top of page
  • รูปภาพนักเขียนUrbinner

การโค้ช (Coaching) คืออะไร? มีกระบวนการอย่างไร?

อัปเดตเมื่อ 24 พ.ย. 2564

Highlights

  • การโค้ช (Coaching) คือ กระบวนการช่วยสนับสนุนเพื่อทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงไปตามเป้าหมายที่ผู้ถูกโค้ชต้องการ

  • โค้ชมีหลายประเภท ซึ่งอาจจำเป็นต้องอาศัยทักษะและองค์ความรู้ เฉพาะด้านเข้ามาประกอบการโค้ชด้วย

  • กระบวนการโค้ชเริ่มต้นที่การทำความเข้าใจปัญหาหรือแรงจูงใจเป้าหมาย ค้นหาอุปสรรคที่ต้องการก้าวข้าม สร้างความตระหนักรู้ และวางแผนเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงไปสู่เป้าหมาย

 

การโค้ช (Coaching) เริ่มเป็นที่แพร่หลายในประเทศไทย โดยเฉพาะในส่วนการพัฒนาบุคลากรในองค์กรที่กระบวนการโค้ชมีส่วนช่วยทำให้พนักงานได้พัฒนาทักษะต่างๆ แต่หลายคนก็ยังมีความเข้าใจที่คาดเคลื่อนเกี่ยวกับการโค้ช เพราะการโค้ชเป็นคำที่มีหลายคนใช้ในหลากหลายบริบท แล้วจริงๆ แล้วการโค้ชคืออะไร มีกระบวนการอย่างไรกันแน่


เนื้อหาในบทความ


การโค้ช (Coaching) คืออะไร?

การโค้ช หรือ โค้ชชิ่ง (Coaching) คือ กระบวนการช่วยสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เป็นไปในทางที่ผู้ที่รับการต้องการในทางใดทางหนึ่ง (จาก ICC: International Coaching Community) นอกจากนี้การโค้ชยังสามารถอธิบายได้ในหลายรูปแบบเช่น

  • การช่วยเหลือคนใดคนหนึ่งให้เป็นในแบบที่เขาต้องการ (จาก ICC)

  • ผู้ช่วยกระตุ้นความคิดและกระบวนการสร้างสรรค์ที่ช่วยจุดประกายให้ผู้รับบริการได้เข้าถึงศักยภาพสูงสุดทั้งในเรื่องชีวิตส่วนตัวและความเชี่ยวชาญในเรื่องงาน (จาก ICF: International Coaching Federation)

  • กระบวนการพัฒนาและสนับสนุนในเรื่องที่เฉพาะเจาะจงหรือเป้าหมายที่ผู้เข้ารับบริการต้องการ โดยให้คำแนะนำหรือ training (Passmore, Jonathan 2006)

โดยทั่วไปแล้วโค้ช (coach) จะเป็นผู้ช่วยเหลือผู้รับบริการหรือโค้ชชี่ (coachee) เพื่อที่จะให้เขาสามารถเข้าถึงเป้าหมายที่เขาต้องการ มีพัฒนาการเป็นไปในทางที่สนใจ หรือได้เรียนรู้สิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นตามที่ตั้งเป้าหมายไว้



หลายคนมักคุ้นเคยการโค้ชในบริบทที่เกี่ยวข้องกับการทำงาน แต่การโค้ชไม่จำเป็นต้องเกี่ยวข้องกับมิติในเรื่องของการทำงาน การพัฒนาองค์กรเสมอไป เราสามารถพบโค้ชได้ในบริบทส่วนตัวเพื่อให้เราก้าวข้ามปัญหาและบรรลุเป้าหมายได้รวดเร็วและมั่นคงมากขึ้นได้เช่นกัน


ประวัติและที่มาของการโค้ช

คำว่า "โค้ช" เป็นคำที่มีมาอยู่ตั้งแต่ช่วงปี ค.ศ. 1830 ซึ่งมักจะใช้ในวงการศึกษาที่ University of Oxford (จาก online etymology dictionary) ซึ่งคำว่า "โค้ช" ถูกใช้แสดงถึงผู้สอนที่สนับสนุนนักเรียน โดยจะพานักเรียนที่อยู่จุดหนึ่งสามารถไปอีกจุดหนึ่งได้


หลังจากนั้นในช่วงปี ค.ศ. 1860 การโค้ชถูกนำมาใช้ในวงการกีฬาซึ่งเรียกว่าโค้ชกีฬา (sport coach) ที่มีหน้าที่สนับสนุนนักกีฬาให้มีความเป็นเลิศในกีฬาที่พวกเขาสนใจ โค้ชด้านกีฬามีการเติบโตและพัฒนาอย่างรวดเร็วจนส่งผลต่อโค้ชในสายงาน อาชีพ (จาก Day & Carpenter, 2016)


จนกระทั่งตอนนี้ โค้ชได้รับความนิยมในแวดวงต่างๆ ตั้งแต่วงการศึกษาซึ่งมีทักษะการโค้ชสำหรับครู วงการธุรกิจที่มีการใช้โค้ชพัฒนาศักยภาพในการทำงาน และการใช้กระบวนการโค้ชสำหรับชีวิตส่วนตัวในด้านต่างๆ



ประเภทของการโค้ช

โค้ชมีอยู่หลากหลายประเภท โดยที่แต่ละประเภทจะมีความรู้ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านที่แตกต่างกันออกไป ในบางรูปแบบของการโค้ชอาจทำหน้าที่ให้องค์ความรู้ กระบวนการ หรือทักษะเฉพาะที่จำเป็นและเกี่ยวข้องกับสาขานั้นๆ เช่น

  • โค้ชทางด้านกีฬา (sport coach)

  • โค้ชการแสดง (art and performance coach)

  • โค้ชธุรกิจ (business coach)

  • โค้ชโภชนาการ (nutrition coach)

ซึ่งในประเภทเฉพาะด้านเหล่านี้ ทักษะเฉพาะด้านหรือ Hard skills มีความสำคัญมาก ทำให้โค้ชอาจทำหน้าที่คล้ายเทรนเนอร์ (trainer) หรือ mentor ในบางบริบท แต่ในขณะเดียวกันโค้ชเหล่านี้ก็สามารถใช้คำถาม เพื่อช่วยเหลือการพัฒนาพวกเขาให้เป็นไปในทางที่เขาต้องการได้เช่นกัน


ส่วนโค้ชที่เกี่ยวข้องกับเรื่องส่วนตัว การตัดสินใจ อาชีพ หรือเป้าหมายที่เกี่ยวข้องกับเชิงสภาพจิตใจ เช่น

  • ไลฟ์โค้ช (life coach)

  • โค้ชอาชีพ (career coach)

  • โค้ชการสูญเสียและความเศร้า (grief coach)

มักจะใช้รูปแบบการโค้ชที่เน้นไปในเชิงการตั้งคำถามเพื่อทำความเข้าใจ เสริมสร้างความตระหนักรู้ภายในตัวเอง และแนวทางการลงมือทำเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลง ให้กับผู้รับบริการเพื่อช่วยเหลือผู้เข้ารับบริการในการค้นหาวิธีที่ดีที่สุดในการบรรลุความต้องการเหล่านั้นด้วยตัวเอง


กระบวนการที่สำคัญในการโค้ช (Coaching)

กระบวนการที่สำคัญในการโค้ช คือ กระบวนการตั้งคำถามแบบโค้ช ซึ่งต้องอาศัยทักษะอื่นๆ ร่วมด้วยเพื่อให้นำไปสู่การสร้างความตระหนักรู้ในตัวเอง การสร้างแนวการการลงมือทำ และการตรวจสอบเป้าหมาย โดยที่มีกระบวนการคือ

  1. การทำความเข้าใจเรื่องราว สิ่งแรกในกระบวนการโค้ชคือ การทำความเข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้นด้วยกระบวนการรับฟัง โค้ชจะทำความเข้าใจปัญหาและเรื่องราวของผู้เข้ารับบริการเพื่อทราบแรงจูงใจ สิ่งที่ผู้รับบริการต้องการ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการโค้ช

  2. ค้นหาอุปสรรคและกำหนดเป้าหมาย เมื่อรู้ที่มาที่ไปแล้ว กระบวนการถัดไปคือการค้นหาอุปสรรคและกำหนดเป้าหมาย บางครั้งผู้เข้ารับบริการอาจไม่ได้มีอุปสรรค ก็สามารถมากำหนดเป้าหมายหรือทิศทางที่ต้องการจะไปถึงได้เลย โดยเป้าหมายที่ดีนั้นก็ควรจะเป็นเป้าหมายที่เป็นไปตาม SMART goal เพื่อให้เราบรรลุเป้าหมายได้อย่างมีแรงจูงใจ

  3. การสร้างความตระหนักรู้ โค้ชจะสำรวจและเชิญชวนผู้เข้ารับบริการมองเห็นมุมมองต่างๆ ในมิติใหม่ๆ ทำให้เกิดความตระหนักรู้ภายในตัวเอง (self-awareness) เกี่ยวกับปัญหาในแง่มุมต่างๆ เพื่อที่ให้เกิดการเรียนรู้ ทำความเข้าใจทางเลือก และสร้างสรรค์ความเป็นไปได้ใหม่ๆที่มีประสิทธิภาพ

  4. พัฒนาแนวทางการสร้างความเปลี่ยนแปลง ก่อนที่จะจบกระบวนการ โค้ชจะเชิญชวนให้เราสร้าง action plan ที่เหมาะสมสำหรับตัวเองในการเดินไปสู่เป้าหมายที่ต้องการ

  5. วัดและติดตามผล สิ่งที่ขาดไม่ได้ในกระบวนการโค้ชคือการวัดผลและติดตามผล โดยในครั้งถัดไปของการโค้ชควรจะมีการติดตามผลและความคืบหน้า ซึ่งกระบวนการติดตามผลนี้อาจเป็นกระบวนกระที่มีลักษณะคล้ายกับการถอดบทเรียนหรือ AAR (After Action Reflection) หรือเป็นไปในแนวทางที่ผู้เข้ารับบริการได้สะท้อนตัวเองหลังจากการได้ลงมือทำตามแผนที่วางไว้

โดยกระบวนการเหล่านี้อาจปรับเปลี่ยนไปตามความเหมาะสมและความถนัดของโค้ชแต่ละคน



สิ่งที่หลายคนมักจะเข้าใจผิดเกี่ยวกับโค้ช

เพราะมีหลายครั้งที่บุคคลสาธารณะได้แสดงตัวว่าเป็นโค้ช หรือได้เผยแพร่ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับโค้ช จนทำให้ความหมายของโค้ชได้คาดเคลื่อนไปจากเดิม ซึ่งสิ่งที่คนมักสับสนและเข้าใจผิดเกี่ยวกับโค้ชคือ


โค้ชแตกต่างจากนักพูดให้แรงบันดาลใจ

นักพูดให้แรงบันดาลใจมักจะใช้ทักษะการพูดเพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้ฟัง ซึ่งโดยมากจะเป็นการสื่อสารทางเดียว โค้ชไม่ได้มีหน้าที่ให้แรงบันดาลใจด้วยตอบโต้ผู้รับบริการด้วยคำคมหรือคำสอน แต่โค้ชมีหน้าที่ทำความเข้าใจกับเรื่องราวของผู้รับบริการเพื่อที่จะช่วยให้ผู้รับบริการสามารถค้นหาแนวทางการบรรลุเป้าความต้องการของตัวเอง ได้ด้วยตัวเอง


โค้ชไม่ใช่ influencer

การเป็นโค้ชนั้นไม่จำเป็นต้องเป็นที่โด่งดังหรือเป็นบุคคลสาธารณะเสมอไป ในตรงข้ามโค้ชมักจะใช้เวลาทำงานในรูปแบบส่วนตัว 1-1 กับผู้รับบริการซึ่งมีความคล้ายคลึงกับการรับบริการทางจิตวิทยามากกว่า ทั้งนี้อาจมีโค้ชบางคนที่เป็นทั้งโค้ชและ influencer ในเวลาเดียวกันซึ่งก็สามารถเป็นไปได้เช่นเดียวกัน


โค้ชไม่ได้ต้องการให้ทุกคนมองโลกในแง่บวกหรือมีคำตอบสำเร็จรูปให้กับทุกคน

หลายคนมักจะมีความเข้าใจว่าโค้ชจะช่วยทำให้คุณเปลี่ยนมุมมองให้เป็นแง่บวก หรือมีหน้าที่ตอบคำถามเกี่ยวกับการใช้ชีวิต และตัดสินใจให้กับคนอื่น ในทางกลับกันโค้ชจะทำให้เราเห็นปัญหาอย่างรอบด้าน และไม่ได้ให้คำตอบที่เกี่ยวข้องกับการตัดสินใจกับผู้รับบริการ แต่สามารถตอบคำถามและแนะนำเครื่องมือ องค์ความรู้ ทักษะที่จะเป็นในเรื่องที่เกี่ยวข้องได้ โดยไม่มีคำตอบสำเร็จรูปที่จะสามารถใช้ได้ในทุกกรณี


นอกจากนั้นอีกสิ่งหนึ่งที่คนมักสับสนคือความแตกต่างระหว่างของโค้ชกับนักจิตวิทยาการปรึกษา ซึ่งทั้งสองบทบาทนี้มีความใกล้เคียงกันมาก แต่มีรายละเอียดที่แตกต่างกัน


แหล่งอ้างอิงและข้อมูลเพิ่มเติม

 

Urbinner เป็นพื้นที่ให้ทุกคนได้เติบโตจากการเรียนรู้ในทุกช่วงเวลาของชีวิต โดยทีมนักจัดกระบวนการจะพาคุณไปเรียนรู้ทักษะที่นำไปสู่การเข้าใจตัวเอง สร้างความสัมพันธ์ที่ดี และการตระหนักรู้ร่วมกัน เพื่อให้ทุกคนสามารถทำในสิ่งที่มีคุณค่าและความหมายสำหรับตัวเอง องค์กร และชุมชนของเราได้

Facebook group Banner.jpg
bottom of page