top of page
  • รูปภาพนักเขียนUrbinner

เอ็นเนียแกรม (Enneagram) กับภาวะผู้นำของคนทั้ง 9 ลักษณ์

อัปเดตเมื่อ 6 ม.ค. 2566

Highlights

  • นพลักษณ์ (Enneagram) เป็นศาสตร์ที่ช่วยทำให้ผู้นำได้เกิดความตระหนักรู้ในตัวเอง (self-awareness) จากการเข้าใจเบื้องหลังแรงจูงใจในการทำสิ่งต่างๆ ของผู้คนที่แบ่งออกเป็น 9 ลักษณะ

  • การเข้าใจโลกทัศน์ของตัวเองจากนพลักษณ์ (Enneagram) จะช่วยทำให้เราสามารถเปิดรับต่อโลกทัศน์แบบอื่น เข้าใจสิ่งที่เราอาจมองข้ามไปในมุมมองของผู้บริหาร ทำให้ลดอคติที่เป็นอุปสรรค์ในการรับฟังและช่วยทำให้เท่าทันตัวเองมากขึ้นจนนำไปสู่ความเข้าใจคนอื่น

  • ผู้นำแต่ละลักษณ์จะมีสไตล์การบริหารที่แตกต่างกันออกไป โดยผู้นำแต่ละลักษณ์ก็มักจะมีปัญหาที่ลูกน้องหรือผู้ใต้บังคับบัญชามักจะพบเป็นประจำ

 


เนื้อหาในบทความ

  1. นพลักษณ์ (Enneagram) เกี่ยวข้องกับภาวะผู้นำอย่างไร?

  2. เราจะสามารถใช้นพลักษณ์ (Enneagram) ในที่ทำงานได้อย่างไร?

  3. ประโยชน์ของนพลักษณ์ (Enneagram) สำหรับผู้บริหารและผู้นำ

  4. ลักษณะภาวะผู้นำจากคน 9 ลักษณ์

    1. ผู้นำลักษณ์ 1 ผู้แสวงหาความสมบูรณ์แบบ

    2. ผู้นำลักษณ์ 2 ผู้ให้

    3. ผู้นำลักษณ์ 3 นักแสดง

    4. ผู้นำลักษณ์ 4 ผู้โศกซึ้ง

    5. ผู้นำลักษณ์ 5 นักสังเกตการณ์

    6. ผู้นำลักษณ์ 6 นักปุจฉา

    7. ผู้นำลักษณ์ 7 ผู้เสพสุข

    8. ผู้นำลักษณ์ 8 เจ้านาย

    9. ผู้นำลักษณ์ 9 ผู้ประสานไมตรี


นพลักษณ์ (Enneagram) เกี่ยวข้องกับภาวะผู้นำอย่างไร?

ผู้นำมักจะติดกับดักกับสิ่งที่เกิดขึ้นกับพวกเขา พวกเขามักจะมีความสำเร็จ ความพยายาม ความสามารถ และเก็บสิ่งเหล่านี้ไว้กับตัวเอง แต่ความสามารถและความสำเร็จที่พวกเขามีนั้นมักจะหล่อหลอมให้พวกเขาเชื่อวิธีในการทำงานเพื่อไปสู่ความสำเร็จของตัวเองมากยิ่งๆ ขึ้น จนอาจทำให้โลกทัศน์นั้นบงการชีวิตและการทำงานได้


นพลักษณ์ (Enneagram) เป็นศาสตร์ที่ช่วยทำให้ผู้นำได้เกิดความตระหนักรู้ในตัวเอง (self-awareness) จากการเข้าใจเบื้องหลังแรงจูงใจในการทำสิ่งต่างๆ ของผู้คนที่แบ่งออกเป็น 9 ลักษณะ และทำให้ัผู้นำได้แนวทางในการพัฒนาตัวเองเพื่อที่จะสามารถหลีกเลี่ยงปัญหาที่เกิดจากความเป็นลักษณ์ เข้าใจความแตกต่างและแรงจูงใจของผู้คน มีการตัดสินใจที่ดีขึ้น และมีความสัมพันธ์ที่ดีขึ้นได้


เราจะสามารถใช้นพลักษณ์ (Enneagram) ในที่ทำงานได้อย่างไร?

นพลักษณ์จะช่วยทำให้เราเข้าใจความแตกต่างของแต่ละบุคคลมากขึ้นในระดับโลกทัศน์ของเพื่อนร่วมงาน เข้าใจว่าสมาชิกแต่ละคนในที่ทำงานมีความต้องการอะไร มีสิ่งหลีกเลี่ยงอะไร และในการทำงานร่วมกันพวกเขาให้ความสำคัญกับเรื่องใด


การใช้นพลักษณ์ในบริบทที่ทำงานจะช่วยทำให้บุคลากรสามารถ

  • สร้างความเข้าใจที่มีร่วมกัน จากการแบ่งปันเรื่องราวของแต่ละคน เข้าใจโลกทัศน์ของแต่ละคนจากการเข้าร่วมเวิร์คช็อป และเข้าใจเพื่อนร่วมงานมากขึ้นจากการเข้าใจความเป็นลักษณ์ของพวกเขาจนเกิดเป็นความปลอดภัยทางใจในที่ทำงาน (psychological safety)

  • เรียนรู้วิธีในการทำงานร่วมกัน เมื่อได้ค้นพบลักษณ์ของตนเองแล้ว พวกเขาจะเข้าใจสื่งที่คนแต่ละลักษณ์ให้ความสำคัญ และเข้าใจสาเหตุที่ทำให้แต่ละคนมีการแสดงออกที่เราอาจไม่เข้าใจได้

  • เห็นแนวทางในการพัฒนาตัวเอง เข้าใจโลกทัศน์ของตัวเองและเห็นแนวทางในการพัฒนาตัวเองด้วยนพลักษณ์ เข้าใจกลไกลป้องกันตนเองที่อาจทำให้เกิดปัญหาในการทำงานร่วมกับผู้อื่น


ประโยชน์ของนพลักษณ์ (Enneagram) สำหรับผู้บริหารและผู้นำ

นพลักษณ์ไม่ได้ทำให้เราเข้าใจบุคลิกภาพของคนอื่นได้ดีขึ้นเพียงเท่านั้น แท้จริงแล้วประโยชน์ของการเรียนรู้นพลักษณ์คือการเท่าทันโลกของตนเองซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของความตระหนักรู้ภายในตนเอง (self-awareness) เพราะหลังจากที่ได้เห็นเข้าใจว่าโลกทัศน์ของลักษณ์ตนเองคืออะไรแล้ว จะเข้าใจว่าโลกทัศน์ที่เรายึดถือไว้ทำให้เกิดปัญหาตามมาได้อย่างไร


การเข้าใจโลกทัศน์ของตัวเองจากนพลักษณ์ (Enneagram) จะช่วยทำให้เราสามารถเปิดรับต่อโลกทัศน์แบบอื่น เข้าใจสิ่งที่เราอาจมองข้ามไปในมุมมองของผู้บริหาร ทำให้ลดอคติที่เป็นอุปสรรค์ในการรับฟังและช่วยทำให้เท่าทันตัวเองมากขึ้นจนนำไปสู่ความเข้าใจคนอื่น


ลักษณะภาวะผู้นำจากคน 9 ลักษณ์

เมื่อคนลักษณ์ต่างๆ เป็นผู้นำ พวกเขามักจะนำลักษณะความเป็นลักษณ์ของตัวเองและโลกทัศน์ของลักษณ์ติดตัวมาด้วย ซึ่งหากพวกเขาไม่ได้เท่าทันความเป็นลักษณ์ตัวเองก็อาจส่งผลเชิงลบตามมาด้วย


ยกตัวอย่างเช่น ผู้บริหารลักษณ์ 6 อาจมีความกลัวมากเกินไปจนไม่กล้าตัดสินใจ จนเป็นภาระของผู้ใต้บังคับบัญชาที่จะต้องหาข้อมูลมากเกินความเป็นจริง หรือผู้บริหารลักษณ์ 1 ที่มีมาตรฐานสูงเกินความเป็นจริง จนทำให้เกิดภาระงานที่เกินความเป็นจริง


ผู้นำลักษณ์ 1 ผู้แสวงหาความสมบูรณ์แบบ

สไตล์การบริหารและการเป็นผู้นำ

ผู้นำลักษณ์ 1 มีจุดแข็งคือการใส่ใจรายละเอียดงานและมาตรฐานที่ค่อนข้างสูงเหนือคนอื่นทั่วไป พวกเขาเป็นคนที่ทุ่มเทให้กับงาน เอาใจใส่คุณภาพของงาน ผู้นำลักษณ์ 1 มักจะมีคำวิจารณ์และหาข้อผิดพลาดของผลงานได้เสมอ ซึ่งทั้งหมดที่เขาทำไปเพราะต้องการให้งานมีการพัฒนา และพวกเขาต้องการความสมบูรณ์แบบในงานทุกชิ้นที่กำลังทำ


ปัญหาที่ลูกน้องหรือผู้ใต้บังคับบัญชาอาจพบเมื่อทำงานกับหัวหน้าลักษณ์ 1

  • การสั่งการแบบ micro-managing ที่ไม่ให้อิสระลูกน้องในการสร้างสรรค์งานในแบบของตัวเอง

  • เกิดความเครียดในการทำงานจากมาตรฐานที่สูงเกินความเป็นจริง

  • บรรยากาศการทำงานเต็มไปด้วยความกลัว

คำแนะนำสำหรับผู้นำลักษณ์ 1

  • มองภาพรวมเพื่อลดภาระการทำงานในรายละเอียดที่ไม่จำเป็น

  • เข้าใจว่าความสัมพันธ์ของผู้คนในทีมส่งผลต่อคุณภาพในการทำงาน

  • ให้อิสระกับสมาชาิกในทีมได้ทำงานในแนวทางของตนเอง


ผู้นำลักษณ์ 2 ผู้ให้

สไตล์การบริหารและการเป็นผู้นำ

ผู้นำลักษณ์ 2 มีความเป็นมิตร ใส่ใจสมาชิกในทีมราวกับว่าทุกคนคือคนสำคัญที่สุด ให้ความสำคัญเรื่องบรรยากาศการทำงานที่มีความอบอุ่นและการช่วยเหลือกัน มักจะใช้วิธีการสอนแนะนำเพื่อสร้างความสัมพันธ์และพัฒนาการทำงาน


ปัญหาที่ลูกน้องหรือผู้ใต้บังคับบัญชาอาจพบเมื่อทำงานกับหัวหน้าลักษณ์ 2

  • ลูกน้องอาจรู้สึกว่าหัวหน้าลำเอียง เลือกปฏิบัติ

  • อาจมีกระบวนการตัดสินใจหรือการทำงานที่ไม่ชัดเจน

  • ให้ความสำคัญกับเรื่องความสัมพันธ์มากกว่าคุณภาพของงาน

คำแนะนำสำหรับผู้นำลักษณ์ 2

  • ควรกล้าบอกการตัดสินใจของตนเองที่เห็นต่างกับผู้อื่น

  • สร้างความสมดุลระหว่างความสัมพันธ์ของคนในทีมกับเป้าหมายขององค์กร

  • ขอความช่วยเหลืออย่างตรงไปตรงมากับสมาชิกในทีม แม้กระทั่งกับคนที่มีระดับความสัมพันธ์ไม่ค่อยสูงนัก


ผู้นำลักษณ์ 3 นักแสดง

สไตล์การบริหารและการเป็นผู้นำ

ผู้นำลักษณ์ 3 มุ่งเป้าไปที่ผลลัพธ์ ความมีประสิทธิภาพ พวกเขามีพลังอันล้นเหลือที่จะทำงานก้าวไปข้างหน้า มองเห็นโอกาส วางแผนเพื่อเข้าใกล้ความสำเร็จโดยปรับตัวเข้ากับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงได้ดีเยี่ยม


ปัญหาที่ลูกน้องหรือผู้ใต้บังคับบัญชาอาจพบเมื่อทำงานกับหัวหน้าลักษณ์ 3

  • ลูกน้องเหนื่อย มีภาระงานจำนวนมาก เนื่องจากมีเป้าหมายมาก

  • ลักษณะการทำงานอย่างรวดเร็วที่มุ่งเน้นผลลัพธ์และความสำเร็จอาจกระทบความสัมพันธ์ระหว่างหัวหน้าและทีม

  • ลูกน้องรู้สึกเหมือนตัวเองเป็นฟันเฟืองที่มีหน้าที่ทำงานให้เสร็จ ทำงานเพื่อความสำเร็จขององค์กร โดยขาดมิติทางด้านจิตใจ

คำแนะนำสำหรับผู้นำลักษณ์ 3

  • ฟังเสียงจากสมาชิกในทีมที่บางครั้งอาจทำให้ไปสู่เป้าหมายช้าลง ให้ความสำคัญกับคนในทีมที่นอกเหนือไปจากประสิทธิภาพที่พวกเขาสามารถทำได้

  • สร้างความสมดุลการทำงานและการพักผ่อน

  • ระลึกไว้เสมอว่าความสำเร็จของการทำงานร่วมกันเกิดจากความสำเร็จของคนทุกๆ คนในทีม และนอกจากความสำเร็จในการทำงานแล้วยังมีมิติอื่นที่สำคัญในการทำงานด้วยเช่นกัน


ผู้นำลักษณ์ 4 ผู้โศกซึ้ง

สไตล์การบริหารและการเป็นผู้นำ

ผู้นำลักษณ์ 4 ต้องการทำสิ่งที่แตกต่าง เป็นเอกลักษณ์ เป็นแบบของตัวเอง มีความเข้าใจความความทุกข์ ความยากลำบางของผู้คน ทำให้พร้อมที่จะช่วยเหลือลูกน้องหรือเพื่อนร่วมงานที่กำลังประสบกับปัญหาอยู่เสมอ บางครั้งเขาอาจดูอ่อนไหว เข้าใจยาก แต่บางครั้งพวกเขาก็เป็นคนที่ตรงไปตรงมา กล้าพูดในสิ่งที่คนไม่อื่นไม่กล้า และทำในสิ่งที่คนอื่นไม่กล้าทำ


ปัญหาที่ลูกน้องหรือผู้ใต้บังคับบัญชาอาจพบเมื่อทำงานกับหัวหน้าลักษณ์ 4

  • ลูกน้องรู้สึกไม่มั่นคงกับสภาวะอารมณ์ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของพวกเขา

  • อาจต้องทำงานในแบบที่พวกเขาชอบ ซึ่งอาจไม่มีเหตุผล ไม่มีประสิทธิภาพ

  • ลูกน้องไม่เข้าใจพวกเขา รู้สึกว่ามีความห่างเหิน ไม่เหมือนกัน แตกต่างมากเกินไป

คำแนะนำสำหรับผู้นำลักษณ์ 4

  • เรียนรู้ที่จะดูแลอารมณ์ความรู้สึก

  • สร้างความมีประสิทธิภาพ ใช้เหตุผลกับการทำงาน

  • เข้าใจว่าความแตกต่างที่นำไปสู่ผลลัพธ์ขององค์กรและความแตกต่างที่ไม่ได้นำไปสู่ผลลัพธ์ขององค์กร


ผู้นำลักษณ์ 5 นักสังเกตการณ์

สไตล์การบริหารและการเป็นผู้นำ

ผู้นำลักษณ์ 5 ใช้หลักการ ข้อมูลความรู้ ในการขับเคลื่อนทีม พวกเขาเป็นผู้นำที่ใช้ตรรกะในการตัดสินใจและวางแผน มีวิธีการบริหารงานโดยให้ทุกคนได้มีอิสระอย่างเต็มที่ในการทำงานของตัวเอง ไม่ก้าวก่ายงานของลูกน้องจนกว่างานเหล่านั้นจะถูกนำมาประเมินผล และคอยให้คำแนะนำหรือข้อมูลที่จำเป็นแก่พวกเขา


ปัญหาที่ลูกน้องหรือผู้ใต้บังคับบัญชาอาจพบเมื่อทำงานกับหัวหน้าลักษณ์ 5

  • ไม่สามารถสื่อสารกับหัวหน้าลักษณ์ 5 ได้อย่างเต็มที่ เพราะถ้อยคำหรือวิธีการพูดคุยที่แตกต่างกัน

  • เข้าถึงตัวค่อนข้างยาก ไม่ค่อยพบตัวหรือมีปฏิสัมพันธ์ด้วย

  • ให้ความสำคัญกับการรวบรวมข้อมูล วิเคราะห์ วางแผน แต่อาจไม่ได้เริ่มลงมือทำ

คำแนะนำสำหรับผู้นำลักษณ์ 5

  • มีส่วนร่วมและมีปฏิสัมพันธ์กับลูกน้องมากขึ้น ระลึกไว้เสมอว่าความสัมพันธ์เป็นสิ่งที่เกื้อหนุนให้การทำงานเป็นทีมเป็นไปได้อย่างราบรื่น

  • ทำความเข้าใจมิติอื่นที่นอกเหนือจากข้อมูลและตรรกะเช่น อารมณ์ความรู้สึก

  • รู้ตัวว่าตัวเองอาจติดอยู่กับการรวบรวมข้อมูลที่เกินความจำเป็น หากไม่ถูกบีบคั้นให้ตัดสินใจ


ผู้นำลักษณ์ 6 นักปุจฉา

สไตล์การบริหารและการเป็นผู้นำ

ผู้นำลักษณ์ 6 มักจะตรวจสอบความเสี่ยงของทุกการตัดสินใจ และคิดถึงความเป็นไปได้ด้านลบที่จะเกิดขึ้น เพื่อรับมือกับสถานการณ์เหล่านั้น พวกเขาเป็นคนที่รับมือกับสถานการณ์ต่างๆ ที่ไม่คาดคิดได้เป็นอย่างดีเพราะได้หาทางรับมือกับสิ่งเหล่านั้นไว้แทบจะทั้งหมดแล้ว มักจะบริหารงานด้วยความปลอดภัยและบริหารความเสี่ยงอย่างมีประสิทธิภาพ


ปัญหาที่ลูกน้องหรือผู้ใต้บังคับบัญชาอาจพบเมื่อทำงานกับหัวหน้าลักษณ์ 6

  • ลูกน้องต้องใช้เวลานานในการได้รับความเชื่อใจให้ทำสิ่งที่สร้างสรรค์ แตกต่าง

  • เกิดความเครียดกับสถานการณ์เลวร้ายที่หัวหน้าคิดค้น หาทางรับมือ หรืออาจทำให้ปัญหาใหญ่กว่าความเป็นจริง

  • อาจถูก micro-managing ในงานที่กำลังทำ

คำแนะนำสำหรับผู้นำลักษณ์ 6

  • อยู่กับความเป็นจริง แยกแยะสิ่งที่ตนจินตนาการและความเป็นจริงออกจากกัน

  • ระลึกไว้เสมอว่าไม่จำเป็นต้องคิดถึงสถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุดในทุกสถานการณ์

  • ทดลองทำสิ่งที่อยู่นอกเหนือพื้นที่ปลอดภัย (comfort zone) ของตัวเอง


ผู้นำลักษณ์ 7 ผู้เสพสุข

สไตล์การบริหารและการเป็นผู้นำ

ผู้นำลักษณ์ 7 ให้ความสำคัญกับทัศนคติที่ดีในการทำงาน กลยุทธ์ที่ใช้ในการวางแผนเพื่อบรรลุเป้าหมาย และต้องการให้ที่ทำงานเป็นที่ที่มีพลังในการสร้างสรรค์งานออกมา พวกเขารักนวัตกรรมที่แปลกใหม่ ไอเดียที่สร้างสรรค์ อยากให้ทุกคนมีความสนุกสนานในการทำงานร่วมกัน


ปัญหาที่ลูกน้องหรือผู้ใต้บังคับบัญชาอาจพบเมื่อทำงานกับหัวหน้าลักษณ์ 7

  • ลูกน้องอาจพบว่าหัวหน้าใส่ใจความสนุกสนานมากเกินความจำเป็น จนทำให้ภาระงานเพิ่มขึ้น หรือเกิดความล่่าช้าในการทำงาน

  • อาจพบว่ามีโปรเจคมากมายที่หัวหน้าอยากทำ พวกเขาเปลี่ยนใจเร็ว และมีไอเดียใหม่ๆ มากจนทำงานไม่ทัน และไม่มีเวลาทำให้โปรเจคที่สำคัญได้ทำอย่างเต็มที่

  • ลูกน้องอาจพบว่าเขาหลีกเลี่ยงความผิดพลาดที่คนในทีมหรือตัวเองทำ ไม่ต้องการยอมรับปัญหาและความขัดแย้งตรงไปตรงมา

คำแนะนำสำหรับผู้นำลักษณ์ 7

  • ทำสิ่งต่างๆ ให้ช้าลง คิดให้รอบคอบและมองให้รอบด้านก่อนตัดสินใจ

  • ยอมรับปัญหาและความขัดแย้งที่เกิดขึ้นเพื่อลงมือใส่ใจแก้ไขปัญหา

  • มั่นใจว่าจะทำงานได้เสร็จตามกำหนดอย่างมีประสิทธิภาพก่อนที่จะสังสรรค์หรือทำเรื่องสนุกสนาน


ผู้นำลักษณ์ 8 เจ้านาย

สไตล์การบริหารและการเป็นผู้นำ

ผู้นำลักษณ์ 8 ตัดสินใจได้อย่างมั่นคงและชัดเจน เขาต้องการให้สิ่งต่างๆ มีการจัดการที่ดี อยู่ภายใต้การควบคุม มักจะมีลักษณะตรงไปตรงมาจนทำให้หลายคนรู้สึกเกรงกลัว เป็นนักจัดการที่ทำให้สิ่งต่างๆ บรรลุผลลัพธ์ได้ แม้ว่าพวกเขาอาจมีท่าทีดุดันน่าเกรงขาม แต่ในขณะเดียวกันก็ใส่ใจลูกน้องเป็นอย่างดี พร้อมที่จะปกป้องลูกน้องทุกคนไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นก็ตาม


ปัญหาที่ลูกน้องหรือผู้ใต้บังคับบัญชาอาจพบเมื่อทำงานกับหัวหน้าลักษณ์ 8

  • ลูกน้องอาจรู้สึกเครียดเมื่อต้องอยู่ร่วมกับหัวหน้า เพราะบรรยากาศที่กดดัน ดุดัน และอารมณ์ที่เข้มข้นจากหัวหน้า

  • ไม่มีปฏิสัมพันธ์กับหัวหน้า ขาดการมีความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างกันในมิติที่นอกเหนือจากการทำงาน

  • การสั่งการแบบ micro-managing ที่ไม่ให้อิสระลูกน้องในการสร้างสรรค์งานในแบบของตัวเอง

คำแนะนำสำหรับผู้นำลักษณ์ 8

  • เรียนรู้ที่จะดูแลอารมณ์โกรธของตัวเอง ไม่ปล่อยให้ตัวเองมีความโกรธที่เข้มข้นจนลูกนัองหวาดกลัว ลดระดับพลังงานของตัวเองลงเมื่ออยู่กับผู้คน

  • มีปฏิสัมพันธ์กับลูกน้องในมิติที่มากกว่าการทำงานเพียงอย่างเดียว

  • คิดอย่างรอบคอบก่อนที่จะลงมือทำอะไร


ผู้นำลักษณ์ 9 ผู้ประสานไมตรี

สไตล์การบริหารและการเป็นผู้นำ

ผู้นำลักษณ์ 9 มักจะมีลักษณะสงบ ฟังความคิดเห็นของลูกน้องทุกคน พวกเขาต้องการให้มีความขัดแย้งระหว่างกันน้อยที่สุดในการทำงานร่วมกัน จนบางครั้งอาจเผลอหลีกเลี่ยงความขัดแย้งเพราะอยากให้ทุกคนทำงานร่วมกันได้อย่างลงรอยกัน พวกเขาเก่งในการทำให้ผู้คนรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของทีมและเข้าอกเข้าใจลูกน้องทุกคน


ปัญหาที่ลูกน้องหรือผู้ใต้บังคับบัญชาอาจพบเมื่อทำงานกับหัวหน้าลักษณ์ 9

  • ลูกน้องว่าหัวหน้าไม่มีความคิดเป็นของตัวเอง ไม่มีทิศทาง คล้อยตามคนอื่นไปหมด

  • เมื่อมีปัญหากลับไม่ได้รับการแก้ไขปัญหาที่แท้จริง เพราะหัวหน้าเป็นห่วงเรื่องความกลมเกลียวและความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในความสัมพันธ์มากกว่าการแก้ไขปัญหาเชิงระบบ

  • ลำดับงานได้ไม่ดี ช่วยเหลืองานของฝ่ายอื่นจนละเลยงานของทีม

คำแนะนำสำหรับผู้นำลักษณ์ 9

  • เรียนรู้ที่จะตัดสินใจเองอย่างหนักแน่น โดยไม่ต้องให้ทุกคนเห็นพ้องต้องกันก็ได้

  • เผชิญหน้ากับปัญหาความขััดแย้ง และกลัาที่จะขัดแย้้งเพื่อทำตามเป้าหมายของงาน

  • คิดวางแผนและลงมือทำงานให้สำเร็จตามความสำคัญที่แท้จริง


เวิร์คช็อปนพลักษณ์ขั้นต้น (Enneagram Workshop)

Related Topics


แหล่งอ้างอิงและข้อมูลเพิ่มเติม

  • Chestnut, Beatrice. 2013. The complete Enneagram. Berkeley: She Writes Press.

  • Palmer, Helen. 1991. The Enneagram: Understanding Yourself and the Others In Your Life.

  • Wagele, Elizabeth, and Renee Baron. 1995. Are You My Type, Am I Yours? : Relationships Made Easy Through The Enneagram.

  • https://girlboss.com/blogs/read/enneagram-type-results-for-managers

  • https://www.truity.com/blog/how-be-better-boss-based-your-enneagram-type

  • https://www.psychologyjunkie.com/2022/07/24/the-leadership-style-of-every-enneagram-type/

 

Urbinner เป็นพื้นที่ให้ทุกคนได้เติบโตจากการเรียนรู้ในทุกช่วงเวลาของชีวิต โดยทีมนักจัดกระบวนการจะพาคุณไปเรียนรู้ทักษะที่นำไปสู่การเข้าใจตัวเอง สร้างความสัมพันธ์ที่ดี และการตระหนักรู้ร่วมกัน เพื่อให้ทุกคนสามารถทำในสิ่งที่มีคุณค่าและความหมายสำหรับตัวเอง องค์กร และชุมชนของเราได้

ดู 8,027 ครั้ง0 ความคิดเห็น

Comments


Facebook group Banner.jpg
bottom of page