top of page
  • รูปภาพนักเขียนUrbinner

MBTI แบบทดสอบบุคลิกภาพ 16 แบบคืออะไร? มีทฤษฎีมาจากที่ไหน?

อัปเดตเมื่อ 14 ก.พ. 2565

Highlights

  • MBTI หรือ Myers-Briggs Type Indicator คือ เครื่องมือทางบุคลิกภาพที่ช่วยบ่งชี้ลักษณะบุคลิกภาพ จุดแข็ง รวมทั้งกระบวนการทางด้านจิตใจ (mental process) ที่แต่ละคนถนัด

  • เริ่มแรก MBTI มีที่มาและได้รับการพัฒนาจาก Psychologische Typen โดยนักจิตวิทยาชื่อ Carl G. Jung ในปี ค.ศ. 1921 และได้รับการพัฒนาต่อโดย Briggs และ Isabel Myers

  • ทฤษฎีของ MBTI มากจากความถนัด 4 ด้าน Extraversion/Introversion, Sensing/Intuition , Thinking/Feeling และ Judging/Perceiving เมื่อนำมาเรียงกันแล้วจะเป็น ตัวอักษร 4 ตัวอีกษรซึ่งบ่งบอกถึงบุคลิกภาพ

  • การประยุกต์ใช้ MBTI ได้รับความนิยมในการพัฒนาตัวเอง การรู้จักตัวเอง การลดความขัดแย้งในครอบครัว และการทำงานร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ

 

เนื้อหาในบทความ


MBTI คืออะไร?

MBTI (Myers-Briggs Type Indicator) คือ เครื่องมือทางบุคลิกภาพที่ช่วยบ่งชี้ลักษณะบุคลิกภาพ จุดแข็ง รวมทั้งกระบวนการทางด้านจิตใจ (mental process) ที่แต่ละคนถนัดเช่น การตัดสินใจ การรับรู้ข้อมูล ซึ่งความถนัดของกระบวนการทางด้านจิตใจนี้จะมีอยู่ทั้งหมด 4 ด้าน ซึ่งจะทำให้เกิดเป็นลักษณะของบุคลิกภาพที่แตกต่างกันออกไปเป็นบุคลิกภาพทั้ง 16 แบบ โดยแสดงออกเป็นตัวอักษร 4 ตัว (ISTJ, ISTP, ISFJ, ISFP, INFJ, INFP, INTJ, INTP, ESTP, ESTJ, ESFP, ESFJ, ENFP, ENFJ, ENTP, ENTJ)


ตัวอักษรทั้ง 4 ตัวเหล่านี้จะแสดงถึงวิธีการที่แต่ละคนถนัดในการรับข้อมูล การตัดสินใจ ทิศทางของความสนใจ และวิธีการรับมือกับโลกภายนอก ซึ่งความถนัดในกระบวนการทางด้านจิตใจที่แตกต่างกันเหล่านี้จะส่งผลให้แต่ละคนให้ความสำคัญกับเรื่องแตกต่างกัน มีวิธีการตอบสนองต่อสิ่งต่างๆ แตกต่างกัน และมีการแสดงออกแตกต่างกัน


โดยในเวิร์คช็อปในเวิร์คช็อป MBTI: 16 Personality types ของเราจะพาคุณไปทำความเข้าใจความถนัดและตัวอักษรเหล่านี้ เพื่อค้นหาบุคลิกภาพของคุณ และเข้าใจความแตกต่างของคนในความถนัดแต่ละแบบ



การรู้จักบุคลิกภาพ 16 แบบหรือ MBTI มีประโยชน์อย่างไร?

เราไม่เข้าใจศักยภาพในตัวเอง จนบางครั้งเราอยากที่จะมีศักยภาพเหมือนคนอื่น หรือต้องการให้คนอื่นคิดในแบบฉบับของเรา ทำตามแบบฉบับของเราจนเกิดเป็นความขัดแย้ง


เพราะเราไม่เคยรู้ว่าความแตกต่างกันทางกระบวนการคิด (mental process) นั้นส่งผลให้แต่ละคนใช้ชีวิตแตกต่างกันอย่างไร? หลายคนที่มีบุคลิกภาพแตกต่างจากครอบครัว สังคมและวัฒนธรรมที่ตัวเองเติบโต พยายามฝืนตัวเองเพื่อเป็นไปตามในแบบของสังคม สิ่งเหล่านั้นอาจทำให้พวกเขาสับสนหรือทำให้เกิดปัญหาขึ้นมาได้


การเรียนรู้เรื่อง MBTI จะช่วยทำให้คุณมีความเข้าใจตัวเองจากการทำความเข้าใจกระบวนการทางความคิดที่แต่ละคนถนัด และทำให้สามารถเกิดพัฒนาตัวเองในด้านที่ตนเองไม่ค่อยถนัด รู้จักวิธีการพักผ่อนที่เหมาะกับตัวเอง และรูปแบบจุดอ่อน จุดแข็งที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงได้

  • สร้าง self-awareness ซึ่งเป็นส่วนสำคัญของภาวะผู้นำ

  • ใช้ประกอบกับการเลือกเส้นทางสายอาชีพ งานที่เหมาะสมกับตัวเอง

  • รู้จักความแตกต่างของแต่ละบุคคล และการดูแลแต่คนให้เหมาะสมกับบุคลิกภาพ

  • รู้จักวิธีการการสื่อสารให้เหมาะสม

  • รู้วิธีการจัดการสภาวะต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับตัวเองเช่น ความเครียด ได้ดีขึ้น


มากไปกว่านั้นปัญหาที่เกิดขึ้นจากการอยู่ร่วมกันไม่ว่าจะเป็นครอบครัว เพื่อนร่วมงาน หรือลูกน้อง มักจะเกิดจากการไม่เข้าใจกันว่าแต่ละคนมีลักษณะบุคลิกภาพที่แตกต่างกัน มีวิธีการมองโลกที่แตกต่างกัน และมีวิธีการเข้าถึงความต้องการที่แตกต่างกัน จนกระทบความสัมพันธ์ถึงขั้นแตกแยก หรือไม่สามารถทำงานร่วมกันได้ในที่สุด


การรู้จักบุคลิกภาพทั้ง 16 แบบสามารถช่วยทำให้เกิดความเข้าใจความเข้าระหว่างกัน (Empathy) ซึ่งจะช่วยให้เกิดความเข้าใจเมื่ออยู่ร่วมกันกับคนอื่น และช่วยทำให้แต่ละคนสามารถทำงานร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพได้ในที่สุด


ประวัติและที่มาของ MBTI

MBTI หรือ Myers-Briggs Type Indicator มีที่มาจากงานเขียนของ Psychologische Typen โดยนักจิตวิทยาชื่อ Carl G. Jung ในปี ค.ศ. 1921 และได้รับการพัฒนาต่อโดย Katherine Briggs และ Isabel Byers เพื่อให้ทฤษฎีของ Carl G. Jung สามารถเข้าถึงคนในวงกว้างได้ง่ายขึ้น จนกลายเป็น Myers-Briggs Type Indicator ที่ประกอบด้วยตัวอักษร 4 ตัวและบุคลิกภาพทั้ง 16 แบบในที่สุด


MBTI หรือ Myers-Briggs Type Indicator ได้ถูกใช้งานครั้งแรกตั้งแต่ปี ค.ศ. 1962 โดย Educational Testing Service (ETS) ซึ่งในเวลานั้นผู้ใช้งานส่วนใหญ่เป็นนักวิจัย และหลังจากนั้น หลังจากนั้น MBTI ได้ รับการพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง โดยนักวิจัยอีกหลายคนเช่น Mary H. Mccaulley, Naomi L. Quenk, Allen L. Hammer และ Mark S. Majors จนได้รับการแปลมากกว่า 20 ภาษาในปี 2012


หลักการและทฤษฎีเบื้องต้นของบุคลิกภาพ 16 แบบใน MBTI

หลักการเบื้องต้นของทฤษฎีบุคลิกภาพทั้ง 16 แบบใน MBTI นั้นเกิดจากความถนัดในกระบวนการทางจิตใจ 4 ลักษณะ นั่นคือ

ซึ่งลักษณะของบุคลิกภาพทั้ง 16 แบบนั้นจะเกิดจากการรวมกันของตัวอักษรในด้านที่เรามีความถนัดมากกว่า จนกลายเป็นตัวอักษรทั้ง 16 รูปแบบ (ISTJ, ISTP, ISFJ, ISFP, INFJ, INFP, INTJ, INTP, ESTP, ESTJ, ESFP, ESFJ, ENFP, ENFJ, ENTP, ENTJ) ซึ่งแสดงถึงบุคลิกภาพนั้นๆ


โดยคำถามในแบบทดสอบบุคลิกภาพทั้ง 16 แบบหรือ MBTI ที่เราเคยเห็นนั้นจะเป็นตัวช่วยในการค้นหาความถนัดของแต่ละคนใน 4 ด้าน ซึ่งเป็นการนำความถนัดในแต่ละแบบมาแปลข้อมูลให้เป็นคำถามเพื่อช่วยให้เราค้นหาบุคลิกภาพของเราได้ แต่แบบทดสอบเหล่านั้นอาจไม่สามารถสะท้อนและบ่งบอกสิ่งที่เราเป็นได้ทั้งหมด เพราะพฤติกรรมของมนุษย์มีความซับซ้อนมากเกินกว่าที่จะสร้างชุดคำถามมาเพื่อบ่งชี้แต่ลักษณะของแต่ละคนได้ ดังนั้นวิธีการค้นหาบุคลิกภาพของตัวเองจะต้องเรียนรู้เรื่องความถนัดเหล่านี้ประกอบ เพื่อที่จะทำให้เกิดความแม่นยำในการค้นพบและทำความเข้าใจกับบุคลิกภาพของตัวเองได้มากที่สุด


Extraversion (E) – Introversion (I)

การจะระบุว่าคุณมีความถนัดแบบ Introvert หรือ Extrovert นั้นมาจากทิศทางที่เราชอบใช้พลังงานไปและทิศทางการให้ความสนใจที่ทำให้เรารู้สึกมีพลัง โดยที่

  • Extroversion จะมีทิศทางการใช้พลังงานไปกับสิ่งภายนอก และรู้สึกได้รับพลังเมื่อให้ความสนใจไปที่สิ่งภายนอก

  • Introversion จะมีทิศทางการใช้พลังงานไปกับสิ่งภายใน และรู้สึกได้รับพลังเมื่อได้ใช้เวลาไปกับสิ่งที่เกิดขึ้นภายใน

การเป็น Introvert หรือ Extrovert เป็นความถนัดในการใช้พลังงานและรับพลังงาน ซึ่งไม่ได้หมายความว่าเมื่อคุณเป็น Introvert แล้วคุณจะไม่สามารถใช้ชีวิตอยู่กับสิ่งภายนอกได้อย่างมีคุณภาพ นอกจากนี้ยังไม่ได้หมายถึงว่าหากคุณเป็น Extrovert แล้วคุณจะไม่สามารถใช้เวลาอยู่กับตัวเองได้แบบที่ Introvert ส่วนใหญ่มักจะเป็นแบบนั้น



Sensing (S) – Intuition (N)

Sensing (S) หรือ Intuition (N) คือวิธีการในการรับข้อมูลที่เราถนัด โดยที่

  • Sensing (S) จะถนัดในการรับข้อมูลที่เกี่ยวกับข้อเท็จจริงและสิ่งที่จับต้องได้ โดยมากเกิดขึ้นโดยตรงจากประสาทสัมผัสทั้ง 5 เช่นการมอง การได้ยิน การสัมผัส เป็นต้น

  • Intuition (N) จะถนัดในการรับรู้ข้อมูลในภาพรวม ซึ่งรวมถึงความสัมพันธ์ของสิ่งต่างๆ ความหมายที่ซ่อนอยู่ หรือรูปแบบที่เกิดขึ้น


Thinking (T) – Feeling (F)

การเลือกว่าคุณเป็นคนที่ถนัด Thinking (T) หรือ Feeling (F) นั้นมาจากวิธีที่เราตัดสินใจและสร้างข้อสรุปจากข้อมูลที่เราได้รับมา ว่าเมื่อต้องตัดสินใจบางอย่างคุณให้น้ำหนักกับสิ่งใดมากกว่ากัน โดยที่

  • Thinking (T) หมายถึง การตัดสินใจที่มาจากกระบวนการให้เหตุและผล (logic) การมองแบบเป็นกลาง คนที่เป็น Thinking มักจะให้ความสำคัญเกี่ยวกับข้อเท็จจริง และข้อมูลที่ที่ได้รับ

  • Feeling (F) หมายถึง กระบวนการตัดสินใจหรือนำมาสู่ข้อสรุปนั้นมาจากคุณค่าที่คุณให้ความสำคัญหรือคุณค่าที่สังคม วัฒนธรรมให้ความสำคัญ

สิ่งที่คนมักเข้าผิดเกี่ยวกับ Thinking (T) หรือ Feeling (F) คือ Thinking (T) ไม่ได้หมายถึงการคิดทั่วๆ ไป และ Feeling (F) ไม่ได้หมายถึงการใช้อารมณ์ความรู้สึก นอกจากนั้นหากคุณเป็นคนที่ถนัด Thinking (T) ไม่ได้หมายความคุณไม่มีความรู้สึก และคนที่ถนัด Feeling (F) ไม่ได้หมายความว่าคุณไม่ได้ใช้ความคิดในการตัดสินใจ


Judging (J) – Perceiving (P)

ตัวอักษรสุดท้ายเกิดขึ้นจากกระบวนการรับมือกับโลกภายนอกว่า คุณมีกระบวนการในการรับมือกับโลกภายนอกแบบใด ระหว่าง

  • Judging (J) หมายถึง ถนัดในการรับมือกับโลกภายนอกโดยอาศัยการวางแผน ความแม่นยำ โดยจะอาศัยระเยียดแบบแผนในการรับมือกับโลกภายนอก เช่นการวางแผน การจัดตารางเวลา

  • Perceiving (P) หมายถึง การรับมือกับโลกภายนอกโดยด้วยความยืดหยุ่น ซึ่งจะมีแนวโน้มที่จะชอบความเปิดกว้าง การตอบสนองโดยฉับพลัน และการเปิดความเป็นไปได้ใหม่ๆ


บุคลิกภาพทั้ง 16 แบบ (16 Personality Types)

เมื่อนำตัวอักษร 4 ตัวที่เป็นความถนัดของเรามาเรียงต่อกันตามลำดับ จะได้ทั้งหมด 16 รูปแบบ ซึ่งจะกลายมาเป็นบุคลิกภาพทั้ง 16 แบบในที่สุด


  • ISTJ - ผู้ตรวจการ พึ่งพาได้ มีความรับผิดชอบ

  • ISTP - ช่างฝีมือ ยืดหยุ่น ท้าทาย

  • ISFJ - นักอนุรักษ์ ระมัดระวัง อยู่กับความเป็นจริง รอบคอบ

  • ISFP - ศิลปิน สงบ ใจเย็น ยอมรับทุกคน


  • INTJ - นักกลยุทธ์ มีวิสัยทัศน์ มองการไกล

  • INTP - นักคำนวณ ความคิดหลากหลาย โลกส่วนตัวสูง

  • INFJ - ผู้ให้คำปรึกษา สำรวจความคิด ใส่ใจ ช่วยเหลือ

  • INFP - นักไกล่เกลี่ย เห็นอกเห็นใจ สงบนิ่ง


  • ESTJ - ผู้กำกับ บริหารจัดการ ตรงไปตรงมา

  • ESTP - นักธุรกิจ ชอบเสี่ยง ท้าทาย โน้มน้าวคนเก่ง

  • ESFJ - นักดูแล เป็นกันเอง ชอบช่วยเหลือ

  • ESFP - นักแสดง ร่าเริง มีชีวิตชีวา


  • ENTJ - ผู้บรรชาการ บริหารจัดการ ทำตามเป้าหมาย

  • ENTP - นักโต้วาที ท้าทาย เต็มไปด้วยความคิด

  • ENFJ - ผู้ให้ มีแรงบันดาลใจ เป็นมิตร

  • ENFP - ผู้ชนะเลิศ สร้างสรรค์ เข้าใจคนอื่น




คำวิจารณ์ที่เกิดขึ้นกับ MBTI

แม้ว่า MBTI จะได้รับคำนิยมในวงกว้าง แต่ก็ตัวแบบทดสอบ MBTI ก็ยังได้รับคำวิจารณ์เกี่ยวกับความแม่นยำของแบบทดสอบจำนวนมาก ซึ่งอาจมีอย่างน้อย 40% ของผู้ทำแบบทดสอบที่เมื่อทำแบบทดสอบอีกครั้งแล้ว ได้ผลลัพธ์ที่แตกต่างกันออกไปจากเดิม ทำให้พวกเขาสงสัยเกี่ยวกับความแม่นยำของแบบทดสอบเหล่านี้


นอกจากนี้ยังมีหลายคนที่อาจได้รับคำอธิบายของบุคลิกภาพที่ไม่ได้ตรงกับประสบการณ์ของตัวเอง จนนำไปสู่คาดเคลื่อนต่อความเข้าใจในจุดแข็ง จุดอ่อน ของตัวเอง ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้หลายกรณีเช่น

  • เกิดจากการเลือกความถนัด แบบใดแบบหนึ่งผิดพลาดจากความเป็นจริง

  • มีความเข้าใจที่คาดเคลื่อนในการเลือกความถนัดคู่ต่างๆ

  • เกิดการเปรียบเทียบว่า type บางอันดีกว่า type บางอัน

แต่แท้จริงแล้ว MBTI ไม่ได้เป็น "แบบทดสอบ" ที่มีถูกหรือผิด หรือมี type ใดดีกว่า type ใด กระบวนการระบุและค้นหา type ของตัวเองนั้นแท้จริงเกิดจากความถนัดในกระบวนการด้านจิตใจ 4 แบบ ซึ่งหมายความว่าเราแต่ละคนคือคนที่จะต้องตัดสินว่าเรามีความถนัดแบบใด และแม้กระทั่งแบบทดสอบมาตรฐานของ MBTI ที่ Myer Briggs Foundation แนะนำก็ยังมีช่วงที่เปิดโอกาสให้คุณเลือกความถนัดและยืนยัน type ได้อย่างอิสระโดยแบบทดสอบจะเป็นเพียงเครื่องมือหนึ่งที่ช่วยสะท้อนให้คุณเห็นตัวเองมากขึ้นเท่านั้น


กระบวนการรับรู้ข้อมูลและพฤติกรรมในขั้นที่สูงขึ้น จะถูกอธิบายด้วยสิ่งที่เรียกว่า Cognitive functions ทั้ง 8 ฟังก์ชั่น ที่เป็นทฤษฎีพื้นฐานทางบุคลิกภาพของ Carl G. Jung และมีความความซับซ้อนมากขึ้น



การประยุกต์ใช้ MBTI ในบริบทต่างๆ

1. การพัฒนาตัวเอง

MBTI เป็นเครื่องมือที่ดีในการช่วยทำให้คุณมีความตระหนักรู้ภายในตนเอง (self-awareness) ซึ่งจะช่วยทำให้คุณได้รู้จักตัวเองมากขึ้น โดยนอกจากจุดแข็ง จุดอ่อน ที่คนแต่ละ type มักจะเป็นแล้ว ใน cognitive functions จะทำให้คุณได้เข้าใจกระบวนการมองโลก การใช้ชีวิต และเข้าใจ function ด้อยของตัวเอง ที่จะทำให้คุณรู้วิธีการพัฒนาตัวเอง และออกจากวงจรที่ทำร้ายชีวิตของตัวเองอันเนื่องเป็นผลมาจาก function


2. การตัดสินใจ

การรู้จัก type ที่แม่นยำของตัวเองสามารถช่วยทำให้เรามองเห็นภาพรวมอย่างรอบด้านที่เกี่ยวกับตัวเอง ซึ่งเหมาะสมสำหรับการตัดสินใจที่สำคัญ เช่น ไลฟ์สไตล์ ในอนาคต การใช้ชีวิตในแบบที่ชอบ ลักษณะงานที่ทำแล้วไม่หมดไฟหรือมีความทุกข์จากงาน


3. การสร้างความเข้าใจและลดความขัดแย้งระหว่างกันในครอบครัว

หลายครั้งที่คนอื่นมักจะเข้าใจผิดว่าเราเป็นแบบนั้นแบบนี้ ซึ่งไม่ตรงกับความเป็นจริง การสร้างความเข้าใจระหว่างกันในครอบครัวควรเริ่มจากการเข้าใจและยอมรับในความแตกต่าง ความเป็นตัวของตัวเองซึ่งมีความเป็นปัจเจก ซึ่ง MBTI และการเข้าใจบุคลิกภาพทั้ง 16 แบบ เหล่านี้จะช่วยทำให้คนในครอบครัวเข้าใจความแตกต่างระหว่างกัน รู้ว่าใครให้ความสำคัญกับอะไร วิธีการสื่อสารของแต่ละคนเป็นอย่างไร และรู้วิธีปรับตัวเข้าหากันเพื่อที่จะเกิดความรักและเข้าใจกันในครอบครัวได้


4. การให้คำปรึกษาและการโค้ช

บุคลิกภาพทั้ง 16 แบบเป็นเครื่องมือที่ช่วยทำให้การให้คำปรึกษาและการโค้ชเป็นไปได้โดยง่ายและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้เครื่องมือ MBTI ยังถูกใช้เป็นแผนที่และภาษากลางเพื่อที่จะให้ผู้เข้ารับบริการได้เกิดความเข้าใจตัวเอง หลีกเลี่ยงจุดที่มักจะเข้าไปใช้พลังงานอย่างไม่สร้างสรรค์อย่างไม่รู้ตัว และเติบโตในแบบที่ลักษณะบุคลิกภาพของคนๆ นั้นแนะนำได้



5. การทำงานร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ

การเรียนรู้เรื่อง MBTI สามารถช่วยทำให้แต่ละคนเข้าใจสไตล์การทำงานที่แตกต่างกัน ในบุคลิกภาพของคนแต่ละแบบ รู้วิธีการทำงานร่วมกันให้ดีมากยิ่งขึ้น ซึ่งความเข้าใจเหล่านี้ช่วยทำให้ทีมของเรามีความปลอดภัยในที่ทำงานมากขึ้น มีบรรยากาศแห่งความกลัวลดลง และเป็นทีมที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น นอกจากนี้ยังสามารถช่วยทำให้บุคลากรได้รู้แนวทางในการพัฒนาตัวเอง เพื่อที่จะช่วยทำให้องค์กรสามารถเติบโตอย่างยั่งยืนได้


หากคุณสนใจพัฒนาตัวเองและมีชีวิตที่ดีขึ้น โดยการเข้าใจจุดแข็ง จุดอ่อน วิธีการมองโลกของตัวเอง และมีความสัมพันธ์ที่ดีกับที่ทำงานและคนรอบตัว คุณสามารถเรียนรู้เพิ่มเติมได้ในเวิร์คช็อป MBTI: 16 Personality types ที่จะช่วยให้คุณค้นหาบุคลิกภาพของตัวเอง และเข้าใจทฤษฎีบุคลิกภาพทั้ง 16 แบบในเชิงลึก




Related Topics


แหล่งอ้างอิงและข้อมูลเพิ่มเติม

 

Urbinner เป็นพื้นที่ให้ทุกคนได้เติบโตจากการเรียนรู้ในทุกช่วงเวลาของชีวิต โดยทีมนักจัดกระบวนการจะพาคุณไปเรียนรู้ทักษะที่นำไปสู่การเข้าใจตัวเอง สร้างความสัมพันธ์ที่ดี และการตระหนักรู้ร่วมกัน เพื่อให้ทุกคนสามารถทำในสิ่งที่มีคุณค่าและความหมายสำหรับตัวเอง องค์กร และชุมชนของเราได้

Comments


Facebook group Banner.jpg
bottom of page