top of page
  • รูปภาพนักเขียนUrbinner

ทฤษฎีลำดับขั้นความต้องการของมาสโลว์ (Maslow's Hierarchy of Needs)

อัปเดตเมื่อ 16 ต.ค. 2564

Highlights

  • มนุษย์จะมีพฤติกรรมและการแสดงออกจากความต้องการตามลำดับขั้น

  • ลำดับขั้นของความต้องการไม่จำเป็นที่จะต้องตายตัว สามารถเปลี่ยนแปลงและยืดหยุ่นได้ตามปัจจัยภายนอก และความแตกต่างระหว่างบุคคล

  • พฤติกรรมต่างๆ ของมนุษย์มักจะเกิดขึ้นจากความต้องการมากกว่าหนึ่งอย่างร่วมกัน มากกว่าเกิดจากความต้องการใดเพียงด้านเดียว

 

อะไรเป็นแรงจูงใจให้มนุษย์คนหนึ่งทำอะไรบางอย่าง? คำถามนี้เป็นคำถามที่เกิดขึ้นและมีหลากหลายคนที่พยายามหาคำตอบ หนึ่งในคำตอบที่ได้รับความนิยมและแพร่หลายคือ ทฤษฎีลำดับขั้นความต้องการของมาสโลว์ ซึ่งจะอธิบายเกี่ยวกับความต้องการของมนุษย์ ซึ่งเป็นสาเหตุของแรงจูงใจในการทำสิ่งต่างๆ



เนื้อหาในบทความ


ทฤษฎีลำดับขั้นความต้องการของมาสโลว์ (Maslow's Hierarchy of Needs) คืออะไร?

ทฤษฎีลำดับขั้นความต้องการของมาสโลว์ คือ แนวคิดทางจิตวิทยาที่เสนอว่า มนุษย์จะถูกกระตุ้นให้เติมเต็มความต้องการขั้นพื้นฐานในลำดับต้นก่อนที่จะมีพัฒนาความต้องการนี้ออกไปจากด้านล่างสู่ด้านบน ซึ่งคือความต้องการด้านต่างๆ ดังนี้

โดยทฤษฎีนี้เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย ซึ่งเกิดจากนักจิตวิทยาชื่อ อับราฮัม มาสโลว์ (Abraham Maslow) ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1943 ในงานเขียนชื่อ A Theory of Human Motivation และในหนังสือชื่อ Motivation and Personality


ความต้องการของมนุษย์รูปแบบต่างๆ ตามทฤษฎีของมาสโลว์

ทฤษฎีลำดับขั้นความต้องการของมาสโลว์ (Maslow's Hierarchy of Needs)
ทฤษฎีลำดับขั้นความต้องการของมาสโลว์ (Maslow's Hierarchy of Needs)

ทฤษฎีลำดับขั้นความต้องการของมาสโลว์มักจะถูกแสดงด้วยรูปภาพพีระมิด ซึ่งสิ่งที่อยู่ล่างสุดคือความต้องการขั้นพื้นฐานมากที่สุด และลำดับที่สูงขึ้นจะเป็นความต้องการที่มีความซับซ้อนขั้นจนถึงยอดของพีระมิด ความต้องการที่อยู่ด้านล่างจะต้องถูกเติมเต็มก่อนที่มนุษย์จะมีความสนใจความต้องการในขั้นถัดไป


ความต้องการด้านกายภาพ (Physiological Needs)

ความต้องการทางกายภาย
ความต้องการทางกายภาย

เป็นความต้องการขั้นพื้นฐานของมนุษย์เพื่อที่จะดำรงชีวิตอยู่ได้เช่น

  • อาหาร

  • น้ำ

  • อากาศ

  • การนอนหลับ

นอกจากนี้ยังรวมไปถึงสิ่งพื้นฐานอื่นๆ เช่น ที่พักหลบภัย เครื่องนุ่มห่ม สารอาหารที่เหมาะสม และมาสโลว์ยังรวมการสืบพันธุ์ด้วย เพราะการสืบพันธุ์เป็นการเอาชีวิตรอดของเผ่าพันธ์


ความต้องการด้านความมั่นคง ปลอดภัย (Safety and Security Needs)

ความต้องการด้านความมั่นคง ปลอดภัย
ความต้องการด้านความมั่นคง ปลอดภัย

ความต้องการในลำดับนี้จะมีความซับซ้อนมากขึ้น มนุษย์อยากจะควบคุมและดูแลสิ่งต่างๆ ในชีวิต ดังนั้นความปลอดภัยและความมั่นคงจึงเป็นสิ่งที่สำคัญ โดยตัวอย่างของความต้องการด้านนี้คือ

  • ความมั่นคงทางการเงิน

  • ความปลอดภัยของสุขภาพ

  • ความปลอดภัยจากอุบัติเหตุ การบาดเจ็บ

  • ความปลอดภัยทางอารมณ์ เช่น การไม่เศร้าเสียใจ ไม่ร้อนใจ วิตกกังวล หรือสภาวะที่เป็นลบ

  • ความมั่นคงทางในการมีชีวิตที่ดี

เพราะเราต้องการคาดเดาว่าอะไรจะเกิดขึ้นอย่างที่มันเป็นไป เราไม่ชอบความเสี่ยงที่ดูแล้วเป็นไปได้ไม่ดี


ความต้องการด้านความรัก หรือการเป็นเจ้าของ (Love/Sense of Belongings)

ความต้องการด้านความรัก หรือการเป็นเจ้าของ
ความต้องการด้านความรัก หรือการเป็นเจ้าของ

มีควาสัมพันธ์ที่ดี ได้รับความรัก หรือรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่ม ความต้องการนี้เป็นความต้องการที่เกี่ยวข้องกับอารมณ์ ความรู้สึก ซึ่งเป็นความต้องการทางด้านสังคม (Social Needs) โดยที่สภาวะอารมณ์ ความสัมพันธ์เหล่านี้จะกระตุ้นให้เกิดพฤติกรรมต่างๆ ตามมา

  • เพื่อน

  • ความรักในเชิงโรแมนติก

  • ครอบครัว

  • ความเป็นกลุ่ม

  • ความเชื่อใจและความสนิท

ความต้องการในขั้นนี้ยังรวมไปถึง การเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มต่างๆ เช่น เพื่อนร่วมงาน ครอบครัว กลุ่มทางศาสนา ด้วยเช่นกัน


ความต้องการด้านความเคารพ (Esteem Needs)

ความต้องการด้านความเคารพ
ความต้องการด้านความเคารพ

ความต้องการด้านความเคารพเกิดขึ้นเมื่อความต้องการด้านอื่นๆ ได้รับการตอบสนองแล้ว ในระดับนี้เราจะต้องการความเคารพนับถือจากคนอื่น ซึ่งสามารถแบ่งออกเป็น

  • ความต้องการที่จะเป็นใครสักคน หรือมีความภูมิใจ เกิดความความเชี่ยวชาญในทักษะต่างๆ

  • ความต้องการที่จะได้รับการเคารพจากคนอื่น เช่น การมีชื่อเสียง ศักดิ์ศรี

ความต้องการด้านนี้ยังรวมไปถึงสิ่งต่างๆ เช่น ความรู้สึกมีคุณค่า หรือ self-esteem เช่นกัน คนที่สามารถตอบสนองความต้องการด้านความเคารพจะมีความรู้สึกมั่นใจในความสามารถของตนเอง


ในขณะที่คนที่ขาด self-esteem และการเคารพจากคนอื่นๆ อาจทำให้เกิดความรู้สึกด้อยค่ากว่าคนอื่น ซึ่งมาสโลว์กล่าวว่าความต้องการการยอมรับนี้เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดในเด็กและวัยรุ่น


การบรรลุความหมาย หรือความสมบูรณ์ของชีวิต (Self-Actualization)

การบรรลุความหมาย หรือความสมบูรณ์ของชีวิต
การบรรลุความหมาย หรือความสมบูรณ์ของชีวิต

เป็นสิ่งที่อยู่สูงสุดในระดับของความต้องการตามทฤษฎีของมาสโลว์ ซึ่งมันหมายถึงการตระหนักในความสามารถของคนๆ หนึ่ง ความต้องการที่จะเป็นในสิ่งที่คนๆ หนึ่งสามารถเป็นได้ เป็นสิ่งที่มีความเฉพาะเจาะจงเช่น คนๆ หนึ่งถูกเติมเต็มจากตัวเองในการทำบางอย่างให้ดีที่สุด เป็นการบรรลุศักยภาพของตัวเอง และพัฒนาตัวเองเช่น

  • บางคนอาจต้องการเป็นพ่อแม่ในอุดมคติ

  • บางคนอาจต้องการมีความเป็นเลิศด้านกีฬา

  • บางคนอาจต้องการใช้ความคิดสร้างสรรค์ ประดิษฐ์ วาดภาพ อย่างเต็มศักยภาพ


ประเภทของความต้องการ

ความต้องการทั้ง 5 นี้สามารถแบ่งได้เป็น 2 กลุ่ม

  • Deficiency needs (D-needs) คือ ความต้องการสี่อันแรกคือ ความต้องการด้านกายภาพ, ความปลอดภัย/ความมั่นคง, ความรัก/การเป็นเจ้าของ และความเคารพ

  • Being needs or growth needs (B-needs) คือความต้องการด้านการบรรลุความหมายภายใน หรือความสมบูรณ์ของชีวิต (Self-actualization)


Deficiency Needs

Deficiency needs (D-needs) เป็นความต้องการที่เกิดขึ้นเมื่อมีความขาด และจะจูงใจให้มนุษย์ทำอะไรบางอย่างเมื่อมันไม่ได้รับการตอบสนอง ความต้องการในกลุ่มนี้จะเพิ่มขึ้นและยาวนานขึ้นหากมันถูกปฏิเสธ เช่น หากคุณอยู่ในสภาวะที่ขาดแคลนอาหาร คุณจะรู้สึกหิวมากยิ่งขึ้นและต้องการกินมากขึ้น


Being Needs or Growth Needs

Being needs (B-needs) เป็นความต้องการที่ไม่ได้เกิดขึ้นจากการขาดอะไรบางอย่าง แต่เป็นความต้องการ ความปราถนาของมนุษย์ที่จะเติบโต และครั้งหนึ่งที่ความต้องการในการเติบโตนี้ได้รับความพอใจแล้ว เราจะไปถึงความต้องการระดับสูงสุดคือ Self-actualization


ทฤษฎีความต้องการของมาสโลว์ ได้บอกไว้ว่าเราจะต้องได้รับความพึงพอใจในความต้องการ Deficiency needs (D-needs) ก่อนที่จะได้รับความต้องการ Being needs (B-needs)


การเสนอเพิ่มเติมของทฤษฎีความต้องการของมาสโลว์

มาสโลว์ (Maslow) มีการพัฒนาทฤษฎีลำดับขั้นความต้องการเป็นช่วงระยะเวลานาน (เช่นงานตั้งแต่ปี ค.ศ. 1943 และยังมีการพัฒนาในลำดับถัดมาเช่นปี ค.ศ. 1962 หรือ ค.ศ. 1987)ทำให้หลายครั้งที่อาจเกิดความเข้าใจผิดเกี่ยวกับทฤษฎีของเขา


ในปี ค.ศ. 1987 มาสโลว์ได้กล่าวว่าลำดับขั้นในทฤษฎีความต้องการไม่จำเป็นต้องตายตัว ซึ่งสามารถยืดหยุ่นได้ตามสภาพแวดล้อม ปัจจัยภายนอก และความแตกต่างระหว่างบุคคล เช่นในบางคน self-esteem อาจสำคัญมากกว่า หรือบางคนการทำงานสร้างสรรค์ในอยู่ในหมวดหมู่ self-actualization อาจเกิดขึ้นมากกว่าความต้องการพื้นฐานอื่นๆ


ความพอใจในความต้องการแต่ละขั้นนั้นไม่ได้เกิดขึ้นในสภาวะที่มีพร้อมทุกอย่างหรือไม่มีเลย (all or none) นั่นหมายความว่ามันไม่จำเป็นที่จะต้องได้รับความพอใจ 100 เปอร์เซ็นต์ในความต้องการพื้นฐานแต่ละขั้น ก่อนที่ความต้องการขั้นถัดไปจะปรากฏขึ้น



ความต้องการในแต่ละขั้นนี้ไม่ได้เป็นไปในทิศทางที่สูงขึ้น พัฒนาขึ้นเรื่อยๆ เพียงอย่างเดียว แต่มันอาจมีโอกาสที่จะลดลงมาด้วยก็ได้จากเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นเช่น การอย่าร้าง การตกงาน เป็นต้น


นอกจากนี้พฤติกรรมต่างๆ ที่เกิดขึ้นเกิดจาก การได้รับแรงจูงใจในหลายๆ อย่างไม่จำเป็นที่จะต้องเกิดจากความต้องการในลำดับขั้นต่างๆ เพียงอย่างเดียว และมากไปกว่านั้นพฤติกรรมต่างๆ มักจะเกิดจากความต้องการพื้นฐานหลายๆ อย่างพร้อมกันมากกว่าจะขับเคลื่อนด้วยความต้องการเพียงอย่างเดียว



การวิจารณ์ทฤษฎีลำดับขั้นความต้องการของมาสโลว์ (Maslow's Hierarchy of Needs)

แม้ว่าทฤษฎีลำดับขั้นความต้องการของมาสโลว์จะได้รับความนิยมและแพร่หลายไปจำนวนมาก แต่ก็มีผู้ที่วิจารณ์ทฤษฎีนี้อยู่ โดยการวิจารณ์ข้อผิดพลาดในสองประเด็นคือ

  • ความต้องการต่างๆ ไม่จำเป็นต้องเป็นไปตามลำดับขั้น โดยงานวิจัยจาก Wahba และ Bridwell ที่ระบุว่ามีหลักฐานไม่มากที่จะบอกว่าความต้องการเป็นไปอย่างเป็นลำดับขั้นในทฤษฎี

  • ทฤษฎีนี้ยากที่จะทำการทดสอบ ในคำนิยามของเขาเกี่ยวกับ self-actualization เป็นคำนิยามที่จำกัดมากในกลุ่มคน มีความเฉพาะในบุคคล ทำให้ยากที่จะทดสอบทางวิทยาศาสตร์

ประโยชน์และการประยุกต์ทฤษฎีลำดับขั้นความต้องการของมาสโลว์

ตัวอย่างของการใช้ประโยชน์ในทฤษฎีนี้ในวงกว้างเช่น

  • การตลาด ทำให้เข้าใจความต้องการและแรงจูงใจของลูกค้า ทราบความต้องการของลูกค้าว่าจะต้องมีเงื่อนไขอะไรก่อน และลูกค้ามาอย่างน้อยน่าจะได้รับการเติมเต็มในความต้องการขั้นไหนบ้าง

  • การศึกษา ทฤษฎีนี้ทำให้การศึกษาได้ให้ความสนใจกับบริบทอื่นนอกเหนือจากหลักสูตรมากขึ้นเช่น หากนักเรียนหิวข้าว อาจทำให้ไม่สามารถเรียนรู้ได้อย่างเต็มที่ เพราะความต้องการพื้นฐานยังไมไ่ด้รับการเติมเต็ม นอกจากนี้นักเรียนควรได้รับความปลอดภัย และความมั่นคงทางอารมณ์ก่อนที่จะเรียนรู้ได้อย่างเต็มศักยภาพ

  • ธุรกิจ ทฤษฎีนี้ได้รับการประยุกต์ใช้ในภาคธุรกิจในหลายมิติเช่น การดูแลบุคลากรโดยการเติมเต็มความต้องการขั้นต่างๆ ของบุคลากรได้สามารถช่วยให้คุณภาพชีวิตของบุคลากรดีขึ้น และทำงานได้อย่างมีความสุขมากขึ้น



แหล่งอ้างอิงและข้อมูลเพิ่มเติม

  • https://www.verywellmind.com/what-is-maslows-hierarchy-of-needs-4136760

  • https://www.simplypsychology.org/maslow.htm

 

Urbinner เป็นพื้นที่ให้ทุกคนได้เติบโตจากการเรียนรู้ในทุกช่วงเวลาของชีวิต โดยทีมนักจัดกระบวนการจะพาคุณไปเรียนรู้ทักษะที่นำไปสู่การเข้าใจตัวเอง สร้างความสัมพันธ์ที่ดี และการตระหนักรู้ร่วมกัน เพื่อให้ทุกคนสามารถทำในสิ่งที่มีคุณค่าและความหมายสำหรับตัวเอง องค์กร และชุมชนของเราได้

ดู 300,372 ครั้ง0 ความคิดเห็น
Facebook group Banner.jpg
bottom of page