Highlights
Facilitation คือ กระบวนการที่ใช้เทคนิคต่างๆ เพื่อค้นหา, สร้าง, หรือประยุกต์ สิ่งใดสิ่งหนึ่งได้บรรลุไปตามเป้าหมาย
Facilitation จะช่วยให้กลุ่มคนได้ทำหน้าที่ของตัวเองได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยเฉพาะเมื่อต้องทำงานร่วมกันในกลุ่มคนที่มาจากหลากหลายกลุ่ม
Facilitation ในปัจจุบันถูกใช้ในบริบทต่างๆ เช่นภาวะผู้นำ (facilitative leader) นักอบรม (facilitative trainer), หรือการสอน (facilitative learning) ไปอย่างแพร่หลาย
เราที่อยู่ในองค์กร หน่วยงาน และบริษัทคงจะเคยมีเวลาที่ต้องแก้ไขปัญหา สร้างองค์ความรู้ ค้นหานวตกรรม และตอนที่ทำงานร่วมกันเป็นทีม ช่วงเวลาเหล่านั้นเป็นอย่างไรบ้าง? หลายองค์กร หน่วยงานอาจประสบกับความกกดัน หลายองค์กรไม่สามารถแก้ไขปัญหาด้วยวิธีใหม่ๆ ได้ตั้งแต่ในกระบวนการพูดคุย ระดมความคิด เพราะมักจะติดอยู่กับกระบวนการคิดแบบเดิมๆ สภาพแวดล้อมแบบเดิม
ปัญหาเหล่านี้เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นเรื่อยๆ โดยที่มักจะเกิดจากความไม่รู้ว่ากระบวนการเดิมๆ ตอนที่ใช้ประชุม ระดมความคิด เพื่อแก้ไขปัญหาหรือสร้างความเปลี่ยนแปลงอาจไม่ได้มีประสิทธิภาพ ตอบโจทย์การระดมความคิดในยุคสมัยใหม่ที่เน้นการมีส่วนร่วมจากทุกคน จนเกิดมาเป็นกระบวนการที่เรียกว่า Facilitation
Facilitation คืออะไร?
Facilitation คือ กระบวนการที่ใช้เทคนิคต่างๆ เพื่อค้นหา, สร้าง, หรือประยุกต์ สิ่งใดสิ่งหนึ่งโดยอาจเป็น การเรียนรู้ องค์ความรู้้ เป้าหมาย วิธีการ ความต้องการ ตามเป้าหมายของกลุ่มหรือผู้เข้าร่วม โดยเป็นกระบวนการที่ให้ความสำคัญที่ตัวผู้เข้าร่วม วิธีการที่ใช้ การได้มาซึ่งข้อมูลจากผู้เข้าร่วม และตัวผู้เข้าร่วมเอง เพื่อบรรลุเป้าหมายที่ต้องการ
โดยเราเรียกผู้จัดกระบวนการเรียนรู้ว่า Facilitator หรือ กระบวนกร, วิทยากรกระบวนการ, วิทยากรอำนวยความสะดวก, ฟา, ผู้จัดกระบวนการ ในภาษาไทย
Facilitation เป็นศาสตร์ที่เกิดขึ้นและได้รับการพัฒนาเป็นทางการอย่างต่อเนื่องได้ไม่นานนัก โดยหากอ้างอิงจากสมาคม IAF (The International Association of Facilitators) จะทราบว่าสมาคม Facilitator ระหว่างประเทศอย่าง IAF เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2537 ซึ่งถือว่าเป็นการเริ่มต้นที่ค่อนข้างใหม่ เมื่อเทียบกับระบบต่างๆ เช่นโรงเรียนใหม่ที่เกิดขึ้นและได้รับการพัฒนามาเรื่อยๆ จากตะวันตกตั้งแต่ศตวรรษที่ 16 และเริ่มเข้ามามีบทบาทในวงการศึกษา ธุรกิจ และการพัฒนาชุมชนในประเทศไทยได้ไม่นานนัก
Facilitation มีกระบวนการอย่างไร?
กระบวนการใน Facilitation นั้นจะแตกต่างกันออกไปในแต่ละลักษณะประเภทของ Facilitation และยังขึ้นอยู่กับ เป้าหมาย ผลลัพธ์ และสภาพแวดล้อมในบริบทต่างๆ แต่ทุกกระบวนการจะสร้างพื้นที่ให้ผู้เข้าร่วมได้มีส่วนร่วมในกระบวนการเพื่อบรรลุเป้าหมาย
เพราะกระบวนการ Facilitation จะแตกต่างกันออกไปตามบริบทและประเภทของการ Facilitation ดังนั้นจึงไม่มีสูตรตายตัวว่ากระบวนการของ Facilitation เป็นอย่างไร แต่โดยรวมแล้วกระบวนการที่เกิดขึ้นในการ Facilitation จะมีคล้ายๆ กัน ดังนี้
สร้างพื้นที่ปลอดภัย ทำความเข้าใจผู้เข้าร่วม
รับข้อมูล องค์ความรู้ สถานการณ์
จัดเรียง สังเกต วิเคราะห์ข้อมูลที่ได้รับ
สรุปผล ตัดสินใจ หรือสร้างแนวทาง
สิ่งสำคัญของ Facilitation คือการให้ความสำคัญกับกระบวนการหรือ Process ที่จะได้มาซึ่งผลลัพธ์ตามบริบทนั้นๆ เพราะผู้นำกระบวนการหรือ Facilitator เชื่อว่ากระบวนการและลำดับของการจัดกระบวนการต่างๆ จะมีผลต่อคุณภาพในการให้ข้อมูล การจัดการข้อมูล การสร้างสรรค์ ตัดสินใจ หรือพูดคุยกันเพื่อสร้างความเข้าใจ
ประเภทของ Facilitation
ในองค์กร บริษัท หน่วยงาน ภาคธุรกิจ หรือการพัฒนาชุมชน เรามักจะพบ Facilitation ในบริบทที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งโดยหลักๆ แล้วมีดังนี้
การประชุมอย่างมีประสิทธิภาพ
การประชุมมักจะเป็นโอกาสเดียวที่หลายคนได้มาพบกันและมีโอกาสตอบโต้กันได้ทันที แต่หลายครั้งที่การประชุมมักจะเกิดขึ้นอย่างไม่มีประสิทธิภาพ บ้างก็อาจกินระยะเวลานานและยืดเยื้อ จนทำให้ทุกคนสูญเสียเวลาที่สำคัญของตัวเองไป โดยเฉพาะสำหรับคนที่มีการประชุมจำนวนมากจนทำให้ไม่มีเวลาทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
การประชุมอย่างมีประสิทธิภาพไม่ได้หมายถึงการประชุมที่สั้น กระชับ และเลิกตรงเวลา แต่ต้องอาศัยการดูภาพรวมเรื่องเวลา ความมีส่วนร่วม และความสำคัญของวาระประชุมด้วย ซึ่ง
ในส่วนนี้ Facilitator จะทำหน้าที่นำการประชุมจะช่วยดูแลและจัดการการประชุมให้ตามข้อจำกัดที่มีเพื่อที่จะให้เวลาที่ได้ใช้ร่วมกันในการประชุมเกิดประสิทธิภาพสูงสุด
การตัดสินใจอย่างมีส่วนร่วม
ในการตัดสินใจที่ต้องอาศัยความคิดเห็น ทัศนะ หรือความต้องการของแต่ละคน แต่ละฝ่าย กระบวนการ Facilitation จะช่วยนำพาให้แต่ละคนได้เห็นมิติ มุมมองของแต่ละฝ่ายได้ ผ่านกระบวนการที่เหมาะสมกับสถานการณ์นั้นๆ
ในการตัดสินใจอย่างมีส่วนร่วมกระบวนการ Facilitation จะช่วยให้เราค่อยๆ เห็นปัญหาในหลากหลายมิติได้
การดูแลปัญหาความขัดแย้ง
เมื่อเกิดความขัดแย้งขึ้นและต้องหาทางออกร่วมกัน กระบวนการ Facilitation จะช่วยให้แต่ละคนได้กล่าวเล่าถึงปัญหา และความขัดแย้งที่มีก่อนและนำพาไปสู่บทสรุปที่ดีที่สุดที่สามารถมีร่วมกันได้
ไม่จำเป็นต้องรอให้เกิดปัญหาความขัดแย้งที่มีขนาดใหญ่ให้เกิดขึ้นก่อน เราสามารถป้องกันปัญหาความขัดแย้งขนาดใหญ่ที่เกิดขึ้นได้ โดยการดูแลปัญหาเหล่านั้นตอนที่มันยังมีขนาดเล็กมากพอที่เราจะจัดการดูแลมันได้ เพราะปัญหาความขัดแย้งขนาดใหญ่อาจไม่สามารถทำให้จบได้ภายในครั้งเดียว และจำเป็นที่จะต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่ายอีกด้วย
การพัฒนาและสร้างสรรค์นวตกรรม (Innovation) องค์ความรู้ (Tacit knowledge)
Facilitation ถูกใช้บ่อยมากในการสร้างสรรค์นวตกรรม และเรามักจะเห็นการใช้เทคนิคเหล่านี้บ่อยๆ ในเครื่องมือต่างๆ เช่น Design Thinking
ในส่วนของการพัฒนาองค์ความรู้ที่ยังมีความคลุมเครืออยู่ Facilitation จะมีความสำคัญและสามารถช่วยได้ในแง่ของการจัดเรียงข้อมูล และการทำให้เห็นภาพรวม
การระดมความคิดเพื่อวางแผนหรือสร้างสรรค์เชิงกลยุทธ์
Facilitation มักจะถูกใช้ในกระบวนการการระดมความคิดเพื่อวางแผน หรือสร้างแผนการเชิงกลยุทธที่จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายฝ่าย เพื่อที่จะให้แต่ละคนสามารถแสดงความคิดและวางแผนร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ
การประเมินภายในและการถอดบทเรียน
สำหรับโปรเจคทีม หรือองค์กร บริษัทที่มีการประเมินประจำปี และต้องการประเมินภายในที่ต้องการความคิดเห็นจากสมาชิกภายในทีม กระบวนการ Facilitation จะช่วยได้เป็นอย่างดี โดยอาจเป็นการสำรวจเชิงคุณภาพแบบกลุ่ม หรือ Focus Group เพื่อนำข้อมูลไปประกอบกับการพิจารณาการดำเนินงาน การถอดบทเรียนการทำงานในแต่ละโปรเจคเพื่อให้ประสบการณ์ของแต่ละคนได้เกิดการถ่ายทอดได้
สถานการณ์ที่ควรจะใช้ Facilitation
ในกรณีที่ผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้นมีความสำคัญ หากผลลัพธ์ที่ได้มีความสำคัญเช่นเป็นการตัดสินใจที่ส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์องค์กร การวางแผนโครงการที่จะต้องทำต่อเนื่องตลอดทั้งปี และมีหลากหลายความคิดเห็น หลายมุมมองในแง่ต่างๆ Facilitation จะช่วยให้แต่ละคนได้เห็นภาพรวมและตัดสินใจได้ดีขึ้น
ที่มีกลุ่มคนที่มีความเห็นค่อนข้างมาก และการได้มาซึ่งคำตอบจำเป็นต้องได้คำตอบแบบฉันทามติ หรือมีความเห็นร่วมกัน (consensus)
ต้องการให้คำตอบ วิธีการ มีความสร้างสรรค์มากขึ้น หรือในกรณีที่ไม่มีคำตอบที่ดีพอ กระบวนการใน Facilitation จะช่วยให้แต่ละคนได้ระดมความคิดมากขึ้น และได้เห็นมุมมองที่หลากหลายมากขึ้น
ในกรณีที่ต้องการสร้างความเป็นทีม เนื่องจากกระบวนการจะให้ทุกคนมีส่วนร่วมดังนั้น Facilitation จะช่วยทำให้ทุกคนรู้สึกมีส่วนร่วมมากขึ้น
ต้องอาศัยคนกลาง บางครั้งการมีคนกลางเพื่อสำรวจความคิดเห็น แก้ไขปัญหาความขัดแย้ง หรือทำหน้าที่เป็นกลางเป็นสิ่งจำเป็น และจะทำให้คนได้มีความผ่อนคลาย ไว้วางใจมากกว่าคนจากภายใน
ในบางบริบทที่หัวหน้า ผู้ที่มีตำแหน่งสูงกว่าจำเป็นที่จะต้องแสดงความคิดเห็น หรือมีส่วนนร่วมในกระบวนงาน ผู้นำกระบวนการจะเป็นช่วยเหลือและเป็นคนกลางในการประชุม ระดมความคิด วางแผนกับคนอื่นๆ โดยที่หัวหน้าสามารถเข้าร่วมได้อย่างเต็มที่
การทำงานที่วิธีการทำงานไม่แน่นอน ไม่ชัดเจน เช่นขั้นตอนการสร้างสรรค์ รวบรวมองค์ความรู้ ที่อยู่ในขั้นพัฒนาและมีวิธีการทำงานที่ไม่ชัดเจนอาจต้องอาศัย Facilitation หลายๆ ครั้งเพื่อให้ Facilitator ได้ทำงานร่วมกับคนในทีม
การพูดคุย วางแผน ตัดสินใจ ที่มีความรับผิดชอบร่วมกันหลายคน และต้องการความคิดเห็นจากหลากหลายมุมมอง
เมื่อไหรที่ไม่ควรเลือกใช้ Facilitation
ตอนที่การตัดสินใจเกิดขึ้นแล้ว
ผู้ตัดสินใจไม่ต้องการเปิดให้มีทางเลือกอื่น หรือเกิดการตัดสินใจร่วมกันกับคนอื่น
เป็นการประชุมที่มีแต่การแจ้งข้อมูลให้ทราบและไม่ต้องการการมีส่วนร่วมจากคนอื่นๆ ในกลุ่ม
วาระการประชุม การตัดสินใจ หรือการวางแผนใน ครั้งนั้นทุกคนมีวิธีการจัดการร่วมกันอยู่แล้ว และเห็นพ้องต้องกัน
การประยุกต์ Facilitation ในบริบทต่างๆ
Facilitation เป็นกระบวนการที่ได้รับความแพร่หลายในสาขาต่างๆ เช่นการศึกษา, ภาวะผู้นำ, การจัดการ เป็นต้น
Facilitative Learning/ Facilitative Teaching
เป็นการนำเทคนิคของ Facilitation มาใช้ในการศึกษา ซึ่งโดยมากจะให้นักเรียนได้สร้างความหมายและเข้าใจความสำคัญของความคิดนั้นๆ เรื่องราวนั้นๆ ด้วยตัวเอง โดยมาอาจารย์เป็นเพียงผู้แนะนำเท่านั้น
Facilitative Leader
โดยทั่วไปหัวหน้า ผู้นำ ผู้จัดการมักจะเป็นผู้ตัดสินใจ ให้คำสั่ง หรือกำหนดเป้าหมายทิศทางในการทำงาน แต่สำหรับผู้นำในแบบ Facilitative Leader จะอนุญาตให้การตัดสินใจเกิดขึ้นร่วมกันทั้งกลุ่ม (ทั้งนี้จะขึ้นกับบริบท ภาพรวมที่แต่ละคนมีร่วมกันด้วย ไม่จำเป็นที่ทุกคนจะต้องตัดสินใจหรือกำหนดอะไรบางอย่างร่วมกันในทุกเรื่อง ทุกคน ทุกอย่าง) ซึ่งจะทำให้เกิดนวตกรรมใหม่ๆ ความร่วมมือ และความภูมิใจมากขึ้นกว่าการตัดสินใจแบบถ่ายทอดคำสั่ง
Facilitative Training
เป็นการนำเทคนิคของ Facilitation มาใช้เพื่อสร้างบรรยากาศของการเรียนรู้ที่มีส่วนร่วม เพื่อให้ผู้เข้าร่วมได้เข้าใจเนื้อหา ได้มีประสบการณ์ตรงกับเนื้อหา หรือได้สร้างสรรคฺ์ ประยุกต์สิ่งต่างๆ จากเนื้อหาที่ต้องการ โดยส่วนมากจะเน้นไปที่การเรียนรู้ของผู้เข้าร่วมในเนื้อหานั้นๆ และทำให้ผู้เข้าร่วมได้เกิดความเข้าใจในเนื้อหานั้นๆ ได้ง่ายขึ้นผ่านกระบวนการ
Related Topics
แหล่งอ้างอิงและข้อมูลเพิ่มเติม
Urbinner เป็นพื้นที่ให้ทุกคนได้เติบโตจากการเรียนรู้ในทุกช่วงเวลาของชีวิต โดยทีมนักจัดกระบวนการจะพาคุณไปเรียนรู้ทักษะที่นำไปสู่การเข้าใจตัวเอง สร้างความสัมพันธ์ที่ดี และการตระหนักรู้้ร่วมกัน เพื่อให้ทุกคนสามารถทำในสิ่งที่มีคุณค่าและความหมายสำหรับตัวเอง องค์กร และชุมชนของเราได้
Comments