top of page
  • รูปภาพนักเขียนUrbinner

Soft Skills คืออะไร? ทักษะเหล่านี้ช่วยพัฒนาบุคลากรในองค์กรขึ้นได้อย่างไร?

อัปเดตเมื่อ 10 มี.ค. 2565

Highlights

  • Soft skills คือ เป็นความสามารถของแต่ละบุคคลที่จะรับรู้ ดำเนินการ ประมวลผล ตอบสนองสิ่งต่างๆ อย่างสร้างสรรค์

  • Soft skills แตกต่างกับ hard skills ตรงที่ soft skills เป็นความสามารถของบุคคลในเรื่องงานที่ไม่เกี่ยวกับความสามารถเชิงเทคนิค

  • การพัฒนา soft skills ให้กับบุคลากร ควรพิจารณาจากความจำเป็น ความยั่งยืน แทนที่จะพัฒนาทุกทักษะพร้อมกัน เพื่อให้ได้รับประสิทธิภาพที่มากที่สุด

 

การพัฒนาบุคคลากรให้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของโลกในตอนนี้ไม่ได้จำกัดอยู่แค่ทักษะหรือความสามารถที่แต่ละคนมีเกี่ยวกับเรื่องงาน เพราะทักษะเกี่ยวกับเรื่องงานมีการเปลี่ยนแปลงเสมอ บุคลากรจึงต้องปรับตัวและพัฒนาทักษะอื่นๆ ให้องค์กรสามารถพร้อมรับมือกับความเปลี่ยนแปลงได้


Soft skills เป็นทักษะกลุ่มหนึ่งที่จำเป็นสำหรับบุคลากรที่จะช่วยทำให้องค์กรพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลง และมีการพัฒนาอยู่เสมอๆ Soft skills เป็นชุดทักษะที่มีความสำคัญไม่แพ้ Hard skills ซึ่งเป็นทักษะที่เกี่ยวข้องกับความรู้เชิงเทคนิค ในบทความนี้เราจะมาทำความเข้าใจเกี่ยวกับ soft skills และความสำคัญของทักษะเหล่านี้

เนื้อหาในบทความ


Soft Skills คืออะไร?

เราสามารถทำความเข้าใจเกี่ยวกับ soft skills ได้จากคำอธิบายสองอันนี้

  • Soft Skills คือ ความสามารถของบุคคลในเรื่องงานที่ไม่เกี่ยวกับความสามารถเชิงเทคนิค ซึ่งรวมไปถึงการมีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงาน การแก้ไขปัญหา หรือการบริหารจัดการด้วย

  • Soft Skills สามารถอธิบายได้อย่างถูกต้องมากขึ้น ว่า soft skills คือ ความสามารถของแต่ละบุคคลที่จะรับรู้ ดำเนินการ ประมวลผล ตอบสนองสิ่งต่างๆ อย่างสร้างสรรค์ ซึ่งรวมไปถึงการค้นหาวิธีการแก้ไขปัญหา ความขัดแย้ง และการมีปฏิสัมพันธ์ที่ดีกับคนอื่น


แม้ว่า soft skills จะไม่ใช่ความสามารถที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนั้นโดยตรง แต่ก็ส่งผลกระทบต่อการทำงานทางอ้อม และเป็นทักษะที่จำเป็นในการทำงานมากอีกด้วย


ความแตกต่างระหว่าง Soft Skills กับ Hard Skills

Hard skills คือ ความสามารถที่เกี่ยวข้องกับเทคนิค ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับกับเรื่องใดเรื่องหนึ่งโดยตรง โดยอาจเรียกว่าเป็นทักษะเชิงเทคนิคหรือ technical skills ก็ได้


ในขณะที่ soft skills เป็นความสามารถที่ไม่เกี่ยวข้องในเชิงเทคนิค การทำความเข้าใจ hard skills จะช่วยทำให้เราเข้าใจเกี่ยวกับ soft skills ได้มากขึ้น


ตัวอย่างของ soft skills และ hard skills

หากคุณเป็นหัวหน้าทีมการตลาดที่ดูแลเกี่ยวกับการโฆษณา คุณมีความรู้ความเข้าใจในเนื้อหาที่ดีมาก ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับการตลาดและการโฆษณาเหล่านี้เรียกว่า hard skills ในขณะที่ทักษะการแก้ไขปัญหา การทำงานเป็นทีม ความคิดสร้างสรรค์ ในการทำงานสิ่งเหล่านี้คือ soft skills


จะเห็นได้ว่าทักษะการแก้ไขปัญหา การทำงานเป็นทีม ความคิดสร้างสรรค์ ไม่ได้เป็นองค์ความรู้หรือประสบการณ์ตรงที่เกี่ยวข้องกับสาขาการตลาดหรือการโฆษณา แต่สิ่งเหล่านี้ก็เป็นสิ่งจำเป็นที่จะสามารถทำให้งานออกมาได้อย่างมีประสิทธิภาพ และมีคุณภาพ


หากไม่มี soft skills เหล่านี้ประกอบด้วย การทำงานจะเป็นไปด้วยความติดขัด และผลงานอาจมีคุณภาพอยู่ต่ำกว่ามาตรฐาน



Soft Skills สำคัญอย่างไร?

การมี soft skills จะช่วยทำให้การทำงานร่วมกันเป็นไปได้อย่างราบรื่น และแม้ว่าเราจะมีความรู้ความสามารถในการทำงานหรือ hard skills มากแค่ไหน แต่หากขาด soft skills แล้วสิ่งเหล่านั้นอาจไม่มีความหมาย

  • การทำงานร่วมกัน เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ การทำงานที่ดีร่วมกัน เกิดจากความเข้าในตัวคนอื่น ความเข้าใจในตัวเอง ซึ่งการทำงานที่ดีจะทำให้งานมีประสิทธิภาพมากขึ้น ในขณะที่การร่วมงานที่แย่จะทำไปสู่ความติดขัด และประสิทธิภาพของงานที่ลดลง

  • Soft skills คือสิ่งจำเป็นในบางตำแหน่ง ซึ่งตำแหน่งเหล่านี้มักจะเป็นตำแหน่งที่เกี่ยวข้องกับหน้าที่เช่นฝ่ายบุคลากรจำเป็นต้องมีทักษะระหว่างบุคคลและทักษะการสื่อสาร พนักงานต้องรู้ความเข้าใจของลูกค้าและฟังสิ่งที่ลูกค้าต้องการ นักออกแบบกราฟฟิคต้องมีความคิดสร้างสรรค์

  • Soft skills เป็นส่วนสำคัญในการสร้างที่ทำงานให้น่าอยู่ มีความปลอดภัยทางใจในที่ทำงาน (psychological safety) ซึ่งนำไปสู่บรรยากาศที่ดีของที่ทำงาน และวัฒนธรรมองค์กรที่มีคุณค่า


ตัวอย่างหนึ่งที่เป็นรายงานอย่างเป็นรูปธรรมของความสำคัญของ soft skills คือรายงานจาก Harvard Business โดย Porath and Pearson ซึ่งแสดงให้เห็นว่าหัวหน้า ที่มี soft skills ต่ำ เช่น ไม่มีทักษะในการสื่อสาร ไม่เห็นใจคนอื่น ดูใจร้าย จะเป็นหัวหน้าที่มีประสิทธิภาพต่ำตามไปด้วย


นอกจากนี้รายงานเกี่ยวกับพนักงานที่ต้องทำงานในที่ๆ มี soft skills ต่ำ อีกด้วย

  • 30% จะมีความคิดสร้างสรรค์น้อยลง เมื่อเขารู้สึกไม่ได้รับความเคารพ

  • 48% รู้สึกว่าความพยายามในการทำงานต่างๆ ลดลง

  • 38% ของประสิทธิภาพการทำงานลดลง


สิ่งเหล่านี้ทำให้เราสามารถเห็นได้ชัดเจนเลยว่า soft skills มีความสำคัญไม่แพ้ hard skills เลย



Soft Skills มีอะไรบ้าง?

ทักษะเกี่ยวกับ soft skills นั้นมีหลากหลายและกว้างขวางมากไม่ได้จำกัดอยู่ที่จำนวนใดจำนวนหนึ่ง แต่ละทักษะอาจมีสำคัญที่ส่งผลต่อการทำงานที่แตกต่างกัน โดย soft skills ที่นำเสนอมาเหล่านี้ได้นำมาจากบทความใน Harvard Business Review และ Forbes


หากคุณเป็นผู้ดูแลบุคลากรหรือฝ่ายทรัพยากรบุคคล คุณไม่จำเป็นที่จะต้องเลือกพัฒนา soft skills ทุกด้านให้กับบุคลากรในทันที เพราะอาจเป็นการสิ้นเปลืองงบประมาณมากเกินไป แต่ควรให้ความสำคัญกับ soft skills ที่สำคัญกับองค์กรก่อน


ความคิดสร้างสรรค์ (Creativity)

ตอนนี้เรากำลังอยู่ในยุคที่ AI และหุ่นยนต์ อาจทำหลายสิ่งได้แล้ว แต่ความคิดสร้างสรรค์เป็นสิ่งที่มนุษย์ยังมีความได้เปรียบ การมีความคิดสร้างสรรค์ไม่จำเป็นต้องเกี่ยวข้องกับเรื่องที่เป็นศิลปะเสมอไป แต่รวมไปถึงวิธีการแก้ไขปัญหาใหม่ๆ ด้วยเช่นกัน


ก่อนที่คุณจะตัดสินว่าบุคลากรขาดทักษะที่เกี่ยวข้องกับความคิดสร้างสรรค์ อาจต้องประเมินสภาพแวดล้อมของที่ทำงานด้วย เพราะหากสภาพแวดล้อมในที่ทำงานไม่เอื้ออำนวย เช่นมี psychological safety ต่ำ หรือเป็นทีมที่ไร้ประสิทธิภาพ (dsyfunctional team) ก็อาจทำให้บุคลากรไม่ได้แสดงออกถึงความคิดสร้างสรรค์ได้มากนัก ทั้งๆ ที่พวกเขามีความคิดสร้างสรรค์อยู่


ทักษะระหว่างบุคคล (Interpersonal skills)

เมื่อเราอยู่ร่วมกันก็จะเกิดการปฏิสัมพันธ์กัน การแลกเปลี่ยนความคิดระหว่างบุคคลและการใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันเป็นเรื่องที่มีความท้าทาย โดยเฉพาะเมื่อมีแต่บุคลากรเก่งๆ ในที่ทำงานที่มีความเชี่ยวชาญ


ทักษะระหว่างบุคคลเป็นทักษะที่เกี่ยวข้องกับหลายทักษะเช่น การเข้าใจและเห็นอกเห็นใจคนอื่น (empathy) ทักษะการฟังอย่างลึกซึ้ง (deep listening) การเข้าใจคุณค่าที่แต่ละคนให้ความสำคัญ หรือการเข้าใจบุคลิกภาพของคนที่แตกต่างกันด้วย



การเรียนรู้ด้วยตัวเอง (Active learning)

การเรียนรู้แบบ active learning คือความสามารถในการพัฒนาและสร้างทักษะใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นอย่างสม่ำเสมอ การเรียนรู้ด้วยตัวเองแบบ active learning จะช่วยทำให้เราสามารถเอาชนะปัญหา ความท้าทายได้ เรียนรู้จากความผิดพลาด ซึ่งการมี active learning อาจเกิดจาก growth mindset ซึ่งสิ่งนี้เป็นทักษะที่สำคัญในการทำงานปัจจุบันมาก


ทักษะความเป็นผู้นำ (Leadership skills)

ทักษะเกี่ยวกับการเป็นผู้นำยังคงเป็นเรื่องที่สำคัญในทุกๆ การทำงาน การเสริมสร้างทักษะความเป็นผู้นำบางครั้งอาจเกิดจากการสลับบทบาทบ้าง ให้แต่ละคนได้มีโอกาสเป็นผู้นำในเรื่องต่างๆ โดยเฉพาะงานที่มีลักษณะเป็น project ซึ่งต้องอาศัย project team ในการทำงาน


การมีทักษะการเป็นผู้นำในบุคลากรจะช่วยทำให้ภาพรวมขององค์กรขับเคลื่อนไปได้เร็วมากขึ้น โดยไม่ต้องรอเฉพาะหัวหน้าหรือผู้จัดการเพียงคนเดียวก่อนที่จะขับเคลื่อนอะไรในองค์กร หัวหน้าที่ดีจะมีทักษะเกี่ยวกับความตระหนักรู้ภายในหรือ self-awareness ด้วยเพื่อที่เท่าทันสิ่งที่เกิดขึ้นกับตัวเอง และเข้าใจตัวเองในมิติต่างๆ ด้วย



การตัดสินใจ (Decision making)

ทักษะการตัดสินใจเกิดจากการรวบรวมข้อมูลในสถานการณ์ และประมวลผลข้อมูลเหล่านั้นก่อนที่จะตัดสินใจออกมาได้อย่างดีที่สุด ทักษะการตัดสินใจเป็นสิ่งที่สำคัญโดยเฉพาะการตัดสินใจแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า ซึ่งมีความจำเป็นในหลายสถานการณ์


การตัดสินใจในยุคสมัยใหม่มักเกิดขึ้นร่วมกับการมองเห็นข้อมูล และจัดระเบียบข้อมูลร่วมด้วย ซึ่งสิ่งนี้เป็นสิ่งที่ AI หรือ หุ่นยนต์ทำไม่ได้ เนื่องจากบางสถานการณ์มีความซับซ้อนสูง และไม่มีใครรู้ว่าอะไรคือปัจจัยที่ควรจะต้องนำมาคำนวณเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีได้


การทำงานร่วมกัน (Collaboration Skills)

ทักษะการทำงานร่วมกันเป็นทักษะที่ขาดไม่ได้ มันจะสร้างความยุ่งยากและความลำบากให้กับองค์กรมาก หากพนักงานไม่รู้วิธีที่จะทำงานร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ มีปัญหาระหว่างการพูดคุยแต่ละครั้ง มากไปกว่านั้นหลายครั้งที่ทีมเป็นทีมที่ไม่มีประสิทธิภาพในการทำงาน (Dsyfunctional team) ซึ่งทำให้การทำงานไม่มีประสิทธิภาพตามไปด้วย


การเรียนรู้เรื่องบุคลิกภาพและสไตล์การสื่อสารสามารถช่วยทำให้เกิดการทำงานร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพได้ โดยวิธีการพัฒนาการทำงานร่วมกันอาจต้องอาศัยเครื่องมือต่างๆ เช่น MBTI หรือบุคลิกภาพ 16 แบบ ที่จะช่วยทำให้แต่ละคนในทีมเข้าใจความแตกต่างของสไตล์การทำงาน วิธีการตัดสินใจ วิธีการมองโลก และสามารถปรับตัวทำงานเข้าหากันได้มากยิ่งขึ้น



การเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ (Learning Skills)

มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วตลอดเวลาในยุคนี้ จนทำให้อีกหนึ่งทักษะที่ขาดไม่ได้คือการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ เช่นเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลง ช่องทางการสื่อสารที่เปลี่ยนแปลงไป องค์กรที่ขาดทักษะการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ จะค่อยๆ หายไปอย่างไม่รู้ตัว


การเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ อาจเริ่มต้นได้ด้วยการมองเห็นตัวเองว่าเรามีสไตล์การเรียนรู้เป็นแบบไหน บางคนอาจเรียนรู้ได้ดีจากการพูดคุยกับผู้รู้ จากการอ่าน หรือการลงมือทำ นอกจากนั้นแต่ละคนจะมีสิ่งที่ต้องใช้ความพยายามในการเรียนรู้ที่แตกต่างกันตามความถนัด เหมือนบางคนที่สามารถเรียนรู้เรื่องภาษาได้ง่าย โดยไม่ต้องใช้ความพยายามมาก แต่บางคนการเรียนภาษาอาจเป็นเรื่องยากสำหรับเขา


การค่อยๆ พัฒนาทักษะด้านการเรียนรู้จะช่วยทำให้องค์กรสามารถใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ ได้โดยใช้ระยะเวลาที่สั้นลงเรื่อยๆ อาศัยการสนับสนุนภายนอกน้อยลง ซึ่งทีมที่มีการเรียนรู้อยู่เสมอจะสามารถรับมือกับการเปลี่ยนแปลงได้ง่าย


การคิดโดยมีเป้าหมายเป็นศูนย์กลาง (Goal-centric thinking)

กระบวนการคิดที่มีเป้าหมายเป็นศูนย์กลางไม่ใช่เรื่องใหม่ มันคือการมองปัญหา หรือวิธีการแก้ไขที่ตอบโจทย์คุณค่า หรือความต้องการที่แท้จริง ซึ่งกระบวนการคิดนี้ไม่จำเป็นต้องเกิดขึ้นกับนักพัฒนาผลิตภันฑ์เพียงคนเดียวเท่านั้น แต่ยังสามารถเกิดขึ้นกับทุกคนในทีมหรือในองค์กรได้ด้วย


ตัวอย่างเช่นการแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับความยุ่งยากในการใช้เทคโนโลยีในโทรศัพท์ smart phone และ tablet ที่สมัยก่อนการใช้เทคโนโลยีเป็นเรื่องที่ดูเหมือนยากลำบาก เพราะต้องมีความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีจำนวนมาก แต่ smart phone และ tablet ก็สามารถทำให้การใช้งานสิ่งเหล่านั้นเป็นเรื่องง่ายขึ้น จนทุกคนสามารถใช้ได้


การคิดโดยมีเป้าหมายเป็นศูนย์กลางจะทำให้เรามองเห็นสิ่งที่ควรจะได้รับการแก้ไขจริงๆ และเป็นประเด็นหลัก มากกว่าสิ่งอื่นๆ ที่น่าสนใจแต่ไม่ใช่ประเด็นปัญหาหลัก


การสื่อสาร (Communication Skills)

ทักษะการสื่อสารในที่นี้ไม่ได้หมายถึงการพูดเก่ง แต่ยังหมายถึงการฟัง และการรับรู้ความแตกต่างระหว่างบุคคล บุคลิกภาพด้วย บางครั้งการสื่อสารอาจไม่ได้หมายถึงการพูดในสถานการณ์ปกติ แต่เป็นการสื่อสารที่เกิดขึ้นในสถานการณ์ที่มีความเปราะบาง


ตัวอย่างของการสื่อสารอันหนึ่งคือความเข้าใจในแต่ละบุคคลในสถานการณ์นั้นๆ เช่น การชื่นชมบางคนที่แสดงถึงความหวังดีอาจไม่เกิดประสิทธิภาพ เพราะแต่ละคนมีภาษารักที่แตกต่างกัน เป็นต้น ในขณะเดียวกันสำหรับผู้ฟังที่สามารถเข้าใจความแตกต่างระหว่างการสื่อสาร ก็จะสามารถทำความเข้าใจจุดประสงค์ที่แท้จริงของผู้สื่อสารได้



Soft skills เหล่านี้เป็นเพียงตัวอย่างของทักษะที่มีความจำเป็นในยุคปัจจุบันนอกจากทักษะเชิงเทคนิค ยังมีทักษะอีกมากมายที่ไม่เกี่ยวข้องกับความสามารถเชิงเทคนิคแต่ก็มีบทบาทสำคัญในการทำงานเช่น การสะท้อนตัวเอง (self-reflection) การเท่าทันตัวเอง (self-awareness) การเข้าใจตัวเอง หรือทักษะระหว่างบุคคล (interpersonal) เป็นต้น


การพัฒนาทักษะเหล่านี้ให้กับบุคลากรในองค์กร อาจพิจารณาถึงความจำเป็น ความยั่งยืน ประสิทธิภาพในการทำงานร่วมกัน และบรรยากาศที่เอื้ออำนวยต่อการทำงานในองค์กร ซึ่งแต่ละองค์กรจะพบกับปัญหาที่ีแตกต่างกันออกไป และไม่ได้มีองค์กรไหนที่พบปัญหาเดียวกันอย่างร้อยเปอร์เซ็นต์ ดังนั้นการค่อยๆ หาทางออก จึงเป็นวิธีที่ดีกว่าการพยายามหาวิธีการแก้ไขอย่างสำเร็จรูป


แหล่งอ้างอิงและข้อมูลเพิ่มเติม

 

Urbinner เป็นพื้นที่ที่ให้บุคคลทั่วไปและองค์กรได้เรียนรู้ความสุขที่มั่นคง โดยทีมนักจัดกระบวนการจะพาคุณไปเรียนรู้ทักษะที่นำไปสู่การเข้าใจตัวเอง มีความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างบุคคล การตระหนักรู้และเติบโตร่วมกัน เพื่อให้ทุกคนสามารถทำในสิ่งที่มีคุณค่าและความหมายสำหรับตัวเอง องค์กร และชุมชนของเราได้

Facebook group Banner.jpg
bottom of page