top of page
รูปภาพนักเขียนUrbinner

5 Whys (Five Whys) เครื่องมือช่วยทำความเข้าใจสาเหตุที่แท้จริงของปัญหาได้อย่างตรงจุด

อัปเดตเมื่อ 16 ต.ค. 2564

Highlights

  • ปัญหาเป็นเพียงปรากฏการและการแสดงออกของสิ่งที่อยู่ลึกลงไป การแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืนจะต้องแก้ไขที่สาเหตุ ไม่ใช่การแก้ไขสิ่งที่เป็นผลจากปัญหา

  • 5 Whys (Five Whys, 5 Ys) เป็นเครื่องมือที่ช่วยวิเคราะห์สาเหตุ ที่มาที่ไป ของปัญหาหรือสิ่่งเกิดขึ้นได้

 

ความคิดที่ว่า "เมื่อมีปัญหา... ก็แก้ไข... และเมื่ออะไรเกิดปัญหาขึ้นอีก... เราก็แก้ไข..." อาจใช้ไม่ได้อีกต่อไป เพราะปัญหาเป็นเสมือนอาการหนึ่งของโรค มันมีที่มาที่ไป แต่ทำอย่างไรเราจะเข้าใจว่าต้นตอของปัญหาที่แท้จริงคืออะไร


ปัญหามักจะเกิดขึ้นไม่ว่าเราจะใช้ชีวิตในส่วนไหน การทำงาน ชีวิตที่บ้าน หรือกำลังคุยกับคนสำคัญ อย่างไรก็ตามบางปัญหาที่เราพบอาจเป็นเพียงอาการหนึ่งของโรค ซึ่งเป็นเพียงการแสดงออกที่เกิดจากสาเหตุบางอย่างที่อยู่ลึกลงไป แม้ว่าการแก้ไขปัญหาอย่างรวดเร็วและตรงไปตรงมาอาจเป็นเรื่องที่ดี แต่นั่นอาจเป็นเพียงเรื่องเผิวเผินเท่านั้น เพราะมันยังมีสาเหตุลึกลงไปที่ทำให้เกิดปัญหาเหล่านั้นขึ้นมา และนี่เป็นที่มาของความสำคัญของการทำความเข้าใจรากของสิ่งที่เกิดขึ้นด้วยเครื่องมือ 5 Whys


5 Whys คืออะไร?

5 Whys (Five Whys, 5 Ys) คือ เครื่องมือที่เกิดขึ้นเพื่อช่วยให้เราเป็นที่มาที่ไปของสิ่งที่เกิดขึ้น หรือรากของสิ่งที่เกิดขึ้น และมีการประยุกต์ที่กว้างขวาง โดยมีกระบวนการที่ง่ายมากนั่นคือการทำคำถามว่า "ทำไม" และตอบคำถามนั้นจำนวน 5 รอบ เพื่อให้สามารถเข้าไปสาเหตุที่แท้จจริงของปัญหา สิ่งที่เกิดขึ้นได้



5 Whys มาจากไหน?

ที่มาของ 5 Whys นั้นเริ่มต้นจากอุตสาหกรรมของ Toyota Motor Corporation ซึ่ง 5 Whys เป็นเทคนิคที่พัฒนาขึ้นในส่วนหนึ่งของ problem-solving training โดยคุณ Taiichi Ohno ได้อธิบายไว้ในหนังสือ Toyota Production System: Beyond Large-Scale Production ว่า ในการถามคำถามว่า ทำไมจำนวน 5 ครั้ง ธรรมชาติของปัญหาและวิธีการแก้ไขปัญหาจะมีความชัดเจนมากขึ้น


วิธีการใช้ 5 Whys และตัวอย่างการใช้ในบริบทต่างๆ

ในการใช้ Five Whys สิ่งสำคัญคือการใช้มันด้วยความต้องการที่จะเข้าถึงรากของปัญหา วิเคราะห์หาสาเหตุของปัญหาที่แก้จริง ไม่ใช่การใช้เพื่อปกปิด ปิดบัง หรือกล่าวโทษปัญหา คำตอบที่ได้รับจาก Five Whys จะเป็นเพียงคำตอบที่อยู่ในระดับความเป็นไปได้เท่านั้น ดังนั้นคำตอบเหล่านี้จึงจำเป็นที่จะต้องได้รับการตรวจสอบอีกครั้ง



ตัวอย่างการใช้ 5 Whys ในชีวิตประจำวัน

ในตัวอย่างการใช้ Five Whys ของสถานการณ์นี้คือ นายเอไม่มีเงินเก็บออม จึงต้องการหาที่มาที่ไปว่าทำไมตลอดทั้งปีจึงไม่มีเงินเก็บออม โดยที่เราสามารถใช้้ Five Whys ได้โดยการลองตั้งคำถาม 5 ครั้ง


1. ทำไมไม่มีเงินเก็บออม

"เพราะเงินเดือนแต่ละเดือนไม่ค่อยพอใช้"

2. ทำไมเงินเดือนไม่พอใช้

"เพราะต้องไปงานสังคมและพบกับเพื่อนบ่อยๆ "

3. ทำไมต้องไปงานสังคมและพบกับเพื่อนบ่อยๆ

"เพราะเพื่อนๆ ชวนและไม่อยากปฏิเสธ"

4. ทำไมจึงไม่กล้าปฏิเสธ

"เพราะกลัวเพื่อนเสียน้ำใจ ทั้งๆ ที่เพื่อนตั้งใจชวน"

5. ทำไมจึงเพื่อนเสียน้ำใจ ทั้งๆ ที่เพื่อนตั้งใจชวน

"เพราะปฏิเสธไม่เก่ง ไม่รู้ต้องปฏิเสธเพื่อนอย่างไร"


ในกรณีนี้เราอาจเห็นได้ว่าการที่นายเอไม่มีเงินเก็บออมนั้นมาจากการที่เขาต้องเข้าร่วมสังคมบ่อยๆ และเขาไม่กล้าปฏิเสธเพื่อนๆ หรือคนที่ชวน จะเห็นได้ว่าการที่เขาไม่มีเงินเก็บออมเป็นหนึ่งในผลลัพธ์ที่เขาไม่ปฏิเสธเพื่อนๆ ไปงานสังคม


เมื่อนายเอได้รู้ถึงสาเหตุที่แท้จริงแล้ว เขาอาจไปเรียนรู้เพิ่มเติม เพื่อที่จะหาวิธีการปฏิเสธเพื่อนโดยที่ไม่ทำให้เพื่อนเสียน้ำใจก็ได้ แทนที่จะต้องไปเข้าร่วมงานสังคมกับเพื่อนอยู่ทุกครั้ง เกินความจำเป็น


นอกจากนี้จริงๆ แล้วเรายังสามารถตั้งคำถามไปได้มากกว่า 5 ครั้ง หากการตั้งคำถามเพียง 5 ครั้งไม่เพียงพอ (แม้ว่าส่วนใหญ่การตั้งคำถาม 5 ครั้งอาจเกินพอ)




ตัวอย่างการใช้ 5 Whys ในการแก้ไขป้ญหาเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์

ในตัวอย่างการใช้ Five Whys ของสถานการณ์นี้เกิดจากปัญหาหุ่นยนต์หยุด โดยนำมาจาก Toyota โดยที่เราสามารถใช้้ Five Whys ได้โดยการลองตั้งคำถาม 5 ครั้ง


1. ทำไมหุ่นยนต์ถึงหยุด

"เพราะวงจรทำงานหนักรับไม่ไหวจนฟิวส์ไหม้"

2. ทำไมวงจรทำงานหนักจนรับไม่ไหว

"เพราะความหล่อลื่นของอุปกรณ์ชื่อแบริ่งไม่เพียงพอ "

3. ทำไมความหล่อลื่นของอุปกรณ์จึงไม่พอ

"เพราะเครื่องฉีดน้ำมันในหุ่นยนต์ขาดน้ำมัน"

4. ทำไมเครื่องฉีดน้ำมันจึงขาดน้ำมัน

"เพราะมีเกล็ดชิ้นเหล็กมาอุดตันไว้"

5. ทำไมจึงมีเกล็ดชิ้นเหล็กมาอุดตันไว้

"เพราะไม่มีที่กรอง"


ในตัวอย่างนี้จะเห็นว่าหากแก้ปัญหาอย่างตรงไปตรงมาหลังจากที่พบว่าหุ่นยนต์หยุดทำงานคือการเปลี่ยนฟิวส์ของหุ่นยนต์ แล้วหุ่นยนต์ก็อาจกลับมาใช้งานได้ใหม่ แต่เมื่อมองเข้าไปลึกขึ้นลึกขึ้น เราอาจหยุดปัญหาได้ที่สาเหตุของปัญหาได้ นอกจากนี้เราอาจได้คำตอบอื่นก็ได้เช่นกัน


จริงๆ แล้วทุกคำตอบอาจมีได้มากกว่าหนึ่งคำตอบ เมื่อเป็นแบบนั้นเราจะค่อยๆ วิเคราะห์แตกแยกย่อยออกไปว่าสาเหตุของแต่ละอันคืออะไร



ตัวอย่างการใช้ 5 Whys ในการพัฒนาองค์กร ชุมชน

ในตัวอย่างการใช้ Five Whys ของสถานการณ์นี้คือ ชุมชนแหล่งเรียนรู้ของโครงการพื้นที่สร้างสรรค์ พบยาเสพติดระบาดในกลุ่มเยาวชนมากขึ้นในช่วงนี้ และเสียงดังรบกวนในชุมชนจากการขับขี่ตอนกลางคืนของกลุ่มเยาวชนมากขึ้น เราสามารถลองใช้ Five Whys ได้โดยการลองตั้งคำถาม 5 ครั้ง


1. ทำไมยาเสพติดจึงระบาดในกลุ่มเยาวชนมากขึ้นในช่วงนี้ และเยาวชนกลับมาขับขี่ตอนกลางคืนมากขึ้น

"เพราะศูนย์ของโครงการปิดเพิ่มในตอนเย็น และบางครั้งในวันเสาร์อาทิตย์ เยาวชนจึงไม่มีกิจกรรมให้ทำ"

2. ทำไมศูนย์ของโครงการจึงปิดเพิ่มในตอนเย็นและบางครั้งในวันหยุด

"เพราะคนดูแลไม่เพียงพอ"

3. ทำไมคนดูแลศูนย์ฯ จึงไม่เพียงพอ

"เพราะอาสาสมัครขาดแคลน ไม่มีอาสาสมัครเพิ่มขึ้น"

4. ทำไมอาสาสมัครขาดแคลน ไม่มีอาสาสมัครเพิ่มขึ้น

"เพราะไม่มีอาสาสมัครในช่วงปิดเทอม ปกติอาสาสมัครประจำที่มาช่วยจะมาเฉพาะช่วงเปิดเทอม"

5. ทำไมไม่มีอาสาสมัครในช่วงปิดเทอม

"เพราะไม่ได้ประชาสัมพันธ์ด้วยตัวเอง ปกติจะใช้การประชาสัมพันธ์รับสมัครอาสาสมัครจากโรงเรียน มหาวิทยาลัยเพียงอย่างเดียว"


จะเห็นได้ว่าปัญหายาเสพติดที่โครงการได้พยายามแก้ไขน่าจะมาได้ถูกทางแล้ว แต่จริงๆ ปัญหาเกิดจากการไม่ได้มีช่องทางประชาสัมพันธ์ของตัวเองในการรับสมัครอาสาสมัคร



เพราะว่าปัญหาเป็นเพียงปรากฏการ การแสดงออก ซึ่งมีสาเหตุที่ลึกลงไปมากกว่าตัวของปัญหาเอง โดยมากหากเราแก้ไขปัญหาอย่างรวดเร็ว ปัญหาระดับผิวเผินอาจได้รับการบรรเทาลงไปตามอาการที่เกิดขึ้น แต่หากตัวปัญหา สาเหตุที่ทำให้เกิดปัญหายังไม่ได้รับการแก้ไข เปลี่ยนแปลง ก็ยังจะมีโอกาสเกิดปัญหาขึ้นซ้ำๆ


5 Whys จึงเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้เราสามารถเข้าใจถึงระดับที่ลึกลงไปของปรากฏการต่างๆ ไม่จำเพาะว่าจะเป็นปัญหาได้ดียิ่งขึ้น


แหล่งอ้างอิงและข้อมูลเพิ่มเติม

 

Urbinner เป็นพื้นที่ที่ให้บุคคลทั่วไปและองค์กรได้เรียนรู้ความสุขที่มั่นคง โดยทีมนักจัดกระบวนการจะพาคุณไปเรียนรู้ทักษะที่นำไปสู่การเข้าใจตัวเอง มีความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างบุคคล การตระหนักรู้้และเติบโตร่วมกัน เพื่อให้ทุกคนสามารถทำในสิ่งที่มีคุณค่าและความหมายสำหรับตัวเอง องค์กร และชุมชนของเราได้

ดู 53,582 ครั้ง0 ความคิดเห็น

Comments


bottom of page