top of page
รูปภาพนักเขียนUrbinner

Dialogue จุดมุ่งหมายของความหวังใหม่ในศตวรรษด้วยสุนทรียสนทนา

อัปเดตเมื่อ 16 ต.ค. 2564

Highlights

  • Dialogue หรือสุนทรียสนทนาเป็นการพูดคุยเพื่อสร้างพื้นที่แห่งความเป็นไปได้ หรือความคิดใหม่ ด้วยการมีส่วนร่วมของทุกคน

  • มีพื้นที่สำหรับความเข้าใจในมิติที่ขาดหายไปจากการพูดคุยแบบ discussion หรือ debate เช่น อนุญาตให้ความเชื่อมโยง ความรู้สึก ประสบการณ์ ความเชื่อ ความรู้ เข้ามามีบทบาทในการสนทนา

  • ปัจจุบันเป็นถูกใช้ในวงกว้างตั้งแต่วงการศึกษา การเปลี่ยนแปลงสังคม และธุรกิจ เพราะสามารถสร้างการเรียนรู้และความเข้าใจร่วมกันได้

 

Dialogue เป็นที่โด่งดังจากหลากหลายวงการไม่ว่าจะเป็นธุรกิจ การศึกษา หรือสังคม ทำให้เป็นที่นิยมมากขึ้นอย่างต่อเนื่องสำหรับการสร้างความมีส่วนร่วมจากทุกส่วน



เนื้อหาในบทความ


สุนทรียสนทนา (Dialogue) คืออะไร?

สุนทรียสนทนา (dialogue) คือ รูปแบบของการพูดคุยกันตั้งแต่สองคนขึ้นไป โดยที่ผู้สนทนาจะมีโอกาสได้เข้าไปสำรวจประสบการณ์, ความเชื่อ, อารมณ์ความรู้สึก ความคิด และอธิบายสิ่งเหล่านั้นให้กับผู้อื่นอย่างเสมอภาค


นอกจากนี้กระบวนการ dialogue ยังให้ความสำคัญกับการรับฟังอย่างลึกซึ้ง (deep listening) ระหว่างกระบวนการ โดยผู้ที่เข้าร่วมจะ ไม่ตัดสินสิ่งเหล่านั้นในทันทีเมื่อมีคำตัดสิน ความเชื่อ ความเห็นต่างๆ นั้นปรากฏขึ้น


เราจะอธิบายประสบการณ์ ความรู้สึก ความเชื่อ หรือความจริงในรูปแบบของตนเองที่อาจแตกต่างไปจากผู้อื่นในกระบวนการ dialogue เพราะความจริงของมนุษย์เกิดจากสิ่งประสบการณ์ ความต้องการ ความรู้สึก ความกลัว ที่แต่ละคนมีต่างกันทำให้ความจริงที่เกิดขึ้นเป็นความจริงเฉพาะในความคิดของแต่ละคน ซึ่งความจริงเหล่านี้อาจเป็นชุดความจริงที่แตกต่างกัน


แก่นแท้ของ dialogue คือการสังเกตและเรียนรู้สิ่งที่ปรากฏขึ้น ทำให้ไม่มีกฏหรือวิธีการอย่างตายตัวระหว่างพูดคุย แต่ก็มีรูปแบบเพื่อเป็นแนวทางให้เกิดพื้นที่สำหรับการเรียนรู้ โดยหลักการของ dialogue จะเป็นเหมือนแผนที่ในการพาตัวเองเข้าไปสู่รูปแบบการสนทนาแบบ dialogue ที่จะช่วยให้ผู้คนได้สำรวจสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นระหว่างกระบวนการ


เหตุผลที่ทำให้สุนทรียสนทนา (Dialogue) เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง

การพูดคุยสื่อสารในรูปแบบทั่วไปมักจะมีข้อจำกัดจากประสบการณ์และความคุ้นเคยที่เกิดขึ้นจากการหล่อหลอมทางสภาพแวดล้อมที่เราอยู่เช่น การโต้แย้งเพื่อเอาชนะ หรือการหาขอสรุป ทำให้เรามีพื้นที่ที่จะสามารถเข้าใจปัญหาหรือเรื่องราวต่างๆ ได้น้อยลง


ส่วนสุนทรียสนทนาหรือ dialogue จะมีรูปแบบการพูดคุยที่ช่วยทำให้เราสามารถไปสำรวจรากของปัญหา เข้าใจความสัมพันธ์ของปัจจัยต่างๆ เพื่อค้นพบปัญหาที่ไม่เคยรับรู้, แก้ไขปัญหา, ตัดสินใจ, หรือสร้างสรรค์สิ่งใหม่ได้อย่างตระหนักรู้ โดยไม่จำกัดการแสดงออกทางความเชื่อหรือความรู้สึก


Dialogue มีที่มาจากที่ไหน?

Dialogue เกิดขึ้นตั้งแต่โสเครตีส (Socretis) หรือเพลโต (Plato) ในตะวันตก ส่วนความเป็นมาของ dialogue ทางตะวันออกมีปรากฏอยู่ตั้งแต่วัฒนธรรมของชาวอินเดียพื้นเมือง ซึ่งอาจมีรูปแบบที่แตกต่างกับ dialogue ในยุคสมัยใหม่


เนื่องจาก dialogue ในยุคนั้นมีการพัฒนาที่ต่อเนื่องจนเป็น dialogue ที่พบในทุกวันนี้ ซึ่งเกิดจากการวางแนวทางของนักฟิสิกส์ชื่อ David Bohm, นักปรัชญาชาวรัสเซียชื่อ Mikhail Bakhti และนักการศึกษาสมัยใหม่ชื่อ Paulo Freire โดยเราอาจเรียก dialogue ในทุกวันนี้อาจถูกเรียกว่า Bohm Dialogue/ Bohmian Dialogue หรือสุนทรียสนทนา


ส่วนคำว่า dialogue นั้นเกิดจากรากศัพท์คำว่า dia ที่หมายถึง through แปลว่าการทะลุทะลวง, ผ่านไป กับ logos ที่หมายถึง speech แปลว่าการพูด หรือ reason แปลว่าเหตุผล ส่วนในภาษาไทยคำว่า dialogue มักจะใช้คำว่า สุนทรียสนทนา, การสนทนาอย่างสร้างสรรค์ หรือการสนทนาเพื่อคิดร่วมกัน


ปัจจุบันการประยุกต์หลักการ dialogue ในหลากหลายภาคส่วนใช้หลักการของ egalitarian dialogue ซึ่งนำหลักการความมีส่วนร่วมจากความสมเหตุสมผลมาใช้พิจารณาเป็นหลัก แทนที่จะเป็นชื่อเสียง สถานภาพ การยอมรับ ตำแหน่ง โดย egalitarian dialogue เป็นหนึ่งในหลักการของ dialogic learning


อะไรที่ไม่ใช่ Dialogue บ้าง?

Dialogue ไม่ใช่การอภิปรายหรือการโต้เถียง ที่ปกติมักจะทำตามเป้าหมาย, ผลลัพธ์, ข้อตกลง, การประกาศความคิดเห็น หรือการแก้ไขปัญหาบางอย่างร่วมกัน ซึ่งรูปแบบการคุยแบบ dialogue มักพบในเทคนิคจิตบำบัดแบบกลุ่มมาอย่างยาวนาน แต่มีข้อแตกต่างกันตรงที่ dialogue ไม่ได้มีจุดมุ่งหมายเพื่อลบความรู้สึกที่ไม่ต้องการของผู้เข้าร่วม


นอกจากนั้น dialogue ยังไม่ได้มีจุดมุ่งหมายเพื่อสิ่งเหล่านี้ การสอน, training หรือวิเคราะห์สิ่งต่างๆ อย่างชี้เฉพาะ แม้ว่าผู้เข้าร่วมใน dialogue อาจแก้ไขปัญหา เรียนรู้ หรือมีความรู้สึกที่ดีขึ้นแต่นั่นไม่ใช่เทคนิคในการแก้ไขปัญหา หรือเป็นวิธีการเพื่อการเรียนรู้เรื่องใดเรื่องหนึ่ง แต่ dialogue จะมีลักษณะของ

  • การเพิ่มความเข้าใจระหว่างกัน

  • การหาจุดร่วม

  • ความเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มผู้เข้าร่วม


ทำไมถึงต้องใช้กระบวนการ Dialogue

Dialogue อนุญาตให้เกิดพื้นที่ของความคิด ความหมาย ความรู้สึก ความสร้างสรรค์ ที่สามารถทำให้เป็นไปได้ทั้งในระดับกลุ่ม (collective) และระดับของตนเอง (individual) โดยที่การสื่อสารในรูปแบบอื่นเช่นการถกเถียง การอภิปราย มีโอกาสน้อยที่จะนำไปสู่สิ่งเหล่านี้ได้


Dialogue สร้างโอกาสให้ผู้เข้าร่วมแต่ละคนสามารถตรวจสอบความเชื่อ, อคติ หรือรูปแบบทางความคิดของตนเองที่อยู่เบื้องหลังความคิด ความเชื่อ ความรู้สึกของพวกเขา นอกจากนั้นยังทำให้เกิดการแบ่งปันประสบการณ์ ปัญญา และมุมมองที่มีการมองเห็นสิ่งเหล่านี้อีกด้วย


จุดมุ่งหมายของ Dialogue

จุดมุ่งหมายของ dialogue คือการสร้างพื้นที่ของความเข้าใจ ความคิดสร้างสรรค์ ความเป็นไปได้ใหม่ ซึ่งมีบทบาทสำคัญแก้ปัญหาที่เกิดจากข้อจำกัดทางการสื่อสารที่สังคมเผชิญอยู่ ซึ่งการดำเนินการของ dialogue นั้นไม่ได้มีจุดประสงค์เพื่อการแก้ไขปัญหาใดๆ แต่เป็นไปเพื่อสร้างความมีส่วนร่วมและมุมมองร่วมกัน ด้วยการทำให้เกิดปัจจัยที่เอื้อต่อการสร้างพื้นที่ว่าง


การประยุกต์ใช้ Dialogue ในบริบทต่างๆ

ปัจจุบัน dialogue ถูกใช้ในหลากหลายวัตถุประสงค์เช่น


Dialogue ในกระบวนการเรียนรู้

Dialogue ในกระบวนการเรียนรู้ เป็นการนำกระบวนการของ dialogue มาเพื่อเรียนรู้ร่วมกัน โดยกระบวนการ dialogue ผู้ที่เรียนรู้ร่วมกันจะสามารถให้ข้อเสนอ ความคิดเห็น หรือหลักการต่างๆ โดยมีพื้นฐานจากความสมเหตุสมผล ไม่คำนึงถึงอำนาจหรือสถานะทางสังคม กระบวนการเรียนรู้จาก dialogue เป็นสิ่งที่มีมาแต่เดิมอยู่แล้ว เช่นใน Socratic dialogues (โสเครติส ไดอะล็อก) ในตะวันตก หรือในพุทธศาสนา ในตะวันออก


Dialogue ในการศึกษา

Dialogue ในการศึกษา เป็นการศึกษารูปแบบหนึ่งที่มีแนวคิดแบบ constructivism โดยจะเน้นสิ่งที่ผู้เรียนเป็นผู้สร้างความรู้จากประสบการณ์ตรงของตัวเอง และอาศัยหลักของ Dialogue Education ซึ่งเปลี่ยนจากผู้สอนเป็นผู้ให้คุณค่า, ถ่ายทอดประสบการณ์, ความรู้ และมอบหมายงานให้กับผู้เรียน เป็นการใช้กระบวนการ dialogue โดยให้ผู้เรียนเป็นศูนย์กลางของการเรียนรู้ โดยผู้เรียนจะถูกเชิญชวนให้มีส่วนร่วมกับเนื้อหาด้วยตัวเอง แทนที่จะต้องขึ้นอยู่กับผู้ให้ความรู้เป็นหลัก


โดยความคิดเห็นต่างๆ จะเป็นรูปแบบของคำถามปลายเปิดที่เสนอให้กับผู้เรียน และได้บอกเล่า ผสมผสานสิ่งเหล่านั้นในบริบทของตัวผู้เรียนเอง การใช้ dialogue ในบริบทเหล่านี้มีจุดประสงค์เพื่อให้กระบวนการนำไปสู่การเรียนรู้ที่มีความหมายของผู้เรียน และนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมได้


ซึ่งแนวคิดของ Dialogue Education ที่เป็นการศึกษาแบบ constructivism นี้สามารถเป็นวิธีการที่นำไปสู่การศึกษาแบบ transformative learning ได้



Dialogue เพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคม

Dialogue เป็นวิธีการที่สามารถทำให้เราได้มองหารากของปัญหาของสังคมได้ในหลากหลายมิติ เพราะกระบวนการของ Dialogue สามารถทำให้เรามองเห็นสิ่งต่างๆ ที่แยกออกจากกันเป็นหนึ่งเดียวกันได้ และนอกจากนั้น Dialogue อนุญาตให้เราสามารถเข้าไปสัมผัสกับส่วนผสมของปัญหาทางสังคมที่แยกไม่ขาดออกจากกัน ในขณะที่เราเป็นส่วนหนึ่งของสิ่งเหล่านั้น


Dialogue ในภาคธุรกิจ หน่วยงาน และองค์กร

ปัจจุบันมีการใช้ dialogue ในภาคธุรกิจหน่วยงาน และองค์กร เพราะ dialogue ช่วยเพิ่มความรู้สึกปลอดภายทางใจในที่ทำงาน (psychological safety) ที่จะทำให้เกิดสภาพแวดล้อมที่เป็นหนึ่งเดียวกัน, มีความตั้งใจที่ดี และมีความเคารพซึ่งกันและกัน โดยที่ทุกคนสามารถมีส่วนร่วมได้



นอกจากนี้การใช้กระบวนการ dialogue ยังทำให้เกิดการแบ่งปันประสบการณ์และเรียนรู้ร่วมกัน ทั้งภายในและระหว่างหน่วยงาน โดยปราศจากการชักจูง โน้มน้าว หรือถกกัน เพื่อสร้างพื้นที่ในการสร้างพื้นที่ของการมีความหมายร่วมกัน


#Dialogue #สุนทรียสนทนา


Related Topics

แหล่งอ้างอิงเพิ่มเติม

 

Urbinner เป็นพื้นที่ให้ทุกคนได้เติบโตจากการเรียนรู้ในทุกช่วงเวลาของชีวิต โดยทีมนักจัดกระบวนการจะพาคุณไปเรียนรู้ทักษะที่นำไปสู่การเข้าใจตัวเอง สร้างความสัมพันธ์ที่ดี และการตระหนักรู้ร่วมกัน เพื่อให้ทุกคนสามารถทำในสิ่งที่มีคุณค่าและความหมายสำหรับตัวเอง องค์กร และชุมชนของเราได้

Comments


bottom of page