top of page

วิธีดูแลพนักงานในทุกมิติ ตามทฤษฎี Maslow's Hierarchy of Needs

รูปภาพนักเขียน: UrbinnerUrbinner

อัปเดตเมื่อ 16 ต.ค. 2564

การดูแลบุคลากรในองค์กรเป็นเรื่องที่ท้าทายและมีความสำคัญมาก เพราะการดูแลบุคลากรอย่างเหมาะสมมีผลต่อวัฒนธรรมขององค์กร ประสิทธิภาพการทำงานของทีม และลดอัตราการลาออก (turn over rate) ของพนักงาน ซึ่งจะมีผลต่อการทำงานในระยะยาวด้วย


ทฤษฎีลำดับขั้นความต้องการของมาสโลว์สามารถใช้ได้เป็นอย่างดีในการอธิบายเกี่ยวกับความต้องการในแต่ละขั้น โดยที่องค์กรสามารถประยุกต์ใช้การตอบสนองความต้องการของพนักงานตามทฤษฎี ในการดูแลและทำความเข้าใจพนักงานได้


เนื้อหาในบทความ


วิธีดูแลพนักงานตามทฤษฎี Maslow's Hierarchy of Needs

ทฤษฎีลำดับขั้นความต้องการของมาสโลว์ อธิบายว่ามนุษย์จะถูกกระตุ้นด้วยความต้องการตามลำดับขั้น โดยมนุษย์มีความต้องการด้านต่างๆ คือ


โดยเราสามารถดูแลบุลากรในด้านต่างๆ ได้ดังนี้


การดูแลความต้องการด้าน กายภาพ (Physiological)

ความต้องการทางกายภาพเป็นพื้นฐานอย่างแรกที่ทุกคนต้องการ โดยตัวอย่างของความต้องการทางกายภาพเช่น

  • อาหาร

  • ที่อยู่อาศัย

  • เครื่องแต่งกาย

ความต้องการทางกายภาพตอนนี้จำเป็นที่จะต้องแลกเปลี่ยนด้วยเงิน ดังนั้นพื้นฐานแรกสำหรับองค์กรในการดูแลความต้องการทางกายภาพคือเรื่องค่าตอบแทน ว่าค่าตอบแทนนั้นเหมาะสมสำหรับการดำรงชีวิตอยู่ในที่นั้นหรือไม่ ซึ่งแต่ละพื้นที่จะมีความเหมาะสมที่แตกต่างกันออกไป


ค่าตอบแทนควรจะเหมาะสมเพื่อที่จะให้พนักงานสามารถดูแลภาระเหล่านี้ได้ และดูแลความต้องการทางกายภาพของพนักงาน นอกจากนี้บางครั้งการดูแลความต้องการด้านกายภาพอาจมาในรูปแบบอื่นนอกเหนือจากเงินเช่น

  • อาหารกลางวันสำหรับพนักงาน

  • สวัสดิการเกี่ยวกับเรื่องการเดินทาง

  • วันลาและหยุด

  • บ้านพักพนักงาน

  • สิ่งที่ช่วยทำให้พนักงานทำงานได้เต็มที่เช่น กาแฟหรืออาหารว่างในที่ทำงาน

นอกจากนี้ยังรวมไปถึง ปริมาณงานที่เหมาะสม ไม่กระทบกับการใช้ชีวิตส่วนตัว ครอบครัว หลายครั้งที่องค์กรต้องสูญเสียบุคลากรดีๆ ไปเพราะปริมาณงานที่มากเกินไปจนกระทบกับชีวิตครอบครัวของเขา หรือกระทบกับสุขภาพของพนักงาน



การดูแลความต้องการด้าน ความปลอดภัย ความมั่นคง (Safety, Security)

หลังจากที่พนักงานสามารถดูแลปัจจัยพื้นฐานของตนเองได้แล้ว ลำดับถัดมาคือการดูแลความต้องการด้านความปลอดภัยหรือความมั่นคง สิ่งที่องค์กรจะสามารถช่วยเหลือบุคลากรได้ในลำดับขั้นนี้เช่น

  • ประกันสุขภาพ ประกันอุบัติเหตุ

  • ความแน่นอนในการรับค่าตอบแทน

  • ทำงานในสภาพแวดล้อมที่ไม่เป็นมลพิษกับสุขภาพ

  • การลดความเสี่ยงในด้านต่างๆ

  • ความมั่นคงทางสภาวะอารมณ์

ความแน่นอนในการรับค่าตอบแทน เป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้หลายคนตัดสินใจทำงานประจำ เพราะได้รับเงินเดือนค่าตอบแทนที่แน่นอน ในขณะที่การทำงานแบบ freelance ไม่มีความแน่นอนในการรับค่าตอบแทน


นอกจากนี้ยังรวมไปถึงการลดความเสี่ยงในด้านต่างๆ เช่นการมีเกณฑ์ที่ชัดเจนว่ามีกำหนดที่ชัดเจนเกี่ยวกับการให้โบนัส เกณฑ์ที่ใช้พิจารณาเพิ่มเงินเดือน การประเมินงานที่มีความชัดเจน


ความมั่นคงทางสภาวะอารมณ์ คือ รู้สึกปลอดภัยทางอารมณ์ ความเสถียรทางอารมณ์ ซึ่งเกิดจากบรรยากาศในการทำงานที่มีความปลอดภัยทางใจในที่ทำงาน (psychological safety) หากมีหัวหน้าหรือเพื่อนร่วมงานที่อารมณ์รุนแรง หรือมีเรื่องปะทะทางอารมณ์ในที่ทำงานก็อาจทำให้บุคลากรไม่รู้สึกปลอดภัยทางอารมณ์ได้ และยังรวมไปถึงการทำงานที่มีความเครียดสูงเกินไป



การดูแลความต้องการด้าน ความรักหรือการเป็นเจ้าของ (Love, Sense of Belongings)

ลำดับที่สามของทฤษฎีลำดับขั้นความต้องการของมาสโลว์คือ ความต้องการทางด้านสังคม (social needs) นั่นคือพนักงานรู้สึกมีปฏิสัมพันธ์กับองค์กรและคนในองค์กร การทำงานร่วมกัน และการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันในทีม


การมีสร้างสภาพแวดล้อมที่ดีภายในองค์กรอาจเกิดจากวัฒนธรรมองค์กร นอกจากนี้การมีพนักงานที่เหมาะสมกับวัฒนธรรมซึ่งจะทำให้พนักงานใหม่เข้ากับบุคลากรได้ง่ายขึ้น และยังรวมถึงการมีปฏิสัมพันธ์ที่ดีต่อกันด้วยทักษะต่างๆ เช่น



หรือเกิดจากบุคลากรรู้จักกันมากกว่าระดับผิวเผิน โดยที่อาจผ่านการทำกิจกรรมต่างๆ เช่น

  • กิจกรรม team-building ซึ่งโดยมากเป็นกิจกรรมที่ทำด้วยความสนุกสนาน ซึ่งจะช่วยให้คนที่ไม่รู้จักกันเลยทำความรู้จักกัน ละลายพฤติกรรม เป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มได้ในปริมาณมาก กิจกรรมนี้เหมาะมากในการอบรมพนักงานใหม่จำนวนมากๆ

  • กิจกรรม workshop ที่ช่วยเอื้ออำนวยให้บุคลากรสามารถพูดคุยและทำความรู้จักกันในมิติที่ลึกซึ้งมากกว่าความสนุกสนานเช่น การเรียนรู้แบบ transformative learning เป็นต้น ซึ่งเวิร์คช็อปเหล่านี้เหมาะสมมากในการดูแลกลุ่มของบุคลากรที่เป็นส่วนหนึ่งขององค์กรในระยะหนึ่งแล้ว

  • Facilitation สำหรับการทำงานร่วมกัน เป็นการเตรียมความพร้อมทีมที่อาจรู้จักหรือไม่รู้จักกันมาก่อน ได้รู้จักกันในมิติของการทำงานก่อนเริ่มทำงานจริงๆ เพื่อปรับความต้องการที่แต่ละคนอาจมีแตกต่างกันให้ตรงกัน เข้าใจกันมากขึ้นก่อนที่จะเริ่มโปรเจค เหมาะสำหรับมืออาชีพที่มีความเชี่ยวชาญสูง


นอกจากนี้ความต้องการด้านความความรักหรือการเป็นเจ้าของยังรวมไปถึงความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่ม ความเป็นส่วนหนึ่งของงาน ซึ่งอาจเกิดจากการที่บุคลากรได้ทำบางอย่างตอบแทนองค์กรเล็กๆ น้อยๆ แล้วรู้สึกว่าเป็นส่วนหนึ่งขององค์กร หรือการทำงานต่างๆ ร่วมกันกับทีม


ความรักและความรู้สึกเป็นเจ้าของนี้เกิดจากความสนิทสนมกันระหว่างบุคลากรได้เช่นกัน ในช่วงแลกเปลี่ยนของกิจกรรมใน workshop ต่างๆ ที่อาศัยหลักของของสุนทรียสนทนา จะช่วยทำให้บุคลากรรู้จักกันมากขึ้นในมิติที่มากกว่าเรื่องการทำงาน ซึ่งแทบไม่มีโอกาสเลยในบรรยากาศการทำงานแบบทั่วไป การแลกเปลี่ยนเรื่องราวอื่นๆ ในชีวิตในเวิร์คช็อปต่างๆจึงเป็นสิ่งที่ช่วยให้พนักงานเกิดความสนิทกัน (team-bonding)



การดูแลความต้องการด้าน ความเคารพ (Esteem)

ความต้องการด้านความเคารพ หรือก็คือความรู้สึกเชี่ยวชาญด้านใดด้านหนึ่ง ความสำเร็จด้านใดด้านหนึ่ง ซึ่งมีอยู่ 2 แบบ

  • ความต้องการที่จะเป็นใครสักคน สามารถเกิดได้จากการบรรลุเป้าหมายส่วนตัว การได้รับความสำเร็จบางอย่างที่เขาต้องการ ซึ่งอาจเป็นการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ ในส่วนนี้สามารถดูแลได้ด้วยการให้พนักงานได้มีส่วนร่วมกำหนดเป้าหมายในการทำงานจากเป็นเป้าหมายสั้นๆ เมื่อพนักงานสามารถบรรลุเป้าหมายได้ เขาจะมีความภูมิใจในตัวเองมากยิ่งขึ้น

  • ความต้องการที่จะได้รับการเคารพจากคนอื่น คือการทำงานที่ได้รับความเคารพ บางครั้งพนักงานอาจได้รับความไว้วางใจจากบุคลากรคนอื่น หรืออาจได้รับความเชื่อมั่นว่ามีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน นอกจากนี้ยังรวมไปถึงความเคารพซึ่งกันและกันในที่ทำงานด้วย

พนักงานที่ถูก micro-manage จะทำให้เขารู้สึกได้รับความเคารพที่ลดลงเพราะมีคนสั่งการทุกอย่างในงานของเขา ซึ่งจะส่งผลให้ความภูมิใจในตัวเองและ self-esteem ลดลง


การจัดกิจกรรมอื่นๆ หรือการขอความคิดเห็นบางอย่างเพื่อพัฒนาองค์กรช่วยทำให้บุคลากรได้รับความต้องการด้านการเคารพได้ เมื่อเขาเห็นว่าไอเดียของเขาถูกนำไปใช้ หรือเขามีความสามารถที่ช่วยเหลือองค์กรได้ เขาก็จะเกิดความภูมิใจและได้รับความเคารพ


ข้อควรระวังคือความเคารพนอกเหนือจากการทำงานจะเกิดขึ้นเพียงระยะเวลาสั้นๆ เท่านั้น ตัวอย่างเช่นในกิจกรรม team-building ที่พนักงานที่ชนะกิจกรรมอาจได้รับความภูมิใจและความเคารพจากคนอื่น แต่เมื่อกลับเข้ามาสู่บรรยากาศการทำงาน สิ่งเหล่านี้จะมีความหมายลดลงไปอย่างรวดเร็ว


การดูแลความเคารพที่ดีในองค์กรสามารถทำได้โดยการทำให้ที่ทำงานมีบรรยากาศของความเข้าใจและการพัฒนา ซึ่งอาจเกิดจากการสะท้อนตัวเอง (self-Reflection) และ After Action Review (AAR) เป็นระยะ เพราะการสะท้อนงานเหล่านี้เป็นระยะจะช่วยให้เกิดความเคารพในตัวเอง ความภูมิใจ ความเข้าใจกัน ได้มากขึ้น


เมื่อเรามีความเข้าใจในบทบาทหน้าที่ที่แตกต่างกันแล้ว เราจะเห็นคุณค่าในตัวเองมากขึ้น เสริมสร้างทักษะคติทางบวกให้กับคนอื่นได้มากขึ้น



การดูแลความต้องการด้าน การบรรลุความหมายภายในหรือความสมบูรณ์ของชีวิต (Self-Actualization)

ลำดับขั้นสุดท้ายตามทฤษฎีความต้องของมาสโลว์คือ การให้พนักงานสามารถเป็นสิ่งที่ดีที่สุดที่เขาสามารถเป็นได้ ซึ่งสามารถทำได้โดยหลากหลายทางเช่น

  • การจัดอบรมพัฒนาทักษะให้กับบุคลากร

  • การให้พนักงานมีส่วนร่วมในการพัฒนาองค์กร

  • การพัฒนาทักษะการทำงานของบุคลกากร

องค์กรของคุณจะโชคดีมากหากบุคลากรมีความต้องการในด้าน self-actualization ที่เป็นไปในแนวทางเดียวกันเช่นต้องการเป็นเลิศ สร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ในด้านเหล่านั้น แต่อาจมีพนักงานบางคนที่เริ่มรู้สึกว่าเขามีความต้องการอย่างอื่นที่อาจไม่ตรงมากนักเช่น ต้องการเป็นพ่อแม่ที่ดีในอุดมคติ แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าพนักงานเหล่านี้จะมีคุณค่าหรือความสามารถน้อยกว่าพนักงานที่มีความต้องการพัฒนาตัวเองในด้านที่ตรงกับการทำงาน


หากองค์กรพบว่าบุคลากรมีความต้องการด้านความสมบูรณ์ของชีวิตที่แตกต่างออกไปจากการทำงานเช่น พนักงานบางคนรักการเล่นดนตรี หรือปลูกต้นไม้ การเอื้ออำนวยให้บุคลากรเหล่านั้นสามารถทำในสิ่งที่เขารักได้ก็เป็นวิธีหนึ่งที่จะช่วยดูแลพนักงานเหล่านั้นได้เช่นกัน และคุณอาจให้เขาได้ทำบางอย่างจากความสนใจของพนักงานคนนั้นก็ได้


นอกจากนั้นการให้พนักงานได้มีทักษะที่สำคัญเกี่ยวกับการเรียนรู้ตัวเอง การตระหนักรู้ในตัวเอง จะช่วยให้พนักงานมีการตระหนักรู้เกี่ยวกับเรื่องนี้ได้มากขึ้นซึ่งนำไปสู่การเติบโตของชีวิต ความเชื่อมั่น และความมั่นคงในตัวเองตามมา



แม้ว่าทฤษฎีเกี่ยวกับความต้องการในสมัยใหม่จะมีการเปลี่ยนแปลงไปจากทฤษฎีของมาสโลว์ แต่ทฤษฎีนี้ก็ยังได้รับความนิยมเพราะสามารถทำให้เข้าใจได้ง่าย และสามารถช่วยให้ฝ่ายทรัพยากรมนุษย์หรือผู้บริหารสามารถดูแลความต้องการของบุคลากรได้


การดูแลบุคลากรเหล่านี้สามารถช่วยทำให้บุคลากรมีคุณภาพ มีความสุขในที่ทำงานได้ การดูแลพนักงานให้ดีที่สุด ไม่ใช่การดูแลพนักงานให้เหมือนกับที่เขาทำกับคุณ แต่คือการดูแลพนักงานในทางที่เขาควรจะได้รับการดูแล ซึ่งทฤษฎีลำดับขั้นความต้องการของมาสโลว์สามารถช่วยได้เป็นอย่างดี


Related Topics


แหล่งอ้างอิงและข้อมูลเพิ่มเติม

 

Urbinner เป็นพื้นที่ให้ทุกคนได้เติบโตจากการเรียนรู้ในทุกช่วงเวลาของชีวิต โดยทีมนักจัดกระบวนการจะพาคุณไปเรียนรู้ทักษะที่นำไปสู่การเข้าใจตัวเอง สร้างความสัมพันธ์ที่ดี และการตระหนักรู้ร่วมกัน เพื่อให้ทุกคนสามารถทำในสิ่งที่มีคุณค่าและความหมายสำหรับตัวเอง องค์กร และชุมชนของเราได้

bottom of page