กิดขึ้นของตนเอง

เท่าทันความรู้สึกที่เกิดขึ้นของตนเองเพื่อไม่พูดแทรกและไม่พูดต่อทันทีเพื่อฟังอย่างลึกซึ้ง (Deep Listening)
เท่าทันความรู้สึกที่เกิดขึ้นของตนเองเพื่อไม่พูดแทรกและไม่พูดต่อทันทีเพื่อฟังอย่างลึกซึ้ง (Deep Listening)

สิ่งสำคัญอีกหนึ่งสิ่งคือการเท่าทันความรู้สึกของตนเอง โดยเฉพาะการรับฟังเพื่อเยียวยา หรือการฟังเพื่ดบรรเทาความทุกข์ของคนที่อยู่ข้างหน้า อาจมีเรื่องราวที่ทำให้เราเกิดความสั่นสะเทือนภายใน ให้เราเท่าทันความรู้สึกเหล่านั้น และค่อยๆ ตระหนักรู้ อารมณ์ที่เกิดขึ้นภายใน


การฟังอย่างลึกซึ้งไม่ได้หมายความว่าเราจะต้องรู้สึกทุกข์ร่วมไปกับคนที่อยู่ข้างหน้าจนเรารับไม่ไหว เพียงแต่เราสามารถเข้าใจและเลือกที่จะดูแลตัวเองไม่ให้จมไปกับความคิดหรือความรู้สึกด้านลบมากเกินไป นอกจากนั้นหากเราฟังต่อไม่ไหว หากการฟังสิ่งเหล่านั้นเป็นอันตรายต่อตัวเราเอง หรือเราไม่ได้อยู่ในสภาวะที่จะสามารถฟังเรื่องบางเรื่องได้เช่นขณะที่เรามีภาวะซึมเศร้า เราควรจะดูแลตัวเองเพื่อดูแลคนที่อยู่ข้างหน้าได้ดีขึ้นด้วยเช่นกัน


ประโยชน์ของการฟังอย่างลึกซึ้งในองค์กร

ทักษะการฟังอย่างลึกซึ้งช่วยทำให้บุคลากรที่แตกต่างกันสามารถเข้าใจกันได้มากขึ้น และเอื้ออำนวยบรรยากาศของการทำงานร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพจากการฟังได้ การส่งเสริมทักษะการฟังอย่างลึกซึ้งให้กับบุคลากรจำเป็นที่จะต้องพิจารณาถึงปัจจัยต่างๆ ภายในองค์กรก่อนเช่น

  • ความสัมพันธ์ระหว่างบุคลากร การฟังอย่างลึกซึ้งสามารถเริ่มฝึกปฏิบัติได้ดีในระยะเวลาที่ไม่มีความขันแย้งอย่างรุนแรงภายในองค์กร

  • บุคลากรที่เข้าร่วม บุคลากรที่เข้าร่วมและสามารถฝึกปฏิบัติได้อย่างมีประสิทธิภาพควรจะมีจำนวน 20-50 คน

  • การทำงานร่วมกัน ไม่จำเป็นที่จะต้องเป็นบุคลากรที่รู้จักกันมาก่อน บุคลากรที่ฝึกฝนทักษะการฟังอย่างลึกซึ้งอาจเคยรู้จักกัน ทำงานอยู่ในทีมเดียวกันมาก่อนหรือไม่ก็ได้

ประโยชน์ที่สำคัญที่สุดในการฟังอย่างลึกซึ้งภายในองค์กรคือการเปลี่ยนแปลงคุณภาพชีวิตของบุคลากร เพราะบุคลากรจะสามารถใช้ทักษะนี้ไปฟังคนในครอบครัวของตัวเองและเพื่อนของเขาได้ ทำให้คุณภาพชีวิตของบุคลากรในด้านมิติส่วนตัวดีขึ้น


การฟังอย่างลึกซึ้งเป็นทักษะที่ช่วยให้เกิดความสัมพันธ์ที่ดีในองค์กรและจำเป็นในการสร้างความร่วมมือระหว่างกัน ซึ่งการให้บุคลากรได้มีประสบการณ์ตรงกับการฟังอย่างลึกซึงอย่างต่อเนื่องจะช่วยพัฒนาทักษะนี้และทำให้สามารถนำไปใช้ได้จริง โดยในหลักสูตรอบรมการฟังอย่างลึกซึ้งสำหรับองค์กรจะมีช่วงเวลาที่ให้บุคลากรได้ฝึกฝนการฟังอย่างลึกซึ้งไปพร้อมๆ กับการเรียนรู้ทฤษฎี



Related Topics


#ฟังอย่างลึกซึ้ง #DeepListening

 

Urbinner เป็นพื้นที่ให้ทุกคนได้เติบโตจากการเรียนรู้ในทุกช่วงเวลาของชีวิต โดยทีมนักจัดกระบวนการจะพาคุณไปเรียนรู้ทักษะที่นำไปสู่การเข้าใจตัวเอง สร้างความสัมพันธ์ที่ดี และการตระหนักรู้้ร่วมกัน เพื่อให้ทุกคนสามารถทำในสิ่งที่มีคุณค่าและความหมายสำหรับตัวเอง องค์กร และชุมชนของเราได้

Facebook group Banner.jpg
bottom of page