top of page
  • รูปภาพนักเขียนUrbinner

3Ds - Discussion Debate Dialogue รูปแบบที่ทำให้คุณเข้าใจธรรมชาติของการสื่อสาร

อัปเดตเมื่อ 16 ต.ค. 2564

การสังเกตรูปแบบของการสื่อสารที่แตกต่างกันทำให้คุณเห็นผลลัพธ์ที่มักปรากฏขึ้นได้


ลองนึกถึงบทสนทนาที่คุณเห็นหรือได้ไปเข้าร่วมที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันดูว่าคุณนึกถึงอะไรบ้าง?

ระหว่างทานอาหารกลางวันกับครอบครัวหรือเพื่อน


ตอนอภิปรายกับหัวหน้าที่ทำงานหรือในมหาวิทยาลัย


เกิดอะไรขึ้นระหว่างที่พวกคุณได้พูดคุยกัน และการพูดคุยกันเหล่านั้นมีลักษณะเป็นอย่างไร? จากการค่อยๆ สังเกตการสื่อสารที่คุณมักได้มีส่วนร่วมหรือเห็นบ่อยๆ เหล่านี้ จะทำให้คุณเข้าใจรูปแบบที่มักเกิดขึ้นในการสื่อสารของสังคมเรา





รูปการสื่อสารของเรามีอยู่อย่างจำกัด


การสนทนาทั่วไป

เมื่อคุณพูดคุยทานอาหารกลางวันกับครอบครัวหรือเพื่อนๆ คุณอาจมีบทสนทนาที่ถาม-ตอบกัน ตามความสนใจของแต่ละคน คุณทำอย่างไร


เมื่อเจอกับหัวข้อสนทนาที่คุณรู้สึกไม่อยากตอบ? หรือมีเรื่องอะไรที่คุณไม่พอใจในหัวข้อเหล่านั้นบ้างไหม?

ในวงสนทนากับครอบครัว เราต่างคนต่างมีบทบาท พ่อ แม่ ลูก พี่ชาย น้อง ลุง ป้า และโดยมากจะต้อง อาศัยอยู่กับบทบาทเหล่านั้น คุณอาจจะต้องเชื่อฟังและเห็นด้วยกับพ่อ แม้ในหัวใจลึกๆ ของตัวเองกลับบอกว่าสิ่งที่พ่อพูดไม่ถูก ไม่เห็นด้วยกับการตัดสินใจครั้งนั้น แต่ด้วยการใส่บทบาทและน้ำหนักของความเป็นพ่อลงไปทำให้ คุณรู้สึกไม่สามารถปฏิเสธได้แม้กระทั่งเป็นเสียงจากภายใน




ส่วนวงสนทนากับเพื่อนโดยมากมักมีหัวข้อสนทนาที่เพลิดเพลินและเต็มไปด้วยความเฮฮา อาจมีคนที่สามารถเรียกเสียงหัวเราะจากเพื่อนๆ ได้เสมอ หรือบางคนที่มีความเชี่ยวชาญในการแซว จากการได้รับความความสนใจเป็นพิเศษของคนอื่นผ่านการเรียกเสียงหัวเราะ หรือการแซว อย่างสม่ำเสมอ อาจสร้างรูปแบบหนึ่งของการบทสนทนา ส่วนคนที่แซวไม่เก่งกลับไม่มีพื้นที่ให้พูดหรือความยอมรับ


จากสองสถานการณ์นี้ สถานการณ์แรกในครอบครัว คุณจะเริ่มเห็นข้อจำกัดจากบทบาทหน้าที่ที่จำกัดให้คุณไม่มีพื้นที่ภายในสำหรับความคิดหรือความเห็นที่แตกต่างเกิดขึ้นได้ หรืออีกสถานการณ์หนึ่งที่เน้นความสนุกสนาน ซึ่งเน้นเสียงหัวเราะและความสุขจากการพูดคุยกันเป็นศูนย์กลาง จนไม่มีพื้นที่ให้กับสิ่งอื่น

รูปแบบการพูดคุยที่มักเกิดขึ้นเป็นประจำเมื่อเราพูดสิ่งที่มีความสำคัญ มีผลกระทบในวงกว้างที่ได้รับการยอมรับยังมีอีก ซึ่งเรามักจะได้เห็นบ่อยๆ นั่นคือการอภิปรายหรือ discussion และการโต้เถียงหรือ debate





Discussion

การอภิปรายหรือ discussion มักเกิดขึ้นเมื่อต้องการระดมความคิด หรือตัดสินใจอะไรร่วมกัน

คุณอาจลองนึกถึงภาพการประชุมที่ทำงานหรือมหาวิทยาลัยของคุณว่าเป็นอย่างไรบ้าง?


ในการอภิปรายเรื่องงาน คุณอาจได้พูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นจำนวนมากด้วยกัน ส่วนใหญ่ในการอภิปรายเหล่านี้มีจุดประสงค์เพื่อหาข้อสรุป ระดมความคิด หรือตัดสินใจ โดยในรูปแบบนี้ เรามักจะตัดขาดกับความรู้สึกและประสบการณ์ที่ไม่สามารถอธิบายเป็นนามธรรมเช่น ข้อมูลเชิงสถิติได้ หากมีใครที่เกิดไม่พอใจกับเรื่องไหน ก็อาจไม่สามารถแสดงออกหรือบอกอย่างตรงไปตรงมาได้ โดยมีระดับของการแสดงออกตั้งแต่การด่าตรงๆ ด้วยความฉุนเฉียว จนไปถึงการพูดเหน็บแนมระหว่างการอภิปรายหรือการเสนองาน หรือแม้กระทั่งพูดอาจใช้ความตลกเป็นเครื่องมือสร้างความอับอายเพื่อระบายความโกรธออกมา





สิ่งที่มักจะพบใน Discussion

  • นำเสนอไอเดีย

  • หาคำตอบหรือวิธีแก้ไขปัญหา

  • ชักจูงคนเข้าร่วมด้วยข้อมูล

  • ทำตามเป้าหมายหรือวาระที่ตั้งไว้

  • ยอมรับฟังเสียงที่แตกต่าง

  • ทำให้ความรู้สึกเป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสม

  • หลีกเลี่ยงความรู้สึก

  • หลีกเลี่ยงความเงียบ

  • หลีกเลี่ยงความขัดแย้งหรือความแตกต่างที่รุนแรง

ในการพูดคุยลักษณะนี้ เราจะเห็นข้อจำกัดโดยมากเกี่ยวกับการตัดขาดออกจากความรู้สึก และเชื่อข้อมูลที่มีความเกี่ยวข้องกับสถิติ แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าความรู้สึกและอารมณ์จะไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องที่ต้องการสื่อสาร เพียงแต่มันถูกจำกัดให้อยู่ภายในและไม่เป็นที่ยอมรับในการพูดคุยในการอภิปรายลักษณะนี้




Debate

อีกหนึ่งรูปแบบที่คุณมักได้เห็นบ่อยๆ คือการโตเถียง ซึ่งอาจอยู่ในรูปแบบที่ถูกจัดวางไว้เช่นการโต้วาที หรือเป็นลักษณะที่เกิดขึ้นจากความไม่พอใจ การโต้เถียงจะเน้นไปที่การเอาชนะและชักจูงเป็นหลัก เมื่ออยู่ในรูปแบบนี้ โอกาสที่จะรับฟังความคิดเห็นของกันและกันจะมีน้อยลง และมักจะใช้หาเหตุผลที่สนับสนุนเพื่อชักจูงเพื่อนำไปสู่ผลแพ้-ชนะ





สิ่งที่มักจะพบใน Debate

  • เป็นไปเพื่อการเอาชนะ

  • มักมองหาข้อบกพร่องของฝ่ายอื่น

  • เน้นย้ำถึงความเป็นสองขั้ว (duality) เช่นถูกผิด ดีเลว

  • ฟังเพื่อตอบโต้ หรือหาความผิดพลาดในเชิงตรรกะ

  • ตัดสินว่ามุมมองหรือความเห็นของผู้อื่นเป็นสิ่งที่ผิดพลาดหรือถูกบิดเบือน

  • ไม่ยอมรับความรู้สึกของผู้อื่น

  • ปกป้องความคิดเห็นของตนเอง

  • ไม่ให้ความสนใจกับความสัมพันธ์

  • ใช้ความเงียบเป็นจุดอ่อนเพื่อความได้เปรียบในการเอาชนะ




รูปแบบของการสื่อสารประเภทต่าง ไม่จำเป็นต้องถูกจำกัดอยู่ในบริบท แต่จะขึ้นอยู่กับลักษณะที่มักพบในการสื่อสาร หมายความว่าคุณอาจกำลังสื่อสารแบบอภิปรายในสภาพแวดล้อมของการนั่งรับประทานอาหารกลางวันกับเพื่อนๆ ก็ได้ และรูปแบบการสนทนาเหล่านี้ยังสามารถเปลี่ยนสลับไปมาได้เช่น ในห้องประชุมของคุณอาจเริ่มต้นจากการอภิปราย แต่หลังจากเริ่มไปแล้วกลับกลายเป็นการโต้เถียง


Dialogue

Dialogue หรือสุนทรียสนทนา เป็นการพูดคุยกันโดยไม่มีวาระที่วางไว้อย่างตายตัวล่วงหน้า ไม่ได้ต้องการหาข้อสรุปร่วมกัน หรือเอาชนะกัน เพราะสิ่งเหล่านั้นจะปิดกั้นพื้นที่สำหรับความสร้างสรรค์ และอาจเป็นการชี้นำด้วยข้อสรุป วาระ หรืออำนาจ โดยในการพูดคุยผู้เข้าร่วมจะให้ความเคารพซึ่งกัน สามารถถามคำถามอะไรก็ได้ และเลือกได้เช่นกันว่าจะตอบหรือไม่





สิ่งที่ทำให้ dialogue แตกต่างกับการพูดคุยแบบสัพเพเหระที่เรามักคุ้นเคยกันในช่วงรับประทานอาหาร หรือการจับกลุ่มคุยกันทั่วๆ ไปตรงที่ dialogue จะมีหลักปฏิบัติให้เกิดการฟังอย่างลึกซึ้ง การเคารพในทุกเสียงแม้แต่ความเงียบ การห้อยแขวนคำตัดสินที่มักจะเกิดขึ้น และการเปิดเผยเสียงภายในของตนเองออกมา


ในวง dialogue ผู้เล่ามักจะเล่าให้กับสมาชิกทุกคนฟัง แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะไม่สามารถถามคำถามที่เฉพาะบุคคลได้ และสามารถเลือกที่จะตอบคำถามจากผู้อื่นก็ได้ ส่วนผู้ฟังจะฟังอย่างลึกซึ้ง ด้วยความเคารพและมองสิ่งเหล่านั้น โดยไม่ตัดสิน ไม่มีผู้นำการสนทนาหรือผู้ตาม ไม่มีเป้าหมายเพื่อเอาชนะ ข้อสรุป หรือการตัดสินใจใดๆ ขณะดำเนิน dialogue ความเงียบก็ถือว่าเป็นเสียงหนึ่ง ที่เราไม่จำเป็นต้องทำลายมัน หรือหลีกเลี่ยงมัน


ลักษณะที่มักจะพบใน Dialogue

  • เป็นไปเพื่อการขยายมุมมองของทุกคน

  • มองหาความหมายร่วมกัน

  • มีการแสดงออกถึงความไม่ชัดเจน หรือความไม่สอดคล้องกัน

  • สำรวจความคิดและความรู้สึก

  • ใช้การถามคำถาม และเชิญชวนให้ตอบ

  • อนุญาตให้ความแตกต่างทางความคิด ประสบการณ์ และความรู้สึกเกิดขึ้นได้

  • ฟังโดยไม่ตัดสินด้วยมุมมองที่พยายามทำความเข้าใจ

  • ยอมรับประสบการณ์และความรู้สึกของผู้อื่น

  • เคารพในความเงียบ

เมื่อเรามองเห็นรูปแบบของการสื่อสารในรูปแบบต่างๆ ว่ามันมักจะนำพาให้เกิดอะไรบ้าง หรือมันมีข้อจำกัดอะไรบ้าง จะทำให้เรามีโอกาสเลือกรูปแบบการพูดคุยและสื่อสารที่เป็นเหตุปัจจัยสำหรับการนำไปสู่สิ่งที่เราต้องการได้



คำถามที่ช่วยให้เราสังเกตลักษณะของการพูดคุย

  1. ในบทสนทนานี้ คุณกำลังปกป้องความคิดเห็นของตัวเองอยู่ หรือกำลังบอกเล่าความคิดเห็นของตัวเอง?

  2. ในบทสนทนานี้ คุณกำลังพยายามปิดกั้นความรู้สึก ความคิดเห็น ประสบการณ์ อยู่ หรือเปิดรับความรู้สึก ความคิดเห็น ประสบการณ์?

  3. ในบทสนทนานี้ คุณกำลังฟังความแตกต่างด้วยความเคารพอยู่ หรือกำลังฟังด้วยความกลัวที่จะได้ยินเสียงที่แตกต่างจากจุดของตนเอง?



Related Topics

#3Ds #Discussion #Debate #Dialogue #อภิปราย #โต้เถียง #สุนทรียสนทนา


 

Urbinner เป็นพื้นที่ให้ทุกคนได้เติบโตจากการเรียนรู้ในทุกช่วงเวลาของชีวิต โดยทีมนักจัดกระบวนการจะพาคุณไปเรียนรู้ทักษะที่นำไปสู่การเข้าใจตัวเอง สร้างความสัมพันธ์ที่ดี และการตระหนักรู้ร่วมกัน เพื่อให้ทุกคนสามารถทำในสิ่งที่มีคุณค่าและความหมายสำหรับตัวเอง องค์กร และชุมชนของเราได้

Facebook group Banner.jpg
bottom of page