top of page
  • รูปภาพนักเขียนUrbinner

รู้จักผู้นำ 4 ประเภทและแนวทางการพัฒนาศักยภาพตาม MBTI หรือบุคลิกภาพ 16 แบบ

อัปเดตเมื่อ 10 มี.ค. 2565

Highlights

  • ผู้นำสไตล์ SJ มองโลกตามความเป็นจริง ให้ความสำคัญกับรายละเอียด ชอบการปฏิบัติงานอย่างเป็นระบบ มีโครงสร้าง หรือกฏเกณฑ์ที่ชัดเจน

  • ผู้นำสไตล์ SP เป็นนักปรับตัวและแก้ปัญหา เปิดกว้างต่อทุกสิ่งที่สามารถทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้ในระยะเวลาอันรวดเร็ว

  • ผู้นำสไตล์ NF มองโลกด้วยความเป็นไปได้ ชอบเชื่อมโยงสิ่งต่างๆ เข้ากับผู้คน เป็นนักสร้างแรงบันดาลใจ และยึดมั่นในอุดมคติ

  • ผู้นำสไตล์ NT เป็นนักวิเคราะห์ เขาพิจารณาทุกสิ่งที่อยู่รอบตัว และมองหาวิธีที่จะทำให้สิ่งเหล่านั้นมีประสิทธิภาพสูงสุด เขาให้ความสำคัญกับการทำงานที่มีระบบ และองค์ความรู้เบื้องหลังที่เกี่ยวข้องกับการทำงาน

 

สิ่งที่ผู้นำให้ความสำคัญคือการรู้จักตัวเองเพื่อพัฒนา การรู้จักจุดแข็งและจุดอ่อนของตัวเองจะช่วยทำให้เราวางแนวทางในการเรียนรู้และปรับตัวได้ การมองเห็นจุดแข็งสำหรับผู้นำอาจไม่ใช่เรื่องที่ยากเกินไปนัก แต่การเรียนรู้จุดอ่อนของตัวเองอย่างตรงไปตรงมาไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะเมื่อคุณเป็นหัวหน้าที่ได้รับการยอมรับแล้ว โอกาสที่คุณจะได้รับ feedback ตรงไปตรงมาจากคนรอบตัวก็ยิ่งน้อยลงไปเท่านั้น


เมื่อเวลาผ่านไปหากเราไม่ได้เท่าทันจุดอ่อนเหล่านั้น จุดอ่อนเหล่านั้นจะกลายเป็นจุดบอด (blind spot) ที่แก้ไขยากขึ้น และอาจทำให้เกิดความสูญเสียเกิด ซึ่ง MBTI หรือบุคลิกภาพทั้ง 16 แบบเป็นเครื่องมือหนึ่งที่จะช่วยทำให้ผู้นำสามารถเห็นจุดอ่อนและแนวทางการพัฒนาตัวเองได้


หากคุณต้องการเครื่องมือที่จะช่วยทำความเข้าใจเกี่ยวกับความแตกต่างของคนในทีม คุณสามารถให้บุคลากรได้มาเรียนรู้เพิ่มเติมได้ในหลักสูตร MBTI: 16 Personalities at Work เพื่อเข้าใจจุดแข็ง จุดอ่อน สไตล์การทำงานของแต่ละคน และทำให้ทีมของคุณมีประสิทธิภาพสูงสุดในการทำงานร่วมกัน



เนื้อหาในบทความ


ทำความรู้จัก MBTI เบื้องต้น

MBTI หรือบุคลิกภาพทั้ง 16 แบบเป็นเครื่องมือที่สร้างความเข้าใจของตัวเองจากการทำความเข้าใจกระบวนการทางความคิดที่แต่ละคนถนัด สร้าง self-awareness เพื่อให้เราตระหนักรู้ถึงบุคลิกภาพและความถนัดของตัวเอง


คนที่มีความถนัดแตกต่างกันจะมีการแสดงออก วิธีการมองโลก และแรงจูงใจที่แตกต่างกัน ผู้นำในบุคลิกภาพแต่ละแบบก็จะมีการแสดงออกที่แตกต่างกันตามความถนัดที่มีอยู่ 4 แบบ โดยสิ่งแรกที่เราต้องรู้คือความถนัดของตัวเองตาม MBTI ซึ่งจะประกอบไปด้วย



เมื่อเรารู้ความถนัดทั้ง 4 แบบของตัวเองแล้ว เราสามารถทราบบุคลิกภาพของผู้นำของตัวเองในลำดับถัดไปได้


ลักษณะของผู้นำทั้ง 4 ประเภทใน MBTI

ในบุคลิกภาพทั้ง 16 แบบของ MBTI จะมีผู้นำที่มีลักษณะโดดเด่นอยู่ 4 ประเภทตามความถนัด แบบ SJ, SP, NF และ NT ที่เรียกว่า Temperament ซึ่งได้รับการพัฒนาและนำมาขยายความและเรียบเรียงจนเป็นที่รู้จักในวงกว้างโดย David Keisey และ Marilyn Bates สิ่งที่สำคัญที่กำหนดสไตล์ของผู้นำแต่ละประเภทนี้คือวิธีการในการรับข้อมูล

  • ผู้นำที่มีความถนัดแบบ Sensing จะให้ความสนใจกับความเป็นจริง สถานการณ์ในปัจจุบัน และรวมรวมข้อมูลที่จับต้องได้

  • ผู้นำที่มีความถนัดแบบ Intuition จะให้ความสนใจกับวิศัยทัศน์ ความเป็นไปได้ และโอกาสที่อยู่ข้างหน้า

หลังจากนั้นผู้นำแต่ละแบบจะมีการแสดงออก พฤติกรรม จุดแข็ง และจุดอ่อนที่แตกต่างกันออกไปตามความถนัดในคู่ Thinking (T) – Feeling (F) และ Judging (J) – Perceiving (P)




โดยลักษณะของผู้นำทั้ง 4 แบบใน MBTI ตาม Temperament มีดังนี้

  • ผู้นำสไตล์ SJ ผู้ชื่นชอบระบบองค์กร ได้แก่ บุคลิกภาพแบบ

    • ISTJ - ผู้ตรวจการ

    • ISFJ - นักอนุรักษ์

    • ESTJ - ผู้กำกับ

    • ESFJ - นักดูแล

  • ผู้นำสไตล์ SP นักแก้ปัญหา ได้แก่ บุคลิกภาพแบบ

    • ISTP - ช่างฝีมือ

    • ISFP - ศิลปิน

    • ESFP - นักแสดง

    • ESTP - นักธุรกิจ

  • ผู้นำสไตล์ NF ผู้เชื่อมโยงผู้คน ได้แก่ บุคลิกภาพแบบ

    • INFJ - ผู้ให้คำปรึกษา

    • INFP - นักไกล่เกลี่ย

    • ENFP - ผู้ชนะเลิศ

    • ENFJ - ผู้ให้

  • ผู้นำสไตล์ NT นักสร้างประสิทธิภาพ ได้แก่ บุคลิกภาพแบบ

    • INTJ - นักกลยุทธ์

    • INTP - นักคำนวณ

    • ENTP - นักโต้วาที

    • ENTJ - ผู้บรรชาการ


ผู้นำสไตล์ SJ - ผู้ชื่นชอบระบบองค์กร

บุคลิกภาพใน MBTI ที่มีลักษณะความป็นผู้นำแบบ SJ ได้แก่

  • ISTJ - ผู้ตรวจการ พึ่งพาได้ มีความรับผิดชอบ

  • ISFJ - นักอนุรักษ์ ระมัดระวัง อยู่กับความเป็นจริง รอบคอบ

  • ESTJ - ผู้กำกับ บริหารจัดการ ตรงไปตรงมา

  • ESFJ - นักดูแล เป็นกันเอง ชอบช่วยเหลือ

ผู้นำสไตล์ SJ มองโลกตามความเป็นจริง ให้ความสำคัญกับรายละเอียด ชอบการปฏิบัติงานอย่างเป็นระบบ มีโครงสร้าง หรือกฏเกณฑ์ที่ชัดเจน


ผู้นำแบบ SJ เป็นคนที่จะเน้นย้ำความสำคัญของรายละเอียดอยู่เสมอโดยเฉพาะเรื่องเกี่ยวกับงบประมาณและระยะเวลาในการทำงาน ในระหว่างการทำงาน หากเขาพบว่างานใดยังไม่มีระเบียบ หรือแนวทางการปฏิบัติที่ชัดเจน ผู้นำแบบ SJ มักจะเป็นคนที่พร้อมที่จะทำสิ่งเหล่านั้นก่อนเป็นอันดับแรก



วิธีการทำงานของบุคลิกภาพแบบ SJ

คนที่มีบุคลิกภาพแบบ SJ ชอบทำงานที่เป็นระบบ มีโครงสร้าง พวกเขาต้องการรู้ว่าใครมีอำนาจ และเป็นหัวหน้าของเขาเพื่อที่จะทำงานให้ออกมามีประสิทธิภาพมากที่สุด เมื่อต้องลงมือทำงานใหม่ๆ พวกเขาต้องการเห็นแนวทางการปฏิบัติงานหรือเห็นตัวอย่างก่อนที่จะทำงานเหล่านั้น ซึ่งตัวอย่างที่สามารถแสดงให้เขาเห็นเป็นลำดับขั้นจะช่วยทำให้เขาคุ้นเคยและทำงานออกมาได้อย่างมีประสิทธิภาพ


สิ่งที่ผู้นำที่มีบุคลิกภาพแบบ SJ ให้ความสำคัญ

ผู้นำแบบ SJ ให้ความสำคัญกับระบบ โครงสร้างอำนาจ วัฒนธรรมองค์กรที่ดี โดยเขามักจะพิจารณาถึงตำแหน่ง เงินเดือน ความอาวุโส ชื่อเสียง หรือรางวัลเป็นส่วนหนึ่งที่กำหนดความสำเร็จความก้าวหน้าในการทำงาน


นอกจากนั้นผู้นำแบบ SJ ยังให้ความสำคัญเกี่ยวกับความเป็นไปได้ในเชิงปฏิบัติอยู่เสมอ พวกเขามักจะไม่ค่อยสนใจไอเดียที่ดูห่างไกลจากความเป็นจริง หรือแนวความคิดที่ไม่มีหลักฐานสนับสนุน


จุดแข็งของผู้นำสไตล์ SJ

  • มีความรับผิดชอบสูง

  • เป็นนักลงมือปฏิบัติ

  • มีระบบการทำงาน ให้ความสำคัญโครงสร้างในการทำงาน

  • จดจ่อกับรายละเอียดได้ดี

  • เข้าใจคุณค่าที่ดีและสมเหตุสมผลของวัฒนธรรมในองค์กร

จุดอ่อนของผู้นำสไตล์ SJ

  • การวางแผนในระยะยาว

  • อาจไม่ชอบออกจากพื้นที่ปลอดภัย (comfort zone)

  • การเห็นความเชื่อมโยงในงานที่ลงมือทำกับบริบทอื่นๆ

  • การปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ การแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า

  • อาจยึดติดกับระบบการทำงานมากเกินไปจนเกิดความล่าช้าหรือขั้นตอนที่ซับซ้อน


แนวทางการพัฒนาศักยภาพผู้นำแบบ SJ

ผู้นำแบบ SJ เป็นผู้นำที่มีความเป็นอนุรักษ์นิยมสูงมากที่สุดใน MBTI ดังนั้นหากเขาได้ให้พื้นที่กับการลงมือทำให้สิ่งที่อยู่นอกความความคุ้นเคย จะช่วยทำให้ทีมมีความคิดสร้างสรรค์เพิ่มขึ้นได้


ผู้นำสไตล์ SP - นักแก้ปัญหา

บุคลิกภาพใน MBTI ที่มีลักษณะควาเมป็นผู้นำแบบ SP ได้แก่

  • ISTP - ช่างฝีมือ ยืดหยุ่น ท้าทาย

  • ISFP - ศิลปิน สงบ ใจเย็น ยอมรับทุกคน

  • ESFP - นักแสดง ร่าเริง มีชีวิตชีวา

  • ESTP - นักธุรกิจ ชอบเสี่ยง ท้าทาย โน้มน้าวคนเก่ง

ผู้นำสไตล์ SP ใช้ชีวิตอยู่กับปัจจุบัน ชอบปรับตัวเข้ากับสถานการณ์ เป็นผู้นำที่เปิดกว้างต่อทุกสิ่ง ไม่ว่าจะเป็นเครื่องมือ การอบรม วิธีการใหม่ๆ ที่จะช่วยทำให้องค์กรได้มีการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นได้

ผู้นำสไตล์ SP เป็นคนที่แก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าได้เก่ง หากมีปัญหาเกิดขึ้นภายในองค์กร เขาพร้อมที่จะลงมือช่วยเหลือ แก้ไขสถานการณ์อย่างรวดเร็ว และเมื่อเขาแก้ไขปัญหาอะไรเสร็จเรียบร้อยแล้ว เขาก็มักจะทำให้พนักงานคนอื่นทึ่งในกระบวนการที่เขามักจะใช้ในการแก้ไขปัญหาอยู่เสมอ เพราะส่วนใหญ่เขามักจะใช้วิธีการที่เรียบง่าย แต่ได้ผลดี



วิธีการทำงานของบุคลิกภาพแบบ SP

คนที่มีบุคลิกภาพแบบ SP มักเริ่มต้นด้วยการรวบรวมข้อมูล หาหลักฐาน หรือกรณีศึกษา มาพิจารณาก่อนลงมือทำ เขาชอบเห็นตัวอย่างหรือแนวทางการปฏิบัติในการทำงาน แต่ในขณะเดียวกัน พวกเขาก็ไม่ชอบทำงานตามแนวทางการปฏิบัติเหล่านั้น เพราะเขาต้องการอิสระในการปรับเปลี่ยนการทำงานตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้า


สิ่งที่ผู้นำที่มีบุคลิกภาพแบบ SP ให้ความสำคัญ

ผู้นำสไตล์ SP ให้ความสำคัญกับอิสระภาพในการทำงาน เขามักจะให้แต่ละคนมีอิสระภาพในการทำงานของตัวเองให้มากที่สุด มุ่งเน้นไปที่ผลลัพธ์จากการทำงาน นอกจากนั้นผู้นำสไตล์ SP ยังให้ความสำคัญกับการรับข้อมูลใหม่อยู่เสมอ เขาสามารถปรับเปลี่ยนแผนการได้อย่างยืดหยุ่น หากเขารู้ว่าทิศทางที่กำลังจะไปมีความสำคัญมากกว่า


จุดแข็งของผู้นำสไตล์ SP

  • การเปิดรับต่อสิ่งใหม่ๆ วิธีการใหม่ๆ ความเป็นไปได้ใหม่ๆ

  • เป็นนักแก้ปัญหา แก้ไขสถานการณ์เฉพาะหน้า

  • มองโลกในปัจจุบัน สร้างเกิดการเปลี่ยนแปลงที่เห็นผลได้ในทันที

  • ยืดหยุ่น ปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ได้ดี

  • ให้อิสระภาพกับทุกคนในการเป็นตัวของตัวเอง

จุดอ่อนของผู้นำสไตล์ SP

  • การวางแผนระยะยาว

  • ขาดระบบ โครงสร้างในการทำงาน

  • การทำงานกับสิ่งที่เป็นทฤษฎี

  • บางครั้งอาจไม่ได้ตัดสินใจให้เด็ดขาด

  • อาจให้ความสำคัญกับความสนุกสนานรื่นเริงมากเกินไป


แนวทางการพัฒนาศักยภาพผู้นำแบบ SP

ผู้นำแบบ SP เป็นผู้นำที่แก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้ดีมากใน MBTI แต่มีจุดอ่อนในการวางแผนระยะยาวและเห็นความเชื่อมโยง ดังนั้นแนวทางในการพัฒนาศักยภาพของเขาคือการมองเห็นความเชื่อมโยง มองเห็นภาพรวม ของปัญหาที่เกิดขึ้น นอกจากนี้ผู้นำสไตล์ SP ไม่ค่อยให้ความสำคัญกับระบบ โครงสร้าง ของการปฏิบัติงานมากนัก หากพวกเขาให้ความสำคัญกับระบบ การทำงานที่เป็นขั้นเป็นตอนก็จะช่วยทำให้ลดความสับสนหรือการทำงานที่ซ้ำซ้อนกันได้


ผู้นำสไตล์ NF - ผู้เชื่อมโยงผู้คน

บุคลิกภาพใน MBTI ที่มีลักษณะความป็นผู้นำแบบ NF ได้แก่

  • INFJ - ผู้ให้คำปรึกษา สำรวจความคิด ใส่ใจ ช่วยเหลือ

  • INFP - นักไกล่เกลี่ย เห็นอกเห็นใจ สงบนิ่ง

  • ENFP - ผู้ชนะเลิศ สร้างสรรค์ เข้าใจคนอื่น

  • ENFJ - ผู้ให้ มีแรงบันดาลใจ เป็นมิตร

ผู้นำสไตล์ NF มองโลกด้วยความเป็นไปได้ เชื่อมโยงสิ่งต่างๆ เข้ากับคุณค่าและผู้คน เป็นคนที่ ยึดมั่นในอุดมคติ ต้องการทำงานและต้องการสร้างประโยชน์ให้กับโลกนี้ไปพร้อมๆ กัน


ผู้นำแบบ NF มักจะมองโลกในแง่ดี มีความอบอุ่น ทำให้ผู้คนที่อยู่รอบข้างสามารถรับฟังความคิดเห็นและเชื่อมมั่นในตัวเขาได้เป็นอย่างดี พวกเขาต้องการเชื่อมโยงสิ่งที่เขาทำเข้ากับผู้คน ทำในสิ่งที่ความหมาย และเขาก็จะมีแรงบันดาลใจอย่างไม่มีที่สิ้นสุดหากเขาได้ทำตามสิ่งที่เสียงหัวใจของตัวเองเรียกร้อง



วิธีการทำงานของบุคลิกภาพแบบ NF

วิธีการทำงานของคนที่มีบุคลิกภาพแบบ NF มักจะเริ่มต้นด้วยการหาความเป็นไปได้ และความเปลี่ยนแปลงที่ต้องการทำให้เกิดกับผู้คน เขาเป็นคนที่มีความเห็นอกเห็นใจในที่ทำงาน (empathy) ค่อนข้างสูง ชอบช่วยเหลือคนอื่น เขาให้ความสำคัญกับการดูแลความสัมพันธ์มากพอๆ กับการทำงานให้มีประสิทธิภาพ


สิ่งที่ผู้นำที่มีบุคลิกภาพแบบ NF ให้ความสำคัญ

สิ่งที่ผู้นำแบบ NF ให้ความสำคัญคือผู้คนและความเป็นไปได้ พวกเขามองหน้าที่ งาน สินค้าในรูปแบบที่เชื่อมโยงและเกี่ยวข้องกับผู้คน ในการทำงานร่วมกันเป็นทีม ผู้นำแบบ NF ให้คุณค่ากับความสัมพันธ์และความเป็นหนึ่งเดียวกันมาก


จุดแข็งของผู้นำสไตล์ NF

  • เป็นนักสร้างแรงบันดาลใจ

  • มีความมุ่งมั่นในการช่วยเหลือคนอื่น

  • มีความสามารถในการสื่อสารอารมณ์ ความรู้สึก

  • มีความเป็นมิตรและเข้ากับคนอื่นได้ดี

  • ช่วยทำให้ลูกน้องและคนที่อยู่รอบข้างแสดงศักยภาพของตัวเองออกมาได้เต็มที่

จุดอ่อนของผู้นำสไตล์ NF

  • บางครั้งมีแนวคิดที่ไม่อยู่บนพื้นฐานของความเป็นจริง

  • รู้สึกไม่มีความหมายหากทำงานที่ไม่เห็นผลกระทบต่อผู้คนที่ชัดเจน

  • อ่อนไหวต่อคำวิจารณ์ หรือ feedback เชิงลบ

  • อาจยึดมั่นในอุดมคติในการทำงานมากเกินไปจนส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพในการทำงาน

  • อาจทำให้ลูกน้องรู้สึกว่าถูกเลือกปฏิบัติ


แนวทางการพัฒนาและเติบโตของผู้นำสไตล์ NF

ผู้นำแบบ NF ใน MBTI เป็นผู้นำที่มีมนุษย์สัมพันธ์ค่อนข้างดี และสามารถให้แรงบันดาลใจลูกน้องได้เก่ง โดยที่ประสิทธิภาพในการทำงานจะมีสูงขึ้น หากพวกเขาให้ความสำคัญกับวิธีการวัดและประเมินที่ตรงไปตรงมามากขึ้น


ผู้นำสไตล์ NT - นักสร้างประสิทธิภาพ

บุคลิกภาพใน MBTI ที่มีลักษณะความป็นผู้นำแบบ NT ได้แก่

  • INTJ - นักกลยุทธ์ มีวิสัยทัศน์ มองการไกล

  • INTP - นักคำนวณ ความคิดหลากหลาย โลกส่วนตัวสูง

  • ENTP - นักโต้วาที ท้าทาย เต็มไปด้วยความคิด

  • ENTJ - ผู้บรรชาการ บริหารจัดการ ทำตามเป้าหมาย

ผู้นำสไตล์ NT ชอบวิเคราะห์ทุกสิ่งรอบตัวที่เขาได้พบ และพยายามหาคำอธิบายปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น ค้นหาระบบ การจัดการที่ทำให้เกิดผลลัพธ์ดีที่สุด มักจะมีคำถามว่า "ทำไม?" กับทุกเรื่องที่พบ


ผู้นำแบบ NT เป็นคนที่มีมาตรฐานสูง พวกเขาให้คุณค่ากับความมีประสิทธิภาพเหนือสิ่งอื่นใด ชอบความท้าทาย มักจะคิดวิเคราะห์หาทฤษฎีหรือระบบที่มีประสิทธิภาพสูงสุด ทำให้พวกเขาอาจดูเหมือนเป็นคนที่ช่างวิจารณ์ เพราะเขามองเห็นการพัฒนาทุกสิ่งที่อยู่รอบตัวให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น



วิธีการทำงานของบุคลิกภาพแบบ NT

วิธีการทำงานของคนที่มีบุคลิกภาพแบบ NT มักจะเริ่มต้นด้วยการวางแผนและค้นหาข้อมูล พวกเขารวบรวมข้อมูลและลงมือหาทางพัฒนาวิธีการทำงานใหม่ๆ ราวกับว่างานชิ้นนั้นเป็นงานทดลองที่อยู่ในห้องปฏิบัติการของเขา เมื่อเขาได้เรียนรู้จนพอใจแล้ว พวกเขาจึงจะลงมือวางแผนและทำงานตามสิ่งที่ได้เรียนรู้มา


สิ่งที่ผู้นำที่มีบุคลิกภาพแบบ NT ให้ความสำคัญ

สิ่งที่ผู้นำแบบ NT ให้ความสำคัญกับประสิทธิภาพมากที่สุด หากเขารู้ว่าใครมีความสามารถแล้ว เขาจะไม่สนใจความมีชื่อเสียงหรือตำแหน่งของคนเหล่านั้น และในทางกลับกันหากเขามองว่าใครไม่มีประสิทธิภาพ แม้ว่าคนเหล่านั้นจะมีชื่อเสียงมากแค่ไหน แต่เขาก็จะไม่ให้ความสำคัญเลย นอกจากนั้นเขายังเป็นคนที่ให้ความสำคัญเกี่ยวกับองค์ความรู้และการพัฒนาตัวเองมาก เขาพร้อมที่จะสนับสนุนให้ทุกคนได้เรียนรู้แม้ว่าสิ่งเหล่านั้นจะเป็นทฤษฎีที่จับต้องได้ยากก็ตาม


จุดแข็งของผู้นำสไตล์ NT

  • การวิเคราะห์อย่างเป็นระบบ

  • มองภาพรวม มองการณ์ไกลในระยะยาว

  • มีการพัฒนาตัวเองอยู่เสมอ

  • มีความคิดสร้างสรรค์

  • ทำงานที่เกี่ยวข้องกับทฤษฎีและนามธรรมได้ดี

จุดอ่อนของผู้นำสไตล์ NT

  • อาจละเลยสิ่งดีๆ ที่มีอยู่แล้วในปัจจุบัน

  • ใช้เวลาในการวิเคราะห์สิ่งต่างๆ มากเกินความจำเป็น

  • ไม่ค่อยตระหนักถึงความรู้สึกของคนอื่น ซึ่งมีความสำคัญมากในการทำงาน

  • อาจมีไอเดียมากมาย แต่ไม่สามารถลงมือทำได้

  • แผนการอาจขาดรายละเอียดและแนวทางการปฏิบัติที่ชัดเจนในการไปสู่เป้าหมายที่ตั้งไว้


แนวทางการพัฒนาและเติบโตของผู้นำสไตล์ NT

ผู้นำแบบ NT เป็นผู้นำที่ไม่ค่อยให้ความสำคัญเกี่ยวกับความรู้สึกของเพื่อนร่วมงาน บางครั้งพวกเขาคิดว่าการแยกอารมณ์ความรู้สึกออกจากงานจะแสดงออกถึงความเป็นมืออาชีพ แต่แท้จริงแล้วหากทีมงานได้รับการดูแลและมีพื้นที่ให้แสดงออกทางความรู้สึกได้อย่างเหมาะสม จะช่วยทำให้บรรยากาศการทำงานเป็นมิตร มีแรงบันดาลใจและเต็มไปด้วยความสุขมากขึ้นได้


การเข้าใจความแตกต่างของคนแต่ละไทป์ในบุคลิกภาพทั้ง 16 แบบจะช่วยทำให้ทุกคนในทีมสามารถตระหนักรู้วิธีการทำงานของตัวเองที่แต่ละคนมักจะยึดติด ซึ่งนำไปสู่การสร้างความเข้าใจและความไว้วางใจร่วมกันในทีม ทำให้เกิดการทำงานร่วมอย่างมีประสิทธิภาพ โดยในหลักสูตร MBTI: 16 Personalities at Work จะช่วยทำให้คุณรู้จักความถนัดเหล่านี้ ค้นพบบุคลิกภาพของตัวเอง และเข้าใจวิธีการมองโลกของคนแต่ละแบบ เพื่อปรับตัวและทำงานร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพได้




Related Topics


แหล่งอ้างอิงและข้อมูลเพิ่มเติม

  • Otto Kroeger, Janet M. Thuesen, Hile Rutledge. 2002. Type Talk at Work. New York: Dell Publishing.

  • Myers, Isabel Briggs. n.d. Introduction to Myers-Briggs Type. The Myers-Briggs Company Pty Ltd.

  • Tieger, Paul D. Tieger and Barbara Barron. 1999. The Art of Speed Reading People. New York: Little, Brown and Company.

 

Urbinner เป็นพื้นที่ให้ทุกคนได้เติบโตจากการเรียนรู้ในทุกช่วงเวลาของชีวิต โดยทีมนักจัดกระบวนการจะพาคุณไปเรียนรู้ทักษะที่นำไปสู่การเข้าใจตัวเอง สร้างความสัมพันธ์ที่ดี และการตระหนักรู้ร่วมกัน เพื่อให้ทุกคนสามารถทำในสิ่งที่มีคุณค่าและความหมายสำหรับตัวเอง องค์กร และชุมชนของเราได้

Kommentarer


Facebook group Banner.jpg
bottom of page