top of page
  • รูปภาพนักเขียนUrbinner

Transformative Learning รู้จักกับการเรียนรู้ที่เปลี่ยนแปลงโลกภายในของผู้เรียนได้

อัปเดตเมื่อ 16 ต.ค. 2564

Highlights

  • Transformative learning เป็นการเรียนรู้ที่นำไปสู่การสร้างความเปลี่ยนแปลงในทางที่เรามองตัวเองและทางที่เรามองโลกใบนี้ โดยอาจเกิดจากการเรียนรู้ที่สามารถเปลี่ยนแปลงกรอบของปัญหาหรือสมมุติฐานและผลลัพธ์แบบเดิมๆ

  • มี facilitator หรือกระบวนกร ในการดำเนินการกระตุ้นการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ และความเปลี่ยนแปลงโดยมีผู้เรียนเป็นศูนย์กลางเพื่อให้เกิดการเรียนรู้ที่ทุกคนเป็นเจ้าขององค์ความรู้ใหม่ๆ

  • มีองค์ประกอบหลากหลายในกระบวนการเช่น การสะท้อนตัวเอง การรับฟังอย่างลึกซึ้ง ปัญญาสามฐาน เป็นต้น

  • ถูกใช้อย่างกว้างขวางเช่น สร้างความเปลี่ยนแปลงในวัฒนธรรมองค์กร การเปลี่ยนแปลงทางสิ่งแวดล้อม การเรียนรู้ เป็นต้น

 

กี่ครั้งแล้วที่คุณเสียเวลานั่งเรียนหรือเข้ารับการอบรมอะไรบางอย่าง แต่ก็พบว่าไม่นานหลังจากที่ห้องเรียนจบลง คุณและเพื่อนๆกลับลืมสิ่งที่ไปอบรมมาอย่างรวดเร็ว เราอาจพบบ่อยๆ ในการเรียนในห้องเรียนแบบเก่า เพราะการเรียนรู้ในแบบเก่านั้นมักจะมุ่งเน้นความสำคัญไปที่ตัวผู้พูด วิทยากร หรืออาจารย์ แต่การเรียนรู้เหล่านี้ไม่สามารถเข้าถึงตัวผู้เรียนได้


กระบวนการเรียนรู้ใน Transformative learning มีความแตกต่างกันออกไปเพราะอาศัยองค์ความรู้ในด้านต่างๆ มาบูรณาการกันเพื่อที่จะทำให้เกิดการเรียนรู้ หรือการเปลี่ยนแปลง และนำพาให้เกิดการเรียนรู้ร่วมกัน


บทบาทของวิทยากรหรือผู้ให้ความรู้จะเปลี่ยนแปลงเป็น facilitator หรือกระบวนกร ซึ่งจะช่วยกระตุ้นให้เกิดการสร้างสรรค์ และความเปลี่ยนแปลงจากทุกคน และเกิดการเรียนรู้ที่ทุกคนเป็นเจ้าของความรู้


ในบทความนี้จะทำความรู้จักเพิ่มเติมกับ Trasformative Learning ว่าจะสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับผู้เรียนได้อย่างไร?


Transformative Learning คืออะไร?

เราสามารถทำความเข้าใจ Transformative learning ได้จากคำอธิบายที่มีผู้เชี่ยวชาญได้อธิบายไว้ว่า

  • Transformative learning คือ กระบวนการสร้างและจัดสรรค์สิ่งใหม่ หรือปรับปรุงการตีความให้กับความหมายของประสบการณ์ของคนๆ หนึ่งเพื่อนำไปสู่การลงมือทำ และสิ่งนี้นำไปสู่การเรียนรู้ที่สร้างความเปลี่ยนแปลงในทางที่เรามองตัวเอง และทางที่เรามองโลกที่เราอยู่ (อ้างอิงจาก Brown และ Posner)

  • Transformative learning คือ การเรียนรู้ที่สามารถเปลี่ยนแปลงกรอบของปัญหา ชุดของปัญหา หรือสมมุติฐานและผลลัพธ์แบบเดิมๆ เช่น พฤติกรรมของความคิด มุมมอง ความหมาย เพื่อที่จะให้คำตอบมีลักษณะเปิดกว้าง เป็นไปด้วยประสบการณ์ และเอื้ออำนวยต่อการเปลี่ยนแปลง เพราะในบางสถานการณ์กรอบอ้างอิงบางอย่างอาจดีกว่า และสามารถสร้างชุดความเชื่อ ความคิดที่จะพิสูจน์ความจริงอันนำไปสู่การลงมือทำได้มากกว่า (อ้างอิงจาก Jack Mezirow)



ทำไม Transformative Learning สามารถสร้างการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพได้

การเรียนรู้ในปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงไป ในอดีตเราอาจมีครู อาจารย์ เป็นเจ้าของความรู้ เป็นศูนย์กลางของความรู้ทั้งหมด ทำให้การเรียนรู้เกิดขึ้นโดยมีศูนย์รวมความสนใจที่ผู้ถ่ายทอดความรู้ แต่ในปัจจุบันทุกคนสามารถเข้าถึงความรู้ต่างๆ ได้ง่ายมากขึ้นทำให้รูปแบบการเรียนรู้ต้องเปลี่ยนแปลงไป และสามารถตอบคำถามของผู้เรียนที่มีความเฉพาะเจาะจงได้


Transformative learning เป็นการเรียนรู้ที่เอื้ออำนวยต่อการการเรียนรู้ โดยเฉพาะการเรียนรู้ของผู้ใหญ่ ซึ่งจะมีความแตกต่างกับการเรียนรู้ของเด็กและนอกจากนั้นยังมีคุณลักษณะที่เอื้ออำนวยให้ผู้เรียนต้องการเรียนรู้ในมิติต่างๆ ด้วย

  • กระบวนการเรียนรู้สร้างความสัมพันธ์ ในกระบวนการเรียนรู้ของ Transformative learning ผู้เรียนจะได้สร้างความสัมพันธ์ที่สนับสนุนและเกื้อกูลกัน ซึ่งโดยมากมักจะมีพื้นฐานจากสุนทรียสนทนา (dialogue) กระบวนการสร้างความสัมพันธ์เหล่านี้จะสร้างพื้นที่เปิด ที่ลดบทบาทโครงสร้างทางอำนาจลง และมีจุดประสงค์ร่วมกัน

  • อนุญาตให้มีพื้นที่สำหรับการสะท้อนตัวเอง Transformative learning มักจะมีการเรียนรู้การสะท้อนตัวเอง (self-reflection) อยู่เสมอ ซึ่งจะทำให้ผู้เรียนได้เข้าใจโลกและสมมุติฐาน ความเชื่อชุดเดิมๆ ของตัวเองที่มีกับโลก การสะท้อนตัวเองเป็นการตรวจสอบตัวเองโดยการตั้งคำถามและตอบอย่างตรงไปตรงมาซึ่งจะช่วยทำให้เกิดการเรียนรู้ที่เปลี่ยนแปลงมุมมองที่ตนเองมีกับตนเอง และมุมมองที่ตนเองมีกับโลก

  • อาศัยประสบการณ์ตรงของผู้เรียนในกระบวนการเรียนรู้ ในงานวิจัยเชิงสัมภาษณ์ปี 2007 ของ Taylor พบว่าประสบการตรงที่มีความหมายต่อผู้เรียนนั้นเป็นสิ่งที่ผลเป็นอย่างมากใน Transformative learning ซึ่งการเรียนรู้ในลักษณะนี้สามารถพบได้มากขึ้นในที่ทำงาน องค์กรที่ต้องการสร้างความเป็นผู้นำ และสร้างชุมชนที่ดีในที่ทำงาน

  • เกิดการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น เพราะการอยู่ร่วมกันเป็นกลุ่มและการรับฟังอย่างลึกซึ้ง จะช่วยทำให้เรามองเห็น มีมุมมองใหม่ ได้รับประสบการณ์ และทักท้วงความเชื่อของตัวเองที่มีได้ การแลกเปลี่ยนความคิดเห็นใน Transformative learning เกิดจากการฟังอย่างลึกซึ้งเป็นพื้นฐานที่ช่วยทำให้กระบวนการเปลี่ยนแปลงนี้แตกต่างจากการถกเถียงที่พบอย่างทั่วไป



แล้วอะไรที่เป็นอุปสรรค์ของการเปลี่ยนแปลงในการเรียนรู้แบบเก่า?

หลายคนอาจมีประสบการณ์ตรง ไม่ว่าจะเข้าร่วมอบรม เรียนรู้อะไรมามากมาย แต่ก็ไม่เกิดความเปลี่ยนแปลง ซึ่งในที่นี้มีคนได้ให้คำจำกัดความไว้ว่าเป็น "ภูมิต้านทานต่อการเปลี่ยนแปลง" ซึ่งมันจะต่อต้านทั้งในระดับความคิด อารมณ์ และพฤติกรรม ทำให้การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นได้อย่างยากลำบาก


การสร้างความเปลี่ยนแปลงอาจต้องมีแรงจูงใจร่วมกันทั้งสามเรื่องในปัญญาสามฐาน หรือใน 3-Cs Model of Motivation ที่ได้บอกว่าการเปลี่ยนแปลงจะต้องเกิดขึ้นที่ฐานหัว ฐานกาย และฐานใจ ซึ่งในกระบวนการเรียนรู้แบบ Transformative learning จะมีกระบวนกร (faiclitator) ซึ่งออกแบบกระบวนการเหล่านี้ให้้การเรียนรู้เหมาะสมกับบุคคลในกลุ่มมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้



Transformative Learning ช่วยทำให้ผู้เรียนเกิดความเปลี่ยนแปลงได้อย่างไร?

ในการเรียนรู้ของผู้ใหญ่ สิ่งที่มีความสำคัญมากที่สุดคือมุมมองและความหมายของผู้เรียน ซึ่งมุมมองนี้สามารถเป็นกำแพงในการเรียนรู้ได้ เช่นหากการเรียนรู้นั้นตรงตามโลกภายในของผู้เรียน การรับรู้และการเรียนรู้จึงเกิดขึ้น และอาจเกิดขึ้นอย่างมากด้วย แต่หากเนื้อหาไม่ได้มีความสัมพันธ์กับผู้เรียน การเรียนรู้ก็อาจถูกปฏิเสธไป


แน่นอนว่าผู้นำกระบวนการ (facilitator) ใน transformative learning นั้นไม่สามารถบังคับให้ใครรับหรือปฏิเสธการเรียนรู้ได้ แต่กระบวนกรจะสามารถสร้างสภาพแวดล้อม เลือกเครื่องมือ ออกแบบกระบวนการเรียนรู้ที่จะเอื้ออำนวยให้เกิดการเรียนรู้ และนำไปสู้่ประสบการณ์จาก transformative learning ในที่สุด ในกรณีเหล่านั้นสิ่งที่จะช่วยเอื้ออำนวยในการเปลี่ยนแปลงคือ


  • การสร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม มีสภาวะแวดล้อมที่เหมาะสมไม่ได้หมายถึงห้องเรียนที่สะอาด ทันสมัย แต่ยังรวมไปถึงบรรยากาศระหว่างผู้เรียนที่เป็นพื้นที่ปลอดภัยมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ โดยอาจเกิดจากการรับฟังอย่างลึกซึ้ง (deep listening)


  • การออกแบบกระบวนการอย่างมีส่วนร่วม คือกระบวนการที่ทุกคนสามารถสร้าง ประยุกต์ วิเคราะห์สิ่งที่เรียนรู้ ซึ่งมีความหมายต่อตนเองในแบบของตัวเอง ไม่ได้เกิดจากการท่องจำตามเนื้อหาที่ต้องจำ

  • กระตุ้นให้ผู้เรียนแบ่งปันการเรียนรู้ที่เกิดขึ้น การแบ่งปันความคิดเห็นเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญในกระบวนการเรียนรู้ เพราะจะทำให้เราเห็นมุมมองที่แตกต่างกันออกไป และทำให้เห็นความคิดที่เกิดขึ้นในตัวเองมากขึ้น

  • แนะนำให้เกิดการสะท้อนตนเอง เป็นพื้นที่ที่ทำให้เราได้สำรวจมุมมอง ความเชื่อ ของตนเอง ซึ่งมันอาจค่อยๆ เปลียนไปจากมมุมมองเดิม ในส่วนนี้เองที่จะทำให้เกิดความเข้าใจกันและกันมากขึ้น เข้าใจตัวเองและโลกมากขึ้น จนนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางประสบการณ์



Transformative Learning ในบริบทต่างๆ

นอกจากการเรียนรู้สำหรับผู้ใหญ่ที่ทำให้ Transformative learning เป็นที่นิยมแล้ว ยังอาจมีตัวอย่างอื่นๆ ที่มักจะมีกระบวนการของ Transformative learning อีกด้วยเช่น

  • การดูแลปัญหาสิ่งแวดล้อม เป็นการขับเคลื่อนที่มีความท้าทายมากเนื่องจากการดูแลสิ่งแวดล้อมนั้นมีคำตอบในหลากหลายมิติ มีคุณค่าที่แตกต่างกัน และกระบวนการเปลี่ยนแปลงทางธรรมชาติต้องอาศัยเวลานานตั้งแต่ 5 ปี 10 ปี หรือมากกว่านั้น นอกจากนั้นปัญหาสิ่งแวดล้อมยังมีความเกี่ยวข้องกับหลายกลุ่มที่มีความขัดแย้งกันเช่นกลุ่มนักวิทยาศาสตร์ซึ่งมีคำตอบแตกต่างกัน ชาวบ้านในพื้นที่ที่มีประสบการณ์ตรงกับสิ่งแวดล้อม กลุ่มนายทุนที่ลงทุนโครงการต่างๆ หน่วยงานต่าง เหล่านี้ต่างมีความต้องการที่แตกต่างกัน ทำให้กระบวนการทำความเข้าใจกันมีความสำคัญมาก

  • ภาวะผู้นำ เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่มักเคยได้ยินว่าผู้ที่เคยเข้าร่วมกระบวนการของ transformative learning จะมีภาวะผู้นำมากขึ้นหรือไม่? เพราะกระบวนการจะช่วยทำให้เกิดความเข้าใจในตัวเองและบุคคลรอบข้างมากขึ้น จนมีรายงานการศึกษาอย่างจริงจังจาก Journal of Leadership & Organization Studies ปี 2010 ว่า การเรียนรู้ในระดับบุคคลที่เกิดจาก transformative learning เป็นปัจจัยที่ช่วยส่งเสริมความเป็นผู้นำในรูปแบบต่างๆ ด้วย

  • พัฒนาบุคลากรในหน่วยงาน องค์กร ที่ทำงาน กระบวนการเรียนรู้ใน transformative learning สามารถนำมาประยุกต์ได้ในการออกแบบการเรียนรู้ ดูแลความสัมพันธ์ระหว่างบุคลากร การสร้างความเข้าใจระหว่างกัน การเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมในองค์กร และการพัฒนาองค์กรได้ โดยใช้กระบวนการเรียนรู้ สะท้อนตัวเอง การรับฟังอย่างลึกซึ้ง และการทำกิจกรรมอย่างมีส่วนร่วมระหว่างบุคลากรในองค์กร


แหล่งอ้างอิงและข้อมูลเพิ่มเติม

 

Urbinner เป็นพื้นที่ให้ทุกคนได้เติบโตจากการเรียนรู้ในทุกช่วงเวลาของชีวิต โดยทีมนักจัดกระบวนการจะพาคุณไปเรียนรู้ทักษะที่นำไปสู่การเข้าใจตัวเอง สร้างความสัมพันธ์ที่ดี และการตระหนักรู้้ร่วมกัน เพื่อให้ทุกคนสามารถทำในสิ่งที่มีคุณค่าและความหมายสำหรับตัวเอง องค์กร และชุมชนของเราได้

Facebook group Banner.jpg
bottom of page