top of page
  • รูปภาพนักเขียนUrbinner

7 Frameworks หลักในการรู้จักและเข้าใจตนเอง

อัปเดตเมื่อ 16 ต.ค. 2564

Highlights

  • หลักในการรู้จักและเข้าใจตนเองคือ ความสนใจ, ความชอบหรือลักษณะนิสัยติดตัว, พฤติกรรมและการแสดงออก, ความเข้าใจทางด้านอารมณ์ความรู้สึก, ลักษณะของการมีความสัมพันธ์, คุณค่า, และจุดมุ่งหมายในชีวิต

  • การตระหนักรู้ในตนเอง (self-awareness) เป็นสิ่งสำคัญในการรู้จักและเข้าใจตนเอง

  • คุณสามารถรู้จักและเข้าใจตนเองได้ด้วยตัวเองในเบื้องต้น โดยอาศัยคำถามที่สะท้อนไปยังหลักหรือ framework เหล่านั้น

 

การรู้จักตัวเองคือการเข้าใจตัวเองในมิติใดบ้าง?


ถ้าคุณได้แนะนำตัวเองให้เพื่อนใหม่รู้จัก คุณเคยแนะนำตัวเองอย่างไรเพื่อจะบอกพวกเขาว่า "คุณเป็นใคร"


ชื่ออะไร?

เกิดที่ไหน?

เรียนอะไร?

ทำงานอะไร?

มีพี่น้องกี่คน?


สิ่งเหล่านี้แม้จะดูเหมือนว่าเป็นสิ่งที่ทำให้คนอื่นรู้จักคุณมากขึ้น ข้อมูลเหล่านี้ล้วนแต่เป็นข้อมูลที่สามารถเห็นได้อย่างชัดเจน เข้าใจกันได้ง่าย และสามารถทำให้ตอบโต้กันอย่างรวดเร็วได้ แต่อาจไม่ได้ทำให้คนที่อยู่ตรงหน้าคุณได้มองเห็นและรู้ว่าคุณคือใคร


หลักในการรู้จักและเข้าใจตนเอง

หลายครั้งเมื่อกล่าวถึงการรู้จักตัวเอง เรามักจะมีความรู้สึกว่า เราเป็นคนที่เข้าใจตัวเอง

คนส่วนใหญ่่อาจรู้จักตัวเองไม่ดีพอ เพราะบางครั้งพวกเขาไม่รู้ว่าตัวเองต้องการอะไรจริงๆ

แต่เรารู้ว่าพวกเขาต้องการอะไร หรืออาจรู้สึกว่าเรารู้จักตัวเองได้มากกว่า คนส่วนใหญ่ที่รู้จักตัวเอง

วิธีการรู้จักและเข้าใจตัวเอง
วิธีการรู้จักและเข้าใจตัวเอง

หากคุณเป็นคนหนึ่งที่คิดว่าคำถามต่างๆ ที่คุณได้อ่านตอนแรกเป็นคำถามที่ผิวเผิน และคุณต้องการรู้จักและเข้าใจตนเองมากกว่านั้น


เมื่อคุณต้องการรู้จักตนเอง หลักการ องค์ประกอบ หรือด้านที่คุณควรเรียนรู้มากขึ้นมีดังนี้


1. ความสนใจ (Interest)

ทำความรู้จักความสนใจเพื่อเข้าใจตัวเอง
ทำความรู้จักความสนใจเพื่อเข้าใจตัวเอง

ความสนใจเป็นสิ่งที่บ่งบอกได้ง่ายที่สุดเพราะมีลักษณะเป็นรูปธรรม ความสนใจในที่นี้หมายถึงสิ่งที่คุณทำแล้วมีความสุขเช่นงานอดิเรก สิ่งที่ทำให้คุณมีสมาธิได้นาน สิ่งที่คุณต้องการทำ


ความสนใจเป็นสิ่งที่สามารถทำให้แคบลงได้เช่น หากคุณมีงานอดิเรกเป็นการฟังเพลง คุณอาจมองหาเพิ่มเติมว่าคุณสนใจเพลงแนวไหน หากคุณมีเพลงแนวไหนที่ชอบเป็นพิเศษคุณยังอาจสามารถค้นหาต่อไปได้อีกว่าเพลงแนวนั้นมีอะไรที่ทำให้คุณสนใจเช่น ชนิดเครื่องดนตรี, จังหวะ หรือความหมาย


นอกจากนี้คุณสามารถใช้เทคนิค 5 whys เพื่อสืบและทำความเข้าใจในตัวเองขึ้นเรื่อยๆ ได้ว่า ทำไมคุณถึงสนใจสิ่งเหล่านั้น คุณอาจพบคำตอบหลายๆ อย่างที่มีจุดร่วมเดียวกันก็ได้


คำถามเกี่ยวกับความสนใจเพื่อนำไปสู่การเข้าใจตนเอง

  • อะไรที่คุณให้ความสนใจ?

  • คุณสนใจอะไร?

  • อะไรที่ทำให้คุณรู้สึกดี?


2. ความชอบหรือลักษณะนิสัยติดตัว (Preference and Temperament)

ทำความรู้จักลักษณะนิสัยเพื่อเข้าใจตัวเอง
ทำความรู้จักลักษณะนิสัยเพื่อเข้าใจตัวเอง

ความชอบอาจเป็นสิ่งที่ง่ายในกรณีที่คุณได้อยู่กับสิ่งนั้นบ่อยๆ เช่นสีที่ชอบ อาหารที่ชอบ กลิ่นที่ชอบ แต่นอกจากนั้นคุณยังสามารถค้นหาความชอบจากสิ่งที่เกี่ยวข้องกับคุณได้เช่น

  • สไตล์การทำงานที่ชอบ เช่น คุณชอบทำงานคนเดียวหรือเป็นทีม

  • รูปแบบการแก้ปัญหาที่คุณชอบ เช่น คุณชอบทำวางแผน ลงมือทำ ติดต่อ แก้ปัญหาเฉพาะหน้า

นอกจากนี้ยังรวมไปถึงลักษณะนิสัยติดตัวที่เรียกว่า Temperament ซึ่งเป็นสิ่งที่ทางจิตวิทยาเชื่อว่าเป็นนิสัยที่มีติดตัวมาตั้งแต่เกิด ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ และมีหลากหลายทฤษฎีที่อธิบายเกี่ยวกับนิสัยติดตัวนี้


ธาตุดิน น้ำ ลม ไฟ จากศาสตร์ตะวันออกเป็นหนึ่งในตัวอย่างที่บ่งบอกเกี่ยวกับลักษณะนิสัยที่แตกต่างกันออกไปของแต่ละคน หรือหากเป็นศาสตร์ทางตะวันออกอาจเป็นทฤษฎีของ Kant ที่บ่งบอกว่าคนมีลักษณะนิสัย 4 ประเภท(Sanguine, Melancholic, Choleric, Phlegmatic) ที่ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ในแต่ละคน


หากคุณต้องการรู้เกี่ยวกับลักษณะนิสัยและพฤติกรรมของตัวเองเพิ่มเติม สัตว์ 4 ทิศ หรือ ปัญญา 3 ฐานจะสามารถช่วยทำให้คุณรู้จักลักษณะนิสัยตนเอง การทำงาน และการอยู่ร่วมกับคนอื่นที่มีลักษณะแตกต่างกับคุณได้ ซึ่งจะทำให้คุณรู้จักกับตนเองได้มากขึ้น


3. พฤติกรรมและการแสดงออก (Behavior and Expression)

สังเกตพฤติกรรมและการแสดงออกจะทำให้เห็นตัวเองมากยิ่งขึ้น
สังเกตพฤติกรรมและการแสดงออกจะทำให้เห็นตัวเองมากยิ่งขึ้น


พฤติกรรมและการแสดงออกของแต่ละคนแตกต่างกัน การรู้จักตัวเองด้วยการรับรู้พฤติกรรมของตัวเองเป็นวิธีที่สามารถทำให้เราค่อยๆ รู้จักตัวเองได้มากขึ้น โดยการรับรู้พฤติกรรมของตนเองนั้นสิ่งที่สำคัญคือการตระหนักรู้ในตนเอง (self-awareness) ซึ่งจะช่วยทำให้เราได้มองเห็นสิ่งที่เป็นไปของตนเองได้


ตัวอย่างของการรู้จักตัวเองด้วยการรับรู้พฤติกรรมเช่นการสังเกตตนเองเมื่อมีความเครียดเกิดขึ้น คุณอาจต้องหาขนมอร่อยๆ ทาน บางคนเมื่อมีความเครียดอาจชอบออกไปเดินเล่น หรือนอนหลับ สิ่งเหล่านี้แตกต่างกันออกไปแต่เราสามารถค่อยๆ รับรู้พฤติกรรมของตนเองได้


ไม่ใช่เพียงพฤติกรรมที่แสดงออกภายนอกเท่านั้นที่มีความสำคัญ พฤติกรรมภายในก็เป็นมุมมองที่เราควรจะให้ความสนใจ โดยพฤติกรรมภายในส่วนใหญ่มักเกิดขึ้นเป็นคำที่เราพูดกับตัวเอง เสียงภายในหัวเมื่อรับรู้สิ่งต่าง คำตัดสินที่มักเกิดขึ้น นอกจากนี้พฤติกรรมภายในยังสามารถเกิดเป็นการตอบสนองต่อความรู้สึกได้อีกด้วย



ส่วนการรู้จักตัวเองจากแสดงออกนั้นก็ต้องอาศัยการตระหนักรู้ในตนเอง (self-awareness) เช่นกัน เมื่อต้องการแสดงออกแต่ละคนจะมีวิธีการแสดงออกที่แตกต่างกันออกไป


ตัวอย่างของการรู้จักตัวเองจากกระตระหนักรู้การแสดงออกที่อธิบายได้คือวิธีที่ใช้ในการแสดงออกถึงความรัก โดยปกติเราสามารถแสดงออกได้โดย

  • การพูด

  • การช่วยเหลือ

  • การให้ของขวัญ

  • การสัมผัส

  • การใช้เวลาร่วมกัน

ในสิ่งเหล่านี้เราอาจมีบางอย่างที่ชอบและคิดว่าเป็นการแสดงออกถึงความรักที่ดีกว่าแบบอื่นๆ ซึ่งแตกต่างกันออกไปในแต่ละคน


4. ความเข้าใจทางด้านอารมณ์ความรู้สึก (Emotion)

การเข้าใจอารมณ์ความรู้สึกและที่มาที่ไปของมัน
การเข้าใจอารมณ์ความรู้สึกและที่มาที่ไปของมัน

อารมณ์ความรู้สึกเป็นสิ่งที่ช่วยทำให้เราเข้าใจตนเองได้เป็นอย่างดี เมื่อเกิดเหตุการณ์ใดขึ้นและเราเข้าไปรับรู้ ความรู้สึกจะเกิดขึ้นเสมอ โดยอารมณ์เหล่านี้อาจแบ่งเป็น 3 ประเภทใหญ่ๆ คืออารมณ์ด้านบวก อารมณ์ด้านลบ และอารมณ์ที่เป็นกลาง


การเข้าใจอารมณ์ของตนเองเป็นสิ่งที่ต้องอาศัยความตระหนักรู้ในตนเอง (self-awareness) เช่นเมื่อมีความโกรธเกิดขึ้น เราสามารถรับรู้ได้ถึงการมีอยู่ของความโกรธนี้ และเมื่อความรู้สึกเปลี่ยนแปลงไป เราสามารถรับรู้ความรู้สึกที่เปลี่ยนแปลงของตนเองได้



การรับรู้อารมณ์ความรู้สึกของตนเองเป็นพื้นฐานของการรู้จักตนเอง เพราะเราสามารถนำสิ่งที่เกิดขึ้นนี้ไปประกอบร่วมกันกับหลักในการรู้จักและเข้าใจตนเองด้านอื่นๆ ได้ แต่การจะรับรู้อารมณ์ความรู้สึกของตนเองอย่างตรงไปตรงมานั้นไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับหลายๆ คน เพราะความคิดที่เราถูกหล่อหลอมจากสังคมอาจทำให้เราเกิดการรับรู้อารมณ์ที่ผิดพลาด



ไม่เพียงแต่ความคิดที่เราถูกหล่อหลอมมาเท่านั้น หลายคนไม่สามารถกลับเข้ามารับรู้ความรู้สึกของตนเองได้ และไม่รู้ว่าตนเองรู้สึกอย่างไรในขณะนี้ สิ่งนี้เกิดขึ้นเพราะว่าความคิดความเชื่อปิดบังความรู้สึกไว้ หรือจิตใต้สำนึกอาจไม่ต้องการให้ตนเองรับรู้ด้านที่ตนเองไม่ต้องการ



คำถามเกี่ยวกับความเข้าใจทางด้านอารมณ์ความรู้สึกเพื่อนำไปสู่การเข้าใจตนเอง

  • ในหนึ่งวัน แต่ละชั่วโมงตั้งแต่ตื่นนอน คุณมีความรู้สึกอย่างไรบ้าง? แตกต่างกันอย่างไรหรือไม่? มีช่วงที่คุณอารมณ์ดีเป็นพิเศษ หงุดหงิดง่าย ง่วงงอนเป็นประจำบ้างหรือไม่?

  • ในสัปดาห์ความรู้สึกของคุณโดยเฉลี่ยๆ แต่ละวันเหมือนกันหรือไม่? วันอะไรที่คุณจะมีความสุขมากกว่าปกติ? วันไหนที่คุณรู้สึกเครียดกว่าปกติ?

  • ในช่วงหนึ่งเดือนนี้คุณมีความรู้สึกอะไรบ่อยที่สุด? ความรู้สึกนั้นเกิดขึ้นบ่อยแค่ไหน?

  • ในช่วงสามเดือนที่ผ่านมากับตอนนี้ ความรู้สึกของคุณแตกต่างกันออกไปบ้างหรือไม่? มีอารมณ์ความรู้สึกไหนที่พบบ่อยขึ้น หรือเปลี่ยนแปลงไปบ้างหรือไม่?

  • ตัวคุณตอนนี้กับตัวคุณในปีที่แล้วย้อนไปหนึ่งปีมีความเปลี่ยนแปลงทางด้านอารมณ์อย่างไร? มีความแตกต่างของความโกรธ ความพอใจ ความกลัว ความเครียด ต่างกันบ้างหรือไม่?


5. ลักษณะของการมีความสัมพันธ์ (Relationship Pattern)

ลักษณะของการมีความสัมพันธ์ของแต่ละคนจะแตกต่างกันออกไป
ลักษณะของการมีความสัมพันธ์ของแต่ละคนจะแตกต่างกันออกไป


การรู้จักตัวเองสามารถทำได้โดยการมองหาลักษณะของการมีความสัมพันธ์ ลักษณะการปฏิสัมพันธ์กันกับเพื่อน คนรู้จัก คนรัก หรือครอบครัว เพราะแต่ละคนต่างมีลักษณะของการมีความสัมพันธ์ที่แตกต่างกันออกไป บางคนชอบพูดคุยกับคนแปลกหน้า ส่วนบางคนอาจรู้สึกถูกคุกคาม สิ่งเหล่านี้จะสะท้อนให้เห็นตัวเองจากลักษณะของการมีความสัมพันธ์


ลักษณะของการมีความสัมพันธ์ยังรวมไปถึงวิธีการดูแลและการให้คุณค่ากับลักษณะในการสร้างความสัมพันธ์


คำถามเกี่ยวกับลักษณะของการมีความสัมพันธ์เพื่อนำไปสู่การเข้าใจตนเอง

  • คุณชอบคุณกับคนแปลกหน้าหรือไม่? คุณรู้สึกอย่างไรขณะที่คุณกำลังพูดคุยกับคนที่ไม่รู้จัก?

  • คุณมีแนวโน้มว่าจะเป็นเพื่อนกับคนลักษณะใด? คนแบบไหนที่คุณไม่นับว่าเป็นเพื่อน? คุณสามารถทำอะไรเพื่อเพื่อนของคุณได้บ้าง?

  • คุณมีจำนวนเพื่อนสนิทเท่าไหร? อะไรที่ทำให้คุณสนิทกัน? อะไรที่ทำให้คุณไม่สนิทกัน?

  • อะไรที่ทำให้คุณประทับใจใครบางคนจนพัฒนาเป็นคนรัก? คนที่คุณรักคนนั้นเติมเต็มอะไรในตัวคุณ? คุณดูแลความรักอย่างไร?

คำตอบของคำถามเหล่านี้แตกต่างกันออกไป คุณสามารถค่อยๆ พิจารณาคำตอบของคุณเพื่อมองเห็นรูปแบบหรือลักษณะการมีความสัมพันธ์ของตนเอง คุณอาจสามารถมองหาเพิ่มได้ว่ามีอะไรที่เหมือนกัน คล้ายกัน ในคำตอบของคุณบ้างหรือไม่


6. คุณค่า (Value)

การเห็นคุณค่าที่ตัวเองยึดถือจะช่วยทำให้เข้าใจตัวเองได้มากขึ้น
การเห็นคุณค่าที่ตัวเองยึดถือจะช่วยทำให้เข้าใจตัวเองได้มากขึ้น

คุณค่าคือคุณลักษณะที่แสดงความเป็นสิ่งนั้นๆ ในกระบวนการเติบโตและหล่อหลอมของมนุษย์มีการเลือกคุณค่าทั้งรู้ตัวและไม่รู้ตัว คุณค่าเป็นคุณสมบัติที่มีอยู่หลากหลายมาก แต่ก็มีคุณค่าพื้นฐานของมนุษย์ที่มักพบเป็นประจำ


เมื่อคุณเป็นเด็กคุณจะถูกสอนทั้งทางตรงจากพ่อแม่ผู้ปกครอง ครูเพื่อให้รับคุณค่าต่างๆ และไม่ว่าจะรู้ตัวหรือไม่เราอาจจะรับคุณค่าเหล่านั้นมาโดยที่เรามักจะมองว่าเป็นสิ่งที่สมเหตุผลเพราะมีชุดคำอธิบายต่างๆ เกิดขึ้นเพื่อสนับสนุนคุณค่านั้นๆ เช่น

  • ความอ่อนน้อมถ่อมตน อาจเกิดขึ้นจากการเล่านิทานจากคุณครูหรือคุณแม่ในวัยเด็ก เพื่อเสริมคุณค่าของการอ่อนน้อมถ่อมตน

  • ความขยัน อาจเกิดจากการชื่นชม ให้รางวัล คนที่ทำงานหนัก ขยัน หรือเกิดจากการสอนในโรงเรียน



นอกจากนี้ เรายังสามารถรับคุณค่าต่างๆ จากสิ่งแวดล้อมหรือสถานการณ์ เหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นได้เช่น

  • การอยู่รอด อาจเกิดขึ้นจากสภาพแวดล้อมบังคับในขณะนั้นให้คุณต้องทำบางอย่างเพื่อความอยู่รอด การเอาตัวรอด

  • การแสดงออก อาจเกิดจากความรู้สึกสบายใจ ผ่อนคลาย เมื่อคุณได้แสดงออกอย่างตรงไปตรงมา หรือพูดตรงๆ

ส่วนใหญ่คุณค่าที่เราเลือกรับมาจะเกิดขึ้นในสภาวะที่ไม่รู้ตัว เกิดจากสิ่งแวดล้อม เหตุการณ์ในชีวิตจริง มากกว่าการสอนด้วยคำพูดที่ดูสวยงาม เพราะเป็นการณ์รับรู้จากประสบการณ์ตรงเช่นคุณอาจถูกปลูกฝังให้เป็นคนที่ขยันเพราะคุณเห็นเพื่อนที่สอบตกโดนล้อจากเพื่อนคนอื่นๆ ในทางกลับกันคุณค่าที่เกิดจากการสอนด้วยคำพูดที่ดูสวยงามเช่น คำขวัญของโรงเรียน คำขวัญวันเด็ก แม้คุณจะได้ยินมากเท่าไหร คุณจะถูกสอนมากเท่าไหร แต่คุณก็อาจไม่ได้มีคุณค่าเหล่านั้นมากนัก


การตระหนักรู้คุณค่าที่ตัวเองมี คุณค่าที่คุณชอบเลือก คุณค่าที่คุณคิดว่าสิ่งเหล่านี้คือตัวตนของคุณหรือที่อาจเรียกว่าคุณค่าภายในพื้นฐาน ช่วยทำให้คุณรู้จักและเข้าใจตนเอง และจะช่วยทำให้คุณเข้าใจการตัดสินใจต่างๆ ที่เกิดขึ้นได้โดยง่าย เพราะปกติมนุษย์มักจะตัดสินใจ แสดงออก เลือกสิ่งต่างๆ ตามคุณค่าของตนเองหรือคุณค่าที่ตนเองยึดถือ เลือกไว้


คำถามเกี่ยวกับคุณค่าเพื่อนำไปสู่การเข้าใจตนเอง

  • คำชมอะไรที่คุณชอบที่สุด? คำชมเหล่านั้นเติมเต็มคุณค่าอะไรในตัวคุณ?

  • ไอดอลหรือบุคคลต้นแบบของคุณคือใคร? คุณค่าอะไรที่คุณชื่นชมในพวกเขาเหล่านั้น?

  • คนแบบไหนที่คุณเกลียดหรืออยากหลีกเลี่ยงมากที่สุด? คุณค่าอะไรในคนเหล่านั้นที่ทำให้คุณเกลียด?


7. จุดมุ่งหมายในชีวิต (Life Purpose)

เข้าใจตัวเองจากจุดมุ่งหมายของชีวิต
เข้าใจตัวเองจากจุดมุ่งหมายของชีวิต

จุดมุ่งหมายในชีวิต หรือเป้าหมายในชีวิต คือสิ่งที่เราอยากทำในชีวิต จุดมุ่งหมายในชีวิตเป็นสิ่งที่นำพาให้คุณตัดสินใจเหตุการณ์สำคัญ การกระทำ และทิศทางต่างๆ สำหรับคุณ บางคนอาจมีจุดมุ่งหมายในชีวิตที่เชื่อมโยงกับการพักผ่อน การเรียนรู้ ครอบครัว การช่วยเหลือ หรือแม้แต่จุดมุ่งหมายที่เกี่ยวข้องในด้านจิตวิญญาณ


หากคุณเป็นคนที่ยังไม่แน่ใจในจุดมมุ่งหมายในชีวิตของตนเอง คุณอาจถามตัวเองว่า

  • อะไรที่ทำให้คุณรู้สึกเติมเต็มได้

  • ช่วงเวลาไหนที่คุณรู้สึกว่ามันเป็นช่วงเวลาที่มีความหมายมากที่สุดในชีวิต

หรือในกรณีที่คุณรู้สึกยากลำบากในการตัดสินใจเมื่อมีหลายจุดมุ่งหมายในชีวิต คุณอาจลองเขียนสิ่งเหล่านั้นออกมาและเรียงลำดับสิ่งที่คุณคิดว่าใช่ที่สุด


ในกรณีที่คุณมีหลายจุดมุ่งหมายในชีวิต อย่าลืมว่าหากคุณไม่สามารถจัดสินใจได้ว่าอะไร "ใช่" มากกว่ากัน ก็ไม่จำเป็นที่จะต้องคิดให้ออกในทันที คุณอาจจดบันทึกไว้ใน หรือเขียนลงใน post-it ติดไว้ที่โต๊ะ แล้วหยุดความสนใจไปสักระยะหนึ่ง เวลาที่ยาวนานพอจะช่วยทำให้คุณเห็นคำตอบที่ชัดเจนมากขึ้น


หากคุณยังนึกไม่ออกหรือไม่มีเป้าหมายในชีวิตอะไรเลย คุณอาจลองใช้เทคนิควิธีต่างๆ เพื่อสำรวจและค้นหาเป้าหมายของชีวิตตัวเองดูได้


คำถามเกี่ยวกับจุดมุ่งหมายในชีวิตเพื่อนำไปสู่การเข้าใจตนเอง

  • อะไรที่ทำให้คุณรู้สึกเติมเต็มได้?

  • ช่วงเวลาไหนที่คุณรู้สึกว่ามันเป็นช่วงเวลาที่มีความหมายมากที่สุดในชีวิต?

  • หากคุณมีความพร้อมในทุกด้าน และเป็นตัวเองในแบบที่พร้อมที่สุด ดีที่สุด คุณต้องการทำอะไร?

  • จุดมุ่งหมายในชีวิตของคุณน่าจะได้รับอิทธิพลมาจากเหตุการใด สิ่งไหน หรือใครบ้าง?

  • สังคมหรือสภาพแวดล้อมของคุณมีทัศนคติอย่างไรกับจุดมุ่งหมายในชีวิตของคุณ?


แหล่งอ้างอิงและข้อมูลเพิ่มเติม

 

Urbinner เป็นพื้นที่ให้ทุกคนได้เติบโตจากการเรียนรู้ในทุกช่วงเวลาของชีวิต โดยทีมนักจัดกระบวนการจะพาคุณไปเรียนรู้ทักษะที่นำไปสู่การเข้าใจตัวเอง สร้างความสัมพันธ์ที่ดี และการตระหนักรู้้ร่วมกัน เพื่อให้ทุกคนสามารถทำในสิ่งที่มีคุณค่าและความหมายสำหรับตัวเอง องค์กร และชุมชนของเราได้

Facebook group Banner.jpg
bottom of page