top of page
  • รูปภาพนักเขียนUrbinner

กระบวนการของสุนทรียสนทนาสำหรับผู้เริ่มต้น

อัปเดตเมื่อ 16 ต.ค. 2564

คุณสามารถเริ่มสุนทรียสนทนาได้จากแนวทางเบื้องต้นสำหรับการสร้างวงสุนทรียสนทนา โดยแนวทางเหล่านี้ได้วางไว้สำหรับผู้เริ่มต้นที่ไม่เคยมีประสบการณ์นำวงสุนทรียสนทนามาก่อน เพื่อให้คุณสามารถเริ่มจากการทำตามรูปแบบได้ จากนั้นคุณสามารถสังเกตความเป็นไปของวงสุนทรียสนทนาเพื่อสร้างความเข้าใจร่วมกันต่อไป


สิ่งหนึ่งที่สำคัญสำหรับ dialogue สำหรับผู้เริ่มต้นคือการระลึกไว้ว่า แม้ว่าวงสุนทรียสนทนาจะช่วยทำให้กลุ่ม หรือชุมชนได้สร้างความสัมพันธ์ สร้างความหมาย ค้นพบคุณค่า สร้างสรรค์บางสิ่งร่วมกัน แต่หากเริ่มต้นด้วยเป้าหมายบางอย่างหรือวาระแอบแฝงอาจทำให้ dialogue ไม่มีคุณภาพเพราะพื้นที่ถูกจำกัดด้วยกรอบความคิดที่ไม่รู้ตัว





แนวทางกระบวนการของสุนทรียสนทนาสำหรับผู้เริ่มต้น

1. เชิญชวนผู้สนใจประมาณ 5 - 10 คนนั่งล้อมวงกัน

หากคุณเพิ่งเคยเริ่มต้นและมีผู้เริ่มต้นใหม่จำนวนมาก สิ่งแรกที่คุณจะต้องดูแลคือคการสร้างความเข้าใจของคนที่เข้าร่วม ดังนั้นการให้คนในวง dialogue มีจำนวนไม่มากเพื่อที่จะได้สร้างความคุ้นเคยกับ dialogue จะช่วยทำให้สามารถดำเนินไปได้ง่ายมากขึ้น ทั้งนี้จำนวนคนในการเริ่มต้นสำหรับการดำเนินสุนทรียสนทนาครั้งแรกแนะนำที่ 7-8 คน โดยอาจจะมีคนร่วมมากกว่า 10 คนตามความสามารถในการอธิบาย คุณภาพและปัจจัยต่างๆ ก็ได้ แต่ยังไม่ควรน้อยกว่า 5 คน เพราะอาจทำให้ความหลากหลายน้อยเกินไป โดยคุณสามารถคำนึงถึงคุณภาพเหล่านี้เพื่อเป็นปัจจัยในการพิจารณาจำนวนผู้เข้าร่วม


  • มีความสนใจในการเรียนรู้ร่วมกัน เพราะในการเริ่มต้นจะเป็นไปได้ด้วยดีหากผู้เข้าร่วมมีความสนใจที่จะเข้าร่วม เปิดรับกับสิ่งใหม่ๆ และเรียนรู้ร่วมกัน ทั้งนี้ไม่จำเป็นว่าคนที่สนใจน้อยจะไม่สามารถเข้าร่วมได้ แต่ในการดูแลของผู้ที่ไม่เคยเริ่มต้นหรือทำ dialogue ควรมีผู้เข้าร่วมที่มีความสนใจ

  • มีความหลากหลายหรือ diversity สิ่งหนึ่งที่สำคัญคือความหลากหลายของผู้เข้าร่วม แม้ว่าแท้จริงทุกคนจะมีความหลากหลายภายใน แต่ในการเริ่มต้นจะง่ายสำหรับการดำเนินการหากมีคนที่แตกต่างกันในระดับสามารถมองเห็นหรือเข้าใจได้ และที่ไม่สุดโต่งเกินไป

  • มีเวลาให้เหมาะสม ในการเริ่มต้น dialogue อาจใช้เวลาทั้งหมด 3 - 4 ชั่วโมงตั้งแต่การเริ่มแนะนำ ผู้เข้าร่วมแต่ละคนควรมีเวลาให้ตลอดกระบวนการ และเริ่มต้นพร้อมกันไม่เข้ามาแทรก

  • สถานที่ที่เอื้ออำนวย ควรเป็นสถานที่ๆ มีบรรยากาศสบายๆ ไม่อึดอัด และไม่มีคนพลุ่งพล่าน โดยสถานที่ในอุดมคติอาจมีธรรมชาติด้วย ในการเลือกสถานที่อาจลองนึกถึง ศาลาที่เงียบสงบท่ามกลางธรรมชาติ หากมีคนล้อมจำนวนมากอาจทำให้เสียสมาธิได้ และสถานที่ๆ ปลอดโปร่งจะช่วยเอื้อต่อสภาพจิตใจ โดยควรเลือกสถานที่ๆ เหมาะเท่าที่จะทำได้

2. อาสาสมัครผู้เป็นกระบวนกรหรือ facilitator ในเบื้องต้น

ในการเริ่มต้น dialogue จะง่ายขึ้นเมื่อมีใครคนใดคนหนึ่งเป็นกระบวนกรหรือ facilitator ในเบื้องต้นเพื่อให้ได้เข้าใจหลักการ dialogue โดยผู้ที่เป็น facilitator ควรเป็นผู้ที่มีประสบการณ์กับ dialogue มาแล้ว ซึ่งในกรณีนี้อาจเป็นคุณ โดยคุณสามารถคำนึงถึงคุณภาพเหล่านี้เพื่อดูแล dialogue


  • ระยะเวลาของการช่วยนำ โดย facilitator จะมีบทบาทในช่วง 1-2 ชั่วโมงแรก และลดลงเมื่อเวลาผ่านไป แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสิ่งที่เกิดขึ้นภายใน dialogue ด้วย

  • การถอนตัวจากการเป็น facilitator เมื่อมีประสบการณ์และเข้าใจพื้นฐานของ dialogue แล้วสิ่งถัดไปคือการให้ dialogue ได้ดำเนินไปต่อเอง ในครั้งถัดไปสำหรับการ dialogue อาจสามารถดำเนินไปได้ด้วยพลังของกลุ่มวงสุนทรียสนทนาเอง ช่วงเวลาที่คุณถอนตัวจากการเป็น facilitator คุณควรบอกผู้เข้าร่วมคนอื่นเพื่อให้เขาได้เห็นและเข้าใจบทบาทที่เปลี่ยนไปของคุณ สิ่งที่คุณไม่ควรทำคือการสลับไปมาระหว่างการเป็น facilitator และเป็นผู้เข้าร่วมพร้อมๆ กัน

3. อธิบายหลักการของ dialogue อย่างคร่าวๆ เพื่อให้ผู้เข้าร่วมเข้าใจ

การอธิบายหลักการของ dialogue หากเป็นไปได้ผู้ร่วมสนทนาควรรู้เรื่องของ dialogue มาก่อน จากนั้นจึงค่อยแนะนำอย่างสรุปอีกครั้งให้กับผู้เข้าร่วมทุกคน โดยสิ่งที่ผู้เข้าร่วมควรอ่านหรือศึกษามาก่อนมีดังต่อไปนี้

  • Dialogue คืออะไร ทำไมถึงต้องใช้กระบวนการ dialogue

  • รูปแบบการสนทนา Discussion Debate Dialogue

  • หลักการของสุนทรียสนทนาหรือ dialogue

เพื่อให้เข้าใจภาพของ dialogue ก่อน จากนั้นควรสรุปหลักการของ dialogue ในเชิงปฏิบัติ อีกครั้งหนึ่งเพื่อทบกวนก่อนการเริ่ม โดยสามารถสรุปหลักการของ dialogue ให้สั้นลงเป็นดังนี้


  • Deep listening ในการฟังให้ฟังความเป็นกลุ่มทั้งหมดของวง dialogue แทนที่จะฟังเป็นส่วนๆ โดยคิดเราเป็นส่วนหนึ่งของวงสุนทรียสนทนา โดยขณะที่ฟัง ให้เราเปิดการรับรู้ในส่วนของความคิด ความรู้สึก และเสียงต่างๆ ที่เกิดขึ้นในขณะที่เราเป็นส่วนหนึ่งของวงสุนทรียสนทนา ไม่ว่าจะเป็นผู้พูดหรือผู้ฟัง

  • Respecting เมื่ออยู่ในวง dialogue ให้เคารพวงสุนทรียสนทนาด้วยการไม่พยายามยึดโยงความคิดเห็นต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการเชื่อมโยงความเห็น หรือการประณีประนอมระหว่างผู้เข้าร่วม ทุกคนเท่าเทียมกัน ไม่มีผู้นำหรือผู้ตาม เพื่อที่จะช่วยให้วง dialogue ได้เปิดพื้นที่สอดส่องทั้งหมด แม้กระทั่งความตึงเครียด หรือความเงียบที่เกิดขึ้น ในกรณีที่มีเรื่องขัดแย้งให้ลองหาสิ่งที่เกี่ยวข้อง หรือภาชนะของปัญหานั้น แทนที่จะร่วมกันหาข้อสรุปหรือสัญญา ขณะที่ต้องการพูดให้พูดไปกับวงสุนทรียสนทนาไม่ใช่คนใดคนหนึ่ง

  • Suspending ในการฝึกปฏิบัติ suspending ผู้เข้าร่วมควรจะตระหนักถึงความคิด ความรู้สึก ประสบการณ์ และการตัดสินที่เกิดขึ้น วางไว้ข้างๆ เพื่อที่จะได้กลับมาฟังวงสุนทรียสนทนาอีกครั้ง

  • Voicing พูดเสียงของตัวเองที่อยู่ภายในอย่างที่มันเป็น เผชิญหน้ากับความยากลำบากขณะที่พูด การพูดคุยที่ดีอาจอยู่ในรูปแบบที่ไม่ตลกเฮฮาหรือทำให้คนอื่นหัวเราะได้เพียงอย่างเดียว และบางครั้งเสียงของความเงียบอาจเป็นเสียงที่มีคุณค่า


4. ใช้กติกาบางอย่างเพื่อให้ออกจากความคุ้นเคย

บางครั้งการมีกติกาบางอย่างสามารถช่วยทำให้ผู้เข้าร่วมออกจากความคุ้นเคยในรูปแบบที่คุ้นเคยได้ โดยกติกาที่จะใช้เพิ่มเติมอาจมีดังนี้

  • สิ่งของสำหรับเป็นสัญลักษณ์อนุญาตให้พูด เป็นสิ่งของที่อนุญาตให้ผู้ที่ถือสามารถพูดได้เพียงคนเดียว เพื่อลดความคุ้นชินจากการมีส่วนร่วมและการแย่งกันพูด โดยหากต้องการใช้สิ่งของสำหรับเป็นสัญลักษณ์ อาจหาอะไรที่ทำให้ออกจากความเคยชินเดิมๆ ขณะพูดได้เช่น ไม้ ระฆัง ของบางอย่างที่จับได้เช่นก้อนหิน

  • จำกัดเวลา อาจมีหลายคนที่มีความคุ้นชินในการเล่าเรื่องมากเกินไปจนกินพื้นที่ของผู้อื่น การจำกัดเวลาเป็นวิธีที่สะดวกในการเริ่มต้ม โดยช่วงเวลาที่เราพอจะมีสมาธิได้อย่างต่อเนื่องในเบื้องต้นอาจอยู่ที่ 5 - 15 นาที ขึ้นอยู่กับเนื้อหาที่ได้พูดคุย

  • ปิดเครื่องมือสื่อสาร เพราะเป็นสิ่งที่ทำให้สูญเสียสมาธิ ควรแนะนำให้อยู่ด้วยกันโดยปิดเสียงและสั่น เพราะสิ่งเหล่านี้จะทำให้เสียสมาธิได้ทั้งผู้ใช้และผู้ที่เห็น หากมีคนใช้จะทำให้ความใส่ใจของวงสุนทรียสนทนามีลดลง

โดยการใช้สิ่งของสำหรับเป็นสัญลักษณ์และจำกัดเวลาอาจใช้เพียงเพื่อให้เกิดความคุ้นเคยในวงสุนทรียสนทนาไม่ต้องใช้หลังจากที่มีความตระหนักและเข้าใจ dialogue แล้ว แต่สิ่งที่ควรจะทำให้เกิดการรู้ตัวและควรทำร่วมกันทุกครั้งคือการไม่ใช้เครื่องมือสื่อสาร เพื่อไม่ให้เสียสมาธิ


5. เตือนกันเมื่อมีคนทำผิดกติกา

ในช่วงแรก facilitator อาจเป็นผู้เตือนเมื่อมีผู้ทำผิดกติกา เพื่อให้ออกจากความคุ้นเคยเดิมซึ่งเป็นสิ่งสำคัญมาก เพราะโดยธรรมชาติเรามักจะติดอยู่กับการสื่อสารในรูปแบบที่มีความเคยชิน และสิ่งนี้เองที่ทำให้ไม่มีพื้นที่ว่างสำหรับสิ่งใหม่ๆ โดยถ้าเป็นไปได้สิ่งที่สำคัญคือการให้ทุกคนได้เห็นความสำคัญของการออกจาก comfort zone ของตนเองเพื่อเป็นพื้นที่สำหรับความเป็นไปได้ใหม่ๆ ในการเตือนอาจสามารถทำได้โดย

  • ใช้อุปกรณ์เช่น ป้าย บอก แทนที่จะบอกตรงๆ จะช่วยลดการสูญเสียความมั่นใจของผู้ที่ทำผิดกติกาได้บ้าง และนอกจากนี้ยังสามารถเชิญชวนให้ผู้อื่นใช้ได้อีกด้วย

  • บอกด้วยสัญลักษณ์เช่น ใช้โปสเตอร์อธิบายกติกา เมื่อมีผู้ทำผิดกติกาจึงชี้ไปยังโปสเตอร์ วิธีให้ช่วยทำให้แต่ละคนได้มองเห็นรายละเอียดอื่นๆ เช่นเป้าหมายของสุนทรียสนทนาได้อีกด้วย

  • บอกด้วยปากเปล่า ควรจะบอกด้วยความสุภาพว่าเรามีกติการ่วมกันและเขาได้ทำผิดกติกาอะไรไป การบอกด้วยปากเปล่าควรจะดูความเหมาะสมว่าจะรอให้ผู้พูดเล่าจบก่อนเมื่อผิดกติกา หรือบอกระหว่างที่เขากำลังพูดอยู่บางครั้งอาจต้องดูแลวงสุนทรียสนทนาด้วยการฟังสิ่งที่พูดให้จบ

การเตือนผู้ที่ทำผิดกติกามีเป้าหมายเพื่อดูแลให้ผู้เข้าร่วมได้ออกจากพื้นที่ๆ คุ้นเคยและสร้างความคุ้นเคยในพื้นที่ใหม่ของ dialogue ดังนั้นสิ่งที่สำคัญในการตัดสินใจเลือกเตือนหรือเลือกที่จะปล่อยผ่านเพื่อก้าวต่อไป คือการทำให้เกิดความสมดุลย์ระหว่างความเข้าใจร่วมกันกับความสามารถในการออกจากพื้นที่คุ้นเคยของผู้เข้าร่วมทุกคนที่มีไม่เท่ากัน โดยทุกอย่างไม่จำเป็นต้องสมบูรณ์แบบในครั้งแรกหรือในชั่วโมงแรก


6. แนะนำเพิ่มเติมในความเป็นไปได้อื่นๆ ของการสนทนา

ในช่วงหลังเราอาจบอกความเป็นไปได้ใหม่ๆ ระหว่างการพูดคุยหรือค่อยๆ แนะนำเพิ่มเติมหากมีประเด็นไหนของ dialogue ที่ได้ข้ามผ่านไปเพราะสถานการณ์ไม่เอื้ออำนวยที่จะเตือนตอนนั้น หรือความไม่พร้อมของวงสุนทรียสนทนา การแนะนำอาจไม่ต้องเกิดจากการพูดตรงๆ แต่อาจขออนุญาตใช้บทบาท facilitator กับทุกคนเพื่ออธิบายเพิ่มเติมเป็นระยะได้ และไม่จำเป็นว่าหลังจากที่แนำนำผู้เข้าร่วมแล้วผู้เข้าร่วมจะต้องทำตามทันที โดยเราสามารถปล่อยให้วง dialogue ช่วยนำพาการดำเนินการไปของวงสุนทรียสนทนาได้


หลังจากที่ทุกคนเริ่มคุ้นเคยกับ dialogue แล้วเราสามารถยุติบทบาทของ facilitator หรือกติกาต่างๆ เช่นสิ่งของสัญลักษณ์เพื่อที่ให้ทุกคนได้แบ่งปันร่วมกันใน dialogue อย่างเต็มที่ แต่ก็ไม่จำเป็นว่าในครั้งถัดไปจะต้องหยุดสิ่งเหล่านี้ คุณสามารถตัดสินใจได้โดยสอบถามผู้เข้าร่วม หรือประเมินเบื้องต้นก่อนตัดสินใจการเลือกใช้ครั้งถัดไป โดยอาจตัดสินใจได้ตามประเด็นเหล่านี้

  • ผู้เข้าร่วมมีความเข้าใจหลักการ dialogue มากน้อยแค่ไหน

  • ผู้เข้าร่วมมีความสนใจเข้าร่วม dialogue มากน้อยแค่ไหน

  • ผู้เข้าร่วมมีการเตือนกันเองระหว่างการสนทนา dialogue หรือไม่

  • ครั้งที่ผ่านมาคุณภาพของ dialogue เป็นอย่างไร

ก่อนจะเริ่มต้นกระบวนการครั้งถัดไป เราควรจะสอบถามความคิดเห็นและความรู้สึกของผู้เข้าร่วม เพื่อที่จะประเมินเบื้องต้นก่อนที่จะเล่าและอธิบายเพิ่มเติมเกี่ยวกับ dialogue ในมิติที่มีความลึกซึ้งได้มากขึ้น สำหรับ dialogue ในครั้งถัดไป


หลังจากนี้หากมีความเชี่ยวชาญในการแนะนำกระบวนการ dialogue เราสามารถขยายวงสุนทรียสนทนาให้มีจำนวนเพิ่มขึ้นได้ตั้งแต่ 5 - 40 คน และระยะเวลาที่ดำเนิน สามารถดำเนินได้โดยไม่มีข้อจำกัด เพียงแต่ผู้เข้าร่วมอาจจะมีความรู้สึกเหนื่อยล้า ดังนั้นควรมีช่วงพักรับประทานอาหารแม้ว่าทุกคนในวงสุนทรียสนทนาอยากจะดำเนิน dialogue ต่อก็ตาม ไม่แนะนำให้มีการพักเบรค ทุกๆครึ่งเช้า บ่าย หรือกลางคืน เพราะเวลาใน dialogue จะผ่านไปอย่างรวดเร็ว การพักเบรคจะทำให้สมาธิสูญเสียไปและต้องใช้ระยะเวลาในการกลับมาอยู่ในช่วงที่ dialogue มีคุณภาพอีกครั้ง


#Dialogue #สุนทรียสนทนา #กระบวนการสุนทรียสนทนา

 

Urbinner เป็นพื้นที่ให้ทุกคนได้เติบโตจากการเรียนรู้ในทุกช่วงเวลาของชีวิต โดยทีมนักจัดกระบวนการจะพาคุณไปเรียนรู้ทักษะที่นำไปสู่การเข้าใจตัวเอง สร้างความสัมพันธ์ที่ดี และการตระหนักรู้ร่วมกัน เพื่อให้ทุกคนสามารถทำในสิ่งที่มีคุณค่าและความหมายสำหรับตัวเอง องค์กร และชุมชนของเราได้

Facebook group Banner.jpg
bottom of page