การฝึกเข้าใจคนอื่น เอาใจเขามาใส่ใจเรา ช่วยทำให้คนที่อยู่กับเรามีความสุขได้มากขึ้น เพราะการเอาใจเขามาใส่ใจเราช่วยเกื้อกูลทำให้เกิดความรักและความเข้าใจได้มากขึ้น โดยการฝึกเอาใจเขามาใส่ใจเรา สามารถทำได้โดยการทดลองสวมบทบาทว่าเราเป็นคนๆ เป็นอย่างไร
หากคุณต้องการสร้างทักษะความเข้าอกเข้าใจให้กับองค์กร คุณสามารถสร้างการเรียนรู้ได้ด้วยหลักสูตร Empathy for Teamwork เพื่อสร้างความเข้าใจระหว่างกันผ่านทักษะ empathy
การฝึก Empathy มีความสำคัญอย่างยิ่งเมื่อเรามีไม่ได้อยู่ในสถานะเดียวกันกับคนกลุ่มนั้น บางครั้งคำเหล่านี้เป็นเสมือนคำที่เราไว้ใช้อธิบาย โดยปัญหาเรื่องการทำความเข้าใจอาจเกิดในประเด็นของความแตกต่างเหล่านี้
โครงสร้างอำนาจ เช่น หัวหน้า-ลูกน้อง, ครู-นักเรียน, ผู้ให้บริการ-ผู้รับบริการ
เศรษฐกิจ เช่น ผู้มีรายได้น้อย-ผู้มีรายได้สูง, กลุ่มนายทุน-กลุ่มผู้เสียผลประโยชน์
ความเชื่อ เช่น เชื่อในศาสนาที่แตกต่างกัน, เชื่อในปรัชญาการเมืองที่แตกต่างกัน
สถานะสังคม เช่น คนมีชื่อเสียง-คนทั่วไป, ราชกาล-ประชาชน, คนรวย-คนจน
วัฒนธรรม เช่น วัฒนธรรมตะวันตก-วัฒนธรรมไทย, หัวโบราณ-หัวสมัยใหม่
ในตัวอย่างเหล่านี้โครงสร้างอำนาจที่แตกต่างกันเช่น หัวหน้า-ลูกน้อง เป็นตัวอย่างที่ดีและเห็นได้ชัดเจนว่ามีความท้าทายในการฝึกเอาใจเขามาใส่ใจเรา เพราะลูกน้องอาจต้องอยู่ในบทบาทที่เคารพ ทำตามคำสั่งของหัวหน้า ส่วนหัวหน้ามีหน้าที่มอบหมายงาน และตรวจสอบคุณภาพของลูกน้อง ในบริบทนั้นเองที่ทำให้หัวหน้าอาจมีการรับรู้ที่คาดเคลื่อนในลูกน้องได้
ในตัวอย่างของหัวหน้า-ลูกน้อง ส่วนใหญ่ลูกน้องจะพยายามรับรู้ความต้องการของหัวหน้าเพื่อทำงานให้ถูกต้องตามที่หัวหน้าต้องการ การฝึกเอาใจเขามาใส่ใจเราของลูกน้อง แต่ในมุมกลับกันกับคนที่มีหน้าที่ต้องมอบหมายงานหรือตรวจสอบคุณภาพอย่างหัวหน้า อาจเกิดความท้าทายในการเอาใจเขามาใส่ใจเรา
การฝึกฝนเอาใจเขามาใส่ใจเราด้วย Empathy Mapping
คุณสามารถฝึกการเอาใจเขามาใส่ใจเราได้ด้วยการหยุดมองสิ่งที่เกิดขึ้น ปัญหาที่เกิดขึ้นจากมุมมองของตัวเอง แต่เป็นการมองสิ่งที่เกิดขึ้น ปัญหาที่เกิดขึ้นผ่านมุมมองของเขา ตลอดขั้นตอนนั้นให้คุณฝึกวางความคิดและความเป็นตัวเองลงมากที่สุด และพยายามสร้างจินตนาการ เหตุการณ์สมมุติว่าเขารับรู้อะไรและรู้สึกอย่างไรผ่านสิ่งต่างๆ ต่อไปนี้
สิ่งที่คิด (Thinking)
อะไรที่เขากำลังคิดอยู่?
เหตุการณ์ที่พบเจอทำให้เขาคิดอย่างไรต่อเหตุการณ์นั้น?
สิ่งที่รู้สึก (Feeling)
เขารู้สึกอย่างไร?
ความรู้สึกก่อนหน้านี้เป็นอย่างไร?
ความรู้สึกที่เขาได้รับจากคนอื่นๆ ในสังคม/ สภาพแวดล้อม เป็นอย่างไร
สิ่งที่เห็น (Seeing)
เขาเห็นอะไรในเหตุการณ์นั้น?
ภาพที่เขาเห็นบ่อยๆ ในหัวของตนเองเป็นอย่างไร?
สิ่งที่ได้ยิน (Hearing)
เขาได้ยินอะไรบ้างในเหตุการณ์นั้น?
เสียงเหล่านั้นเป็นเสียงจากใคร มีความสำคัญกับเขาอย่างไร?
ประสบการณ์ (Experience)
เขาพบเจออะไรมาบ้าง?
เขามีความเชื่ออะไร?
ความเจ็บปวด (Pain)
เขามีความทุกข์กับเรื่องอะไร?
เหตุการณ์ในอดีตอะไรที่ทำให้เขารู้สึกเจ็บปวด?
เขากำลังเผชิญความยากลำบากอะไร?
ความสุขและคุณค่า (Happiness and Value)
เขามีความสุขกับอะไรที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์นั้น?
อะไรที่ทำให้เขารู้่สึกมีความหมาย ในบริบทของสถานการณ์นั้น?
คุณค่าอะไรที่หล่อหลอมให้เป็นตัวเขาหรืออยู่ภายในตัวเขา?
ตัวอย่างสถานการณ์เพื่อฝึกเอาใจเขามาใส่ใจเรา
ในสถานการณ์นี้หัวหน้าจะฝึกฝนการเอาใจเขามาใส่ใจเรา ด้วย Empathy Method
ตัวอย่างสถานการณ์: หัวหน้าในบริษัทชิ้นส่วนรถยนต์ของประเทศไทยกับลูกน้องคนหนึ่งในทีมของเขา
หัวหน้าถูกมอบหมายมาให้รับสมาชิกใหม่ โดยจะมีลูกน้องใหม่คนหนึ่งมาจากแผนกอื่นในบริษัทเดียวกัน เขาต้องย้ายแผนกมาอยู่ทีมใหม่ และหัวหน้ารู้สึกเหนื่อยทุกครั้งที่มีพนักงานจากแผนกอื่นย้ายมา เพราะลูกน้องจากแผนกอื่นมักจะทำงานไม่เป็นมืออาชีพ ส่วนสำหรับลูกน้องใหม่คนนี้ทุกครั้งที่มีการประชุม ลูกน้องใหม่คนนี้ไม่เคยแสดงความคิดเห็นที่มีประโยชน์ ไม่ทำอะไรเลยนอกจากรอรับคำสั่งทำงานเพียงอย่างเดียว นอกจากนั้นเมื่อถึงเวลาเลิกงาน ลูกน้องคนนี้จะออกจากออฟฟิศในทันทีเป็นประจำ ในขณะที่เพื่อนและทีมยังอยู่ต่อทุกคน แม้ว่าจะไม่ได้ทำงานต่อแต่พวกเขาก็อยู่ด้วยกันพูดคุยกัน สังสรรค์กันเป็นทีม
นอกจากนั้นในเวลาที่มีกิจกรรมของบริษัท ลูกน้องใหม่คนนี้มักจะไม่เข้าร่วม โดยเฉพาะกิจกรรมที่ต่างจังหวัด ทำให้ผู้ใหญ่คนอื่นๆ เพ่งเล็งว่าทีมของเขาไม่ค่อยให้ความร่วมมือกับบริษัท สิ่งเหล่านี้ทำให้หัวหน้ารู้สึกไม่พอใจที่ลูกน้องใหม่เหมือนไม่ได้ใส่ใจงาน และไม่พยายามปรับตัวเข้ากับเพื่อน ไม่ให้ความร่วมมือกับทีม
ในการฝึก Empathy Method ควรจะใช้กับเหตุการณ์เฉพาะ ในตัวอย่างจะเห็นว่าหัวหน้ามีความรู้สึกรวมๆ เกี่ยวกับลูกน้องคนนี้ ในกรณีนี้จะเห็นว่ามีเหตุการณ์หลายๆ อย่างที่เกี่ยวข้องคือ
ไม่แสดงความคิดเห็นที่มีประโยชน์
ไม่ทำอะไรนอกจากรอคำสั่ง
ออกจากออฟฟิศทันทีที่เลิกงาน
ไม่ให้ความร่วมมือในกิจกรรมของบริษัท
เราจะเลือกเหตุการณ์ที่ลูกน้องใหม่ไม่ให้ความร่วมมือในกิจกรรมของบริษัทมาฝึก Empathy Method โดยการสวมบาทว่าคุณเป็นลูกน้องใหม่คนนี้ผ่านมุมมองและความเชื่อของ Empathy Method ในกรณีนี้สิ่งเหล่านั้นที่เขารับรู้เกี่ยวกับกิจกรรมของบริษัท อาจเป็น
สิ่งที่คิดเกี่ยวกับกิจกรรมของบริษัท
กิจกรรมของบริษัทมีแค่พูดคุย ทานอาหารกินเลี้ยง เล่นเกมส์ ร้องเพลง เป็นการใช้เวลาอย่างไม่มีประโยชน์
กิจกรรมของบริษัทจัดนอกเวลาทำงาน ดังนั้นเขาควรจะตัดสินใจได้ว่าจะเข้าร่วมหรือไม่
เขามีงานต้องทำอีกมากมายในวันเสาร์อาทติย์ เพราะงานที่บริษัทเยอะมากจนทำให้เขาอยากใช้สมาธิหลังจากทานอาหารในการทำงานต่อที่บ้าน
สิ่งที่รู้สึกเกี่ยวกับกิจกรรมของบริษัท
เหนื่อยจากการทำในกิจกรรมที่ไม่ชอบร้องเพลง
ตอนทำงานก็รู้สึกเหนื่อยและเครียดมากพอแล้ว ความกดดันต่างๆ จากการทำงานก็มากพอ แล้วกลับรู้สึกเหนื่อยเพิ่มในวันหยุด กลับบ้านดึก แต่ว่างานไม่มีความคืบหน้า ซึ่งวันพรุ่งนี้
มีแต่คนกดดันให้มาเข้าร่วมกิจกรรมในบริษัท แล้วใช้สิ่งเหล่านี้เป็นเครื่องมือชี้วัดความร่วมมือในองค์กร ซึ่งทำให้รู้สึกไม่พอใจมากเพราะการทำงานกับการเข้าร่วมกิจกรรมไม่น่าจะเกี่ยวข้องกัน
สิ่งที่เห็นเกี่ยวกับกิจกรรมของบริษัท
เห็นเพื่อนร่วมงานสนุกสนาน พูดคุยกันไปมาอย่างปลอมๆ เพราะวันพรุ่งนี้หรือเมื่อกิจกรรมเสร็จก็กลับมาเครียดกับงาน กันเหมือนเดิม
เห็นว่าผู้บริหารเองก็มาเพียงเฉพาะช่วงเวลากล่าวเปิดงาน แจกของรางวัล นอกจากนั้นก็นั่งคุยกันในกลุ่มผู้บริหาร หัวหน้าก็ไม่ได้อยู่กับทีมยกเว้นเวลาทำกิจกรรมบังคับของทีม
ภาพที่เห็นบ่อยๆ คือภาพผู้บริหารกล่าวเปิดงาน ขอบคุณ เล่นเกมส์สนุกสนาน กลับบ้านดึก และสุดท้ายก็ต้องกลับมาทำงานเหมือนเดิมในวันต่อๆ ไป
สิ่งที่ได้ยินเกี่ยวกับกิจกรรมของบริษัท
ได้ยินเสียงพูดคุยจากเพื่อนร่วมงานว่า "ไปเที่ยวมาสนุกมาก", "ดูหนังเรื่องใหม่ล่าสุดมา"
ได้ยินเสียงเพลงที่ดังมากกว่าปกติที่จะได้ยิน
ได้ยินเสียงบ่นของเพื่อนร่วมงานเกี่ยวกับกิจกรรม และเสียงบ่นว่าทำงานไม่ทัน ดูแลงานไม่เสร็จตามกำหนด
ได้ยินเสียงของครอบครัวที่เรียกร้องให้เขากลับบ้าน
เสียงส่วนใหญ่เป็นสเียงจากเพื่อนร่วมงาน หัวหน้า ซึ่งเป็นคนที่สำคัญในการทำงานด้วย ส่วนเสียงของครอบครัวเป็นเสียงที่รู้สึกเกรงใจใจอยู่ลึกๆ แต่มักจะใช้วิธีการผัดผ่อนความสำคัญออกไป
ประสบการณ์เกี่ยวกับกิจกรรมของบริษัท
มีความเหนื่อยล้าในตัวเองหลังจากเข้าร่วมกิจกรรม และความเครียดจากงานที่ไม่เสร็จเพิ่ม
เชื่อว่าการดูแลพนักงานไม่จำเป็นต้องไปทานข้าวด้วยกันจนดึก แต่อาจเกิดจากการใช้เวลาที่เหมาะสมได้
ให้คุณค่ากับการทำงาน ความรับผิดชอบ ความจริงจัง
ความเจ็บปวดเกี่ยวกับกิจกรรมของบริษัท
ทุกข์กับการทำงานไม่เสร็จ ความเหนื่อยจากการเข้าร่วมกิจกรรม
เหตุการณ์ในอดีตคือประสบการณ์เข้าร่วมกิจกรรมบริษัทไปแล้ว ทำงานไม่เสร็จตรงตามเวลาทำให้หัวหน้าไม่พอใจเรื่องตารางการทำงาน
กำลังมีความยากลำบากในการสื่อสารกับหัวหน้า เพื่อนร่วมงานทุกคนว่าเขาไม่ต้องการเข้าร่วมกิจกรรมของบริษัท และกิจกรรมของบริษัทไม่ได้ดูแลเขา
ความสุขและความหมายเกี่ยวกับกิจกรรมของบริษัท
มีความสุขจากการมีอิสระในการตัดสินใจเข้าร่วมหรือไม่เข้าร่วม
มีความสุขจากการได้ทำอะไรแปลกใหม่ในกิจกรรมของบริษัท และได้มีส่วนร่วมกับเพื่อนร่วมงานจริงๆ ได้พูดคุยกับหัวหน้าและทีมของตัวเอง
สิ่งที่ทำให้รู้สึกมีความหมายในบริบทของสถานการณ์นั้นคือความรู้สึกว่าได้รับการดูแล เพราะการไปเข้าร่วมกิจกรรมแต่หากทำงานไม่เสร็จ ก็จะถูกตำหนิ หากเข้าร่วมกิจกรรมก็ไม่ได้มีความสุขกับกิจกรรม ไม่ได้พูดคุยกับเพื่อนร่วมทีม แล้วยังมีความเหนื่อยล้ามากขึ้น แต่หากไม่เข้าร่วมก็จะถูกนำไปประเมินปลายปีและถูกตำหนิเช่นเดียวกัน
หลังจากที่หัวหน้าได้ลองสวมบทบาทเป็นลูกน้องในทีมในแง่มุมต่างๆ ก็ช่วยทำให้หัวหน้าได้เข้าใจมุมมองของลูกน้องที่มีต่อกิจกรรมของบริษัทมากขึ้น
ข้อควรระวังในการเอาใจเขามาใส่ใจเราด้วย Empathy Method
แม้ว่าวิธีนี้จะช่วยทำให้เราสามารถเข้าใจคนอื่นในสถานการณ์ใดสถานการณ์หนึ่งมากขึ้น แต่การใช้วิธีการฝึกฝนนี้ก็ยังมีเรื่องที่ต้องระมัดระวังด้วยนั่นคือ
แม้ว่าด้านลบหรือในแง่ร้ายเหล่านั้นจะมีอยู่ในคนนั้นๆ แต่เราควรจะฝึกเอาใจเขามาใส่ใจเราจากความรู้สึกที่เป็นด้านบวกของคนๆ นั้นเพื่อป้องกันการสนับสนุนความคิดด้านลบ, การจับผิด, หรือการโทษสิ่งภายนอกที่จะเกิดขึ้นภายในตัวเอง เช่นในสถานการณ์ในตัวอย่าง ไม่ควรมองว่าเป็นเพราะ ความขี้เกียจ ความไม่ใส่ใจ ความไม่ปรับตัวของเขา อย่าลืมว่าจุดมุ่งหมายของการกระทำนี้คือการฝึกฝนที่จะเอาใจเขามาใส่ใจเรา เพื่อเข้าใจเขามากขึ้น
ตระหนักรู้ว่าสิ่งที่กำลังทำเป็นเพียงความคิดเห็นและการสวมบทบาทเพื่อทำให้เราได้เข้าใจคนๆ นั้นจากการสวมบทบาทเท่านั้น ซึ่งสิ่งที่เราได้ลองสวมบทบาทอาจไม่ใช่ความจริง
การฝึกฝนเอาใจเขามาใส่ใจเราด้วยวิธีนี้อาศัยการรับรู้ผ่านตัวเองเป็นหลัก ซึ่งหลายครั้งจะเกิดการตัดสินใจแทนที่ผิดพลาดได้ ดังนั้นหากเป็นไปได้ควรจะฝึกฝนการรับฟังอย่างลึกซึ้ง (deep listening) เพื่อรับรู้ผ่านมุมมองคนอื่นด้วย
จุดเด่นของการฝึกเอาใจเขามาใส่ใจเรา
ความสะดวกในการทำความเข้าใจ และในการฝึกฝน เพราะวิธีนี้คุณสามารถทำได้ด้วยตัวเอง ที่ไหนก็ได้ ไม่ต้องใช้อุปกรณ์ใดๆ หรือการติดต่อใดๆ กับใคร
สามารถเลือกสถานการณ์ที่ต้องการได้อย่างอิสระ โดยคุณสามารถค่อยๆ ฝึกฝนในสถานการณ์ที่ง่ายไม่ได้สร้างความรู้สึกหงุดหงิดรำคาญใจหรือทุกข์ใจให้กับคุณมาก ก่อนที่จะค่อยๆ เพิ่มเป็นสถานการณ์ที่ยากลำบากเป็นเหตุการณ์ที่คุณรู้สึกทุกข์ใจ ไม่พร้อมรับมือ หรือเป็นปมในใจของคุณ
คุณสามารถฝึกฝนเอาใจเขามาใส่ใจเราในมุมมองของคนอื่นเหล่านั้นได้แม้คุณจะไม่มีโอกาสติดต่อกันอีกแล้ว หรือไม่สามารถอยู่ในสถานการณ์ที่จะได้พูดคุยกันอีก ซึ่งจำเป็นมากหากคุณต้องการพยายามทำความเข้าใจปัญหาที่คุณมีกับคนๆ นั้น แต่ไม่มีโอกาสติดต่อสื่อสารกันอีกแล้ว
คุณสามารถฝึกฝนการเอาใจเขามาใส่ใจเราเพื่อเป็นพื้นฐานสำหรับช่วยเหลือและเยียวยาตัวเองได้ ในบางสถานการณ์ที่คุณทำความผิดพลาด คนแรกที่สามารถเข้าใจคุณได้และยอมรับคุณได้ทั้งหมดโดยไม่ต้องพูด ไม่ต้องบอกกล่าวหรือแม้แต่มองตา คือตัวคุณเอง หากคุณมีความรู้สึกบางอย่างในอดีตที่ไม่เข้าใจว่าคุณทำไปเพื่ออะไร ทำไมถึงทำแบบนั้น คุณสามารถใช้วิธีนี้ในการย้อนกลับไปและฝึกฝนการเอาใจเขามาใส่ใจเรากับตัวคุณเองในอดีตเพื่อบ่มเพาะความกรุณาในตัวเอง (self-compassion) ได้
หากคุณต้องการการพัฒนา empathy ในองค์กร ในหลักสูตร Empathy for Teamwork จะช่วยทำให้ทีมของคุณเข้าใจกันและฝึกฝนทักษะ empathy เพื่อการทำงานร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ และได้ลงมือปฏิบัติจากการทำความเข้าใจทฤษฎี
Urbinner เป็นพื้นที่ให้ทุกคนได้เติบโตจากการเรียนรู้ในทุกช่วงเวลาของชีวิต โดยทีมนักจัดกระบวนการจะพาคุณไปเรียนรู้ทักษะที่นำไปสู่การเข้าใจตัวเอง สร้างความสัมพันธ์ที่ดี และการตระหนักรู้้ร่วมกัน เพื่อให้ทุกคนสามารถทำในสิ่งที่มีคุณค่าและความหมายสำหรับตัวเอง องค์กร และชุมชนของเราได้
Comments