top of page
  • รูปภาพนักเขียนUrbinner

นพลักษณ์ (Enneagram) คืออะไร? คนแต่ละลักษณ์มีลักษณะอย่างไร?

อัปเดตเมื่อ 6 ม.ค. 2566

Highlights

  • นพลักษณ์หรือเอ็นเนียแกรม (Enneagram) คือ ศาสตร์เกี่ยวกับการเข้าใจผู้คนและบุคลิกภาพซึ่งจะแบ่งคนออกเป็น 9 ประเภท โดยที่แต่ละประเภทนั้นจะมีพฤติกรรม แรงจูงใจในการใช้ชีวิต หรือมุมมองที่มีต่อโลกแตกต่างกันออกไป

  • นพลักษณ์เป็นศาสตร์ที่มีต้นกำเนิดจากศาสนาซูฟีตั้งแต่โบราณและเป็นที่รู้จักในโลกตะวันตกเมื่อศตวรรษที่ 20 จนเป็นที่แพร่หลายในทุกวันนี้

  • นพลักษณ์ช่วยทำให้ผู้คนได้ตระหนักรู้เกี่ยวกับตนเองได้อย่างลึกซึ้ง จึงได้รับความนิยมให้เป็นเครื่องมือสำหรับการพัฒนาบุคลากรในองค์กร การพัฒนาภาวะผู้นำ และการสร้างทีมเวิร์ค

 


เนื้อหาในบทความ

นพลักษณ์ (Enneagram) คืออะไร?

นพลักษณ์ (Enneagram) คือ ศาสตร์ที่ใช้ในการทำความเข้าใจผู้คนจากลักษณะบุคลิกภาพ ความต้องการ และกลไกทางจิตใจ โดยแบ่งลักษณะบุคลิกภาพของมนุษย์แบ่งออกเป็น 9 กลุ่มหรือเรียกว่า 9 ลักษณ์ ซึ่งจะช่วยทำให้เราเข้าใจตัวเองและคนอื่น เพื่อนำไปสู่การพัฒนาและมีชีวิตที่ดีขึ้น


แผนภาพที่แสดงถึงนพลักษณ์ (Enneagram) จะเป็นแผนภาพของวงกลมที่มีจุดอยู่ทั้งหมด 9 จุดและมีลูกศรหรือเส้นที่เชื่อมโยงกันระหว่างจุด ซึ่ง

  • จุดที่อยู่บนวงกลมทั้ง 9 จุด แสดงถึง ลักษณ์ (Enneagram type) ทั้ง 9 ลักษณ์หรือบุคลิกภาพ 9 แบบ

  • ลูกศรหรือเส้นที่เชื่อมโยงกันระหว่างจุด แสดงถึง ทิศทางของสภาวะลูกศร (arrow) ซึ่งเป็นพลวัต (type dynamic) ของคนแต่ละลักษณ์

โดยระบบของนพลักษณ์จะสามารถแสดงความแตกต่างของผู้คนได้มากกว่า 27 รูปแบบ และมีการเปลี่ยนแปลงพลวัตของลักษณ์ที่แสดงออกในสถานการณ์ที่แตกต่างกันไป


ปัจจุบันนพลักษณ์เป็นที่นิยมในการศึกษาของศาสตร์สมัยใหม่และถูกใช้อย่างแพร่หลายทั่วโลกทั้งในด้านจิตวิทยาการปรึกษา การเข้าใจตนเอง ธุรกิจ และการศึกษา


ประวัติที่มาของนพลักษณ์

นพลักษณ์ (Enneagram) มีที่มาจากคำสอนโบราณของกลุ่มอิสลามนิกายซูฟีซึ่งมีมาอย่างยาวนานกว่าพันปี แต่เดิมถูกถ่ายทอดผ่านการเล่าแบบปากต่อปาก ซึ่งจะช่วยทำให้คนแต่ละคนสามารถถ่ายทอดบุคลิกภาพของตัวเองออกมาได้ เหมือนที่หลายๆ คนได้มีประสบการณ์ตรงในเวิร์คช็อปนพลักษณ์ ที่เริ่มแรกอาจเห็นว่าแต่ละคนมีความแตกต่างมาก แต่เมื่อพวกเขาได้ผ่านกระบวนการในเวิร์คช็อป พวกเขากลับค่อยๆ เข้าใจตัวเองชัดเจนขึ้น รู้จักความเหมือนและความแตกต่างของผู้คนมากขึ้น


นพลักษณ์ (Enneagram) เป็นที่แพร่หลายในโลกตะวันตกมากขึ้นโดย G.I. Gurdjieff ซึ่งนำองค์ความรู้เรื่องนพลักษณ์มาใช้ในการสอนในประเทศรัสเซียและแถบยุโรปในช่วงต้นของศตวรรษที่ 20


หลังจากนั้น Oscar Ichazo ได้นำองค์ความรู้เกี่ยวกับนพลักษณ์มาศึกษาในด้านจิตวิทยา ทำให้นพลักษณ์เป็นที่แพร่หลายมากขึ้นในด้านจิตวิทยา แต่การศึกษาและการสอนของเขาก็ยังไม่แพร่หลายมากนัก จนกระทั่ง Claudio Naranjo สร้างกลุ่มที่นำการเรียนรู้ทางด้านจิตวิทยาและจิตวิญญาณขึ้นมาจนนำมาสู่หนังสือที่เกี่ยวข้องกับนพลักษณ์เล่มแรก และได้ทำให้นพลักษณ์แพร่หลายถึงทุกวันนี้


รายละเอียดเบื้องต้นของลักษณ์ทั้ง 9 ลักษณ์

  • ลักษณ์ 1 ผู้แสวงหาความสมบูรณ์แบบ เป็นลักษณ์ที่ต้องการความสมบูรณ์แบบ มักจะมีกฎระเบียบ มาตรฐาน ให้กับสิ่งต่างๆ อยู่เสมอ มักคิดว่าสิ่งใดควรทำสิ่งใดไม่ควรทำ ชอบวิจารณ์สิ่งต่างๆ อย่างตรงไปตรงมา

  • ลักษณ์ 2 ผู้ให้ เป็นลักษณ์ที่ชอบช่วยเหลือคนอื่น ต้องการเป็นคนสำคัญของคนอื่น ให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์ มักจะให้ความสำคัญกับความต้องการของคนพิเศษมากกว่าความต้องการของตัวเอง

  • ลักษณ์ 3 นักแสดง เป็นลักษณ์ที่ต้องการประสบความสำเร็จ จริงจังกับการไปให้ถึงเป้าหมาย ชอบการแข่งขัน ให้ความสำคัญกับภาพลักษณ์ของตัวเอง สามารถปรับเปลี่ยนตัวเองเพื่อทำให้ตัวเองไปสู่เป้าหมายได้

  • ลักษณ์ 4 ผู้โศกซึ้ง เป็นลักษณ์ที่มีอารมณ์ลุ่มลึกหลากหลายโดยเฉพาะอารมณ์เศร้า โหยหาสิ่งที่ตนเองไม่มี ไม่ค่อยพอใจในสิ่งที่มีแล้ว อารมณ์แปรปรวน เปลี่ยนแปลงง่าย

  • ลักษณ์ 5 นักสังเกตการณ์ เป็นลักษณ์ที่ต้องการความเป็นส่วนตัวสูง ต้องการมีระยะห่างระหว่างตัวเองกับคนอื่น มักจะแยกตัวเองออกจากอารมณ์ รู้สึกหมดพลังได้ง่ายเมื่ออยู่กับคนอื่น ต้องการเวลาส่วนตัวสูง

  • ลักษณ์ 6 นักปุจฉา เป็นลักษณ์ที่มีคำถามกับสิ่งรอบตัว คาดการณ์เหตุการณ์เลวร้ายที่อาจเกิดขึ้น มีความสงสัยตลอดเวลา หรืออาจเป็นคนกล้าได้กล้าเสีย เตรียมตัวเองให้พร้อมที่จะรับมือหรือปะทะกับสิ่งที่อาจมาคุกคามได้ตลอดเวลา

  • ลักษณ์ 7 ผู้เสพสุข เป็นลักษณ์ที่มองโลกในแง่ดี ร่าเริง สนุกสนาน ชอบประสบการณ์ใหม่ๆ ไม่ชอบการผูกมัด มักมีวิธีที่จะทำให้ตัวเองมีความสุขอารมณ์ดีได้อยู่เสมอ ชอบทำสิ่งที่แปลกใหม่ไม่เหมือนใครตลอดเวลา

  • ลักษณ์ 8 เจ้านาย เป็นลักษณ์ที่ให้ความสำคัญกับการควบคุมและอำนาจ ใช้ชีวิตเกินพอดี โกรธง่ายหายเร็ว แสดงออกความโกรธอย่างตรงไปตรงมา ต้องการปกป้องผู้อ่อนแอ ผู้ที่ถูกรังแก เพื่อปกป้องความยุติธรรม

  • ลักษณ์ 9 ผู้ประสานไมตรี เป็นลักษณ์ที่ชอบความสงบ สามัคคี บรรยากาศที่เป็นมิตรสบายๆ ชอบช่วยเหลือคนอื่น รู้สึกลำบากใจมากเมื่อต้องเผชิญกับความขัดแย้ง มักมองเห็นและเข้าใจผู้คนในมุมมองต่างๆ ชอบทำตามคนอื่นและหลงลืมความต้องการของตัวเอง

โครงสร้างและการทำงานของนพลักษณ์

ศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับบุคลิกภาพส่วนใหญ่มักจะกำหนดตัวตนของผู้คนผ่านบุคลิกภาพ แต่นพลักษณ์ (Enneagram) ไม่ได้กำหนดว่าตัวตนของเราเป็นไปตามลักษณ์เพียงอย่างเดียว แต่ตัวตนของเรานั้นเกิดขึ้นจากความเป็นลักษณ์ที่เราสร้างขึ้นเพื่อรับมือกับโลกภายนอก จนทำให้เกิด กลไกต่างๆ ที่ใช้รับมือโลกภายนอกตามแต่ละลักษณ์ และก็อาจทำให้เกิดปัญหาขึ้นจากการยึดติดกับการใช้กลไกเหล่านั้น


เมื่อเราเข้าใจเกี่ยวกับนพลักษณ์แล้ว เราจะสามารถตระหนักรู้ได้ถึงความเป็นไปได้ในแบบอื่นๆ และมีอิสระในการเลือกการตอบสนองต่อโลกภายนอกมากยิ่งขึ้น


นพลักษณ์ (Enneagram) มีโครงสร้างและการทำงานที่อาจซับซ้อนมากกว่าระบบบุคลิกภาพแบบอื่น แต่ความซับซ้อนเหล่านี้จะสามารถอธิบายความคิด การแสดงออก หรือบุคลิกภาพที่แต่ละคนมีได้เป็นอย่างดี ซึ่งโดยหลักๆ แล้วโครงสร้างของนพลักษณ์มีระบบดังนี้


ปัญญา 3 ฐาน (The 3 Centers)

นพลักษณ์แบ่งผู้คนในลักษณ์ต่างๆ ผ่านปัญญา 3 ฐาน ซึ่งมักจะบ่งบอกว่าคนแต่ละลักษณ์ให้ความสำคัญเกี่ยวกับเรื่องอะไร มักจะใช้กระบวนการอะไร และมีการแสดงออกอย่างไร โดย

  • ฐานกายหรือศูนย์กาย (body) คือ ลักษณ์ที่มีความถนัดในการแสดงออกผ่านสัญชาตญาณ การเคลื่อนไหว การลงมือทำ และความตระหนักรู้ทางร่างกาย ได้แก่ ลักษณ์ 8 ลักษณ์ 9 และลักษณ์ 1

  • ฐานใจหรือศูนย์ใจ (heart) คือ ลักษณ์ที่มีความถนัดในการใช้อารมณ์ความรู้สึก มีประสบการณ์เกี่ยวกับความรู้สึกอย่างลุ่มลึก และเชื่อมโยงกับผู้คน ได้แก่ ลักษณ์ 2 ลักษณ์ 3 และลักษณ์ 4

  • ฐานหัวหรือศูนย์หัว (head) คือ ลักษณ์ที่มีความถนัดในการใช้ความคิด มักจะแสดงออกผ่านความคิด การวิเคราะห์ และการให้เหตุผล ได้แก่ ลักษณ์ 5 ลักษณ์ 6 และลักษณ์ 7

อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับปัญญา 3 ฐานได้ที่ ปัญญา 3 ฐาน - Head Heart Hand


สภาวะปีก (Wing)

สภาวะปีก (wing) คือ ลักษณ์ทั้ง 2 ลักษณ์ ที่อยู่เคียงข้างลักษณ์หลัก ซึ่งจะทำให้แต่ละคนมีการแสดงออกที่แตกต่างกันออกไปตามอิทธิพลของลักษณ์ที่อยู่เคียงข้างลักษณ์นั้น ซึ่งคนแต่ละคนจะมีสภาวะปีกที่แตกต่างกัน หรือไม่จำเป็นที่จะต้องมีสภาวะปีกอยู่ในคนๆ นั้นก็ได้


ยกตัวอย่างเช่น ลักษณ์ 2 สามารถมีสภาวะปีกได้ 2 รูปแบบ คือ ปีก 1 หรือ ปีก 3 ซึ่งเป็นลักษณ์ที่อยู่เคียงข้างลักษณ์ 2 หากคนลักษณ์ 2 มีปีก 1 พวกเขาก็ได้รับอิทธิพลการแสดงออกและลักษณะบุคลิกภาพของคนลักษณ์ 1 ด้วย


สภาวะปีกเป็นสภาวะที่อาจมีการเปลี่ยนแปลงได้ตามสภาพแวดล้อม ปมปัญหาที่พบ และการเรียนรู้ ซึ่งการเปลี่ยนแปลงของสภาวะปีกที่เกิดขึ้นก็อาศัยระยะเวลายาวนาน นอกจากนั้นสำหรับผู้ที่เรียนนพลักษณ์แล้วการนำคุณลักษณะที่ดีของสภาวะปีกของตัวเองทั้ง 2 ข้างมาใช้ก็เป็นวิธีที่จะช่วยทำให้เกิดการพัฒนาตัวเองตามลักษณ์ได้ด้วย

สภาวะลูกศร (Arrow)

สภาวะลูกศร (arrow) คือ สภาวะที่แต่ละคนมีพฤติกรรมและการแสดงออกเปลี่ยนแปลงไป ซึ่งความเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมและการแสดงออกของคนแต่ละลักษณ์นั้นจะเปลี่ยนไปตามสภาวะที่มั่นคงและสภาวะที่ไม่มั่นคง


ในนพลักษณ์แต่ละคนจะมีบุคลิกภาพใน 3 สภาวะ คือ

  • สภาวะปกติ คือ สภาวะตอนที่เราใช้ชีวิตตามปกติ ไม่ได้รู้สึกเครียดหรือมั่นคงมากนัก

  • สภาวะที่ไม่มั่นคง คือ สภาวะที่เรารู้สึกเครียด กดดัน อยู่ในสถานการณ์ที่แปลกออกไปจากความเคยชิน กำลังจะต้องเผชิญหน้ากับสิ่งที่หลีกเลี่ยง

  • สภาวะที่มั่นคง คือ สภาวะที่เรารู้สึกว่าสามารถควบคุมสิ่งต่างๆ ได้ เห็นว่าสิ่งต่างๆ กำลังเป็นไปตามที่ต้องการ หรือช่วงเวลาที่มีความมั่นคงในชีวิต

เมื่อเราอยู่ในสภาวะที่ไม่มั่นคง ลักษณ์ของเราจะมีการแสดงออกและได้รับอิทธิพลตามลักษณ์อื่นที่อยู่ในทิศทางตามลูกศรเช่น ลักษณ์ 1 จะมีการแสดงออกและได้รับอิทธิพลของลักษณ์ 7


เมื่อเราอยู่ในสภาวะที่มั่นคง ลักษณ์ของเราจะมีการแสดงออกและได้รับอิทธิพลตามลักษณ์อื่นที่อยู่ในทิศทางทวนลูกศรเช่น ลักษณ์ 1 จะมีการแสดงออกและได้รับอิทธิพลของลักษณ์ 5


นอกจากนั้นสำหรับผู้ที่เรียนนพลักษณ์แล้วการนำคุณลักษณะที่ดีของสภาวะลูกศรทั้ง 2 สภาวะมาใช้ก็เป็นวิธีที่จะช่วยทำให้เกิดการพัฒนาตัวเองและดูแลตัวเองตามลักษณ์ได้ด้วย


ลักษณ์ย่อย (Subtypes)

ลักษณ์ย่อย (subtypes) คือ ลักษณะความใส่ใจของคนในแต่ละลักษณ์ที่แสดงออกตามสัญชาตญาณพื้นฐานซึ่งแบ่งออกเป็น 3 ประเภท จนทำให้คนแต่ละลักษณ์มีการแสดงออกที่แตกต่างกันเป็น 27 แบบ โดยที่ลักษณ์ย่อยทั้ง 3 ประเภทคือ

  • ลักษณ์ย่อยแบบผดุงตน (self-preservation) คือ ลักษณ์ย่อยที่ให้ความสำคัญกับการเอาชีวิตรอด สิ่งของวัตถุ หรือสิ่งของทางกายภาพเพื่อที่จะสร้างความมั่นคงปลอดภัยให้กับชีวิตของตัวเอง โดยที่พลังของคนที่อยู่ในลักษณ์ย่อยกลุ่มนี้จะถูกใช้ไปกับการสร้างความมั่นคง ปลอดภัย ให้กับตัวเองตามลักษณะของคนแต่ละลักษณ์

  • ลักษณ์ย่อยแบบความสัมพันธ์ (one-to-one, sexual) คือ ลักษณ์ย่อยที่ให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์กับคนใดคนหนึ่ง ซึ่งความสัมพันธ์เหล่านั้นอาจเป็นความสัมพันธ์กับคนในครอบครัว ความสัมพันธ์แบบโรแมนติก เพื่อน หรือสัตว์เลี้ยงก็ได้ โดยพลังของคนที่อยู่ในลักษณ์ย่อยกลุ่มนี้จะถูกใช้ไปกับการสร้างความสัมพันธ์กับคนอีกคนหนึ่งตามลักษณะของคนแต่ละลักษณ์

  • ลักษณ์ย่อยแบบสังคม (social) คือ ลักษณ์ย่อยที่ให้ความสำคัญกับการเป็นส่วนหนึ่ง การได้รับความเคารพ การเป็นคนที่จดจำ หรือมีความสัมพันธ์กับกลุ่ม โดยกลุ่มนี้หมายถึงครอบครัว ชุมชน กลุ่มเพื่อน ที่ทำงาน หรือสังคมก็ได้ โดยพลังของคนที่อยู่ในลักษณ์ย่อยกลุ่มนี้จะถูกใช้ไปกับการเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มนั้นตามลักษณะของคนแต่ละลักษณ์

ลักษณ์ย่อยของคนแต่ละลักษณ์สามารถเปลี่ยนแปลงได้ตามสภาพแวดล้อม ปมปัญหาที่พบ และการเรียนรู้ แต่พวกเขาก็ยังมีลักษณ์ย่อยที่เด่นที่สุดอยู่ และมักจะมีลักษณ์ย่อยที่ละเลยไปจนอาจเกิดเป็นความท้าทายของชีวิต


นอกจากนั้นสำหรับผู้ที่เรียนนพลักษณ์แล้วการนำคุณลักษณะที่ดีของลักษณ์ย่อยทั้ง 3 ลักษณ์ย่อยมาใช้ก็เป็นวิธีที่จะช่วยทำให้เกิดการพัฒนาตัวเองและดูแลตัวเองตามลักษณ์ได้ด้วย


ประโยชน์ของนพลักษณ์สำหรับพัฒนาองค์กร

นพลักษณ์ได้รับความนิยมในวงการธุรกิจเพราะเป็นเครื่องมือที่ช่วยทำให้บุคลากรในองค์กรได้รู้แนวทางในการพัฒนาตัวเองที่ไม่เหมือนศาสตร์ไหน ได้เข้าใจความแตกต่างของแต่ละคน รู้จุดอ่อนจุดแข็งของตัวเอง ช่วยทำให้เกิดการทำงานร่วมกันเป็นทีม และพัฒนาศักยภาพของผู้นำได้


การพัฒนาศักยภาพผู้นำ

การสร้างภาวะผู้นำ (leadership) ในยุคสมัยใหม่ต่างไปจากเดิม เพราะผู้นำในยุคใหม่ไม่ใช่แค่คนที่มีหน้าที่ควบคุมงาน แต่มักจะเกี่ยวข้องกับวิธีการบริหารคน ทำให้พวกเขาจำเป็นที่จะต้องรู้จักตัวเอง เห็นตัวเองอย่างรอบด้าน รู้วิธีสื่อสารกับคนที่แตกต่างกัน และเข้าใจความอ่อนไหวของคนแต่ละคน


การเรียนรู้เรื่องนพลักษณ์สำหรับหัวหน้า ผู้บริหารหรือผู้นำในองค์กร จะช่วยทำให้ผู้นำได้เห็นจุดแข็งและจุดอ่อนของตัวเอง เท่าทันปัญหาที่อาจเกิดขึ้นจากความเป็นลักษณ์ เห็นสไตล์ความต้องการที่แตกต่างกันในตัวคน และเรียนรู้วิธีการสื่อสารที่เหมาะสมกับคนแต่ละลักษณ์


การสร้างทีมเวิร์ค

ทีมที่ดีเริ่มต้นที่การเข้าใจกัน ซึ่งการเรียนรู้เรื่องนพลักษณ์จะช่วยทำให้สมาชิกในทีมเข้าใจความแตกต่างของคนแต่ละลักษณ์ สิ่งที่คนแต่ละลักษณ์ให้ความสำคัญ แนวโน้มปัญหาที่อาจเกิดขึ้นจากการแสดงออกของคนในทีม วิธีการแสดงออกของคนแต่ละลักษณ์ และแนวทางในการทำงานกับคนลักษณ์ต่างๆ เพื่อทำให้เกิดทีมเวิร์ค


การพัฒนาตนเอง

นพลักษณ์เป็นเครื่องมือที่น่าทึ่งมากสำหรับการเรียนรู้และการพัฒนาตัวเองในระยะยาว เพราะนพลักษณ์จะช่วยชี้ให้แต่ละคนได้เห็นถึงกลไกที่คนแต่ละลักษณ์มักจะใช้ไปโดยไม่รู้ตัว ซึ่งการใช้กลไกเหล่านี้ก็นำมาซึ่งปัญหาในชีวิตด้วยเช่นกัน


การตระหนักรู้ในลักษณ์ของตัวเองเพื่อที่จะเห็นปัญหาจากความเป็นลักษณ์เป็นวิธีที่จะช่วยทำให้แต่ละคนสามารถก้าวพ้นข้อจำกัดของตัวเอง เรียนรู้วิธีการปรับตัวและมีทางเลือกอื่นๆ ที่สามารถทำได้เพื่อที่จะพัฒนาตัวเองเพื่อให้ชีวิตมีความสมดุลมากยิ่งขึ้น


เวิร์คช็อปนพลักษณ์ขั้นต้น (Enneagram Workshop)

แหล่งอ้างอิงและข้อมูลเพิ่มเติม

  • Chestnut, Beatrice. 2013. The complete Enneagram. Berkeley: She Writes Press.

  • Palmer, Helen. 1991. The Enneagram: Understanding Yourself and the Others In Your Life.

  • Wagele, Elizabeth, and Renee Baron. 1995. Are You My Type, Am I Yours? : Relationships Made Easy Through The Enneagram.

 

Urbinner เป็นพื้นที่ให้ทุกคนได้เติบโตจากการเรียนรู้ในทุกช่วงเวลาของชีวิต โดยทีมนักจัดกระบวนการจะพาคุณไปเรียนรู้ทักษะที่นำไปสู่การเข้าใจตัวเอง สร้างความสัมพันธ์ที่ดี และการตระหนักรู้ร่วมกัน เพื่อให้ทุกคนสามารถทำในสิ่งที่มีคุณค่าและความหมายสำหรับตัวเอง องค์กร และชุมชนของเราได้

Facebook group Banner.jpg
bottom of page