top of page
  • รูปภาพนักเขียนUrbinner

7 ระดับของการแสดงความไมเ่ห็นด้วย คุณมักจะแสดงความไม่เห็นด้วยแบบใด?

เป็นเรื่องธรรมดาที่ทุกคนเมื่อมาอยู่ร่วมกันจะมีความคิดเห็นแตกต่างกัน แต่ไม่ว่าคุณจะไม่เห็นด้วยมากแค่ไหน หากคุณแสดงออกมาอย่างไม่เหมาะสม การแสดงออกของคุณก็อาจเป็นอันตรายต่อคนรอบข้างและตัวเองได้


การแสดงออกอย่างเหมาะสมความคิดเห็นที่แตกต่างอย่างไร จะทำให้สังคมเราที่เต็มไปด้วยการด่าทอ การบูลลี่ และ hate speech เปลี่ยนแปลงเป็นความเข้าใจ และไม่ทำให้การแสดงความคิดเห็นเหล่านั้นย้อนกลับมาทำร้ายตัวเราเอง แล้วเราควรจะแสดงความเห็นต่างอย่างไร ให้ความคิดเห็นเหล่านั้นไม่ทำร้ายคนอื่น และมีความสร้างสรรค์?



เนื้อหาในบทความ

วิธีการแสดงออกถึงความไม่เห็นด้วยมีอยู่ด้วยกันทั้งหมด 7 แบบตามแนวคิดของ Paul Graham ซึ่งเราสามารถพบการแสดงความไม่เห็นด้วยเหล่านี้ได้เกือบทุกที่บนโลกโซเชี่ยลและสังคม ลองมาสำรวจตัวเองดูกันว่าในเรื่องที่เราไม่เห็นด้วย เรามักจะมีแนวโน้มแสดงความเห็นต่างออกมาตามระดัับใด?


ระดับที่ 0 ด่า ล้อด้วยชื่อ

การแสดงความเห็นต่างในระดับที่ต่ำที่สุดคือการใช้ภาษาหรือวลีเพื่อโจมตีคนอื่น ทำให้เกิดความกลัว ความไม่พอใจ อาจมาในรูปของการตั้งชื่อเพื่อด่าทอ แม้ว่าจะมีความไม่เห็นด้วยอะไรก็ตาม แต่ก็จะโจมตีด้วยการด่า เรียกชื่อเช่น "ไอควาย", "น่าโง่", หรืออื่นๆ ที่อาจจะไม่สุภาพมากกว่านี้ โดยที่ไม่ได้สนใจประเด็นที่ไม่เห็นด้วย


แน่นอนว่าการแสดงความไม่เห็นด้วยในระดับนี้เป็นสิ่งที่พบได้ง่าย แต่เมื่อแสดงออกไปแล้วมักจะสร้างความเจ็บปวดให้กับคนอื่น และนอกจากนั้นการแสดงออกความไม่เห็นด้วยในระดับนี้ยังเป็นการทำร้ายตัวเองในอนาคตด้วย เพราะถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของการบูลลี่และหมิ่นประมาทผู้อื่น


ระดับที่ 1 โจมตีที่ตัวบุคคล

แสดงความไม่เห็นด้วยโดยโจมตีที่ตัวบุคคลแทนที่จะเป็นสิ่งที่เขาพูดหรือนำเสนอ ซึ่งลดทอนคุณค่าของเขา ยกตัวอย่างเช่น หากคุณไม่เห็นด้วยกับวิธีการสอนของโค้ชนักกีฬาสำหรับนักฟุตบอลทีมชาติ คุณอาจโจมตีโค้ชว่า "โค้ชยังไม่ได้รางวัลอะไรเลยจะไปสอนคนอื่นได้อย่างไร" หากลองคิดดูคุณจะพบว่า แม้โค้ชอาจไม่เคยได้รางวัลอะไร แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าวิธีการสอนของเขาจะไม่ดี

การแสดงความไม่เห็นด้วยโดยที่โจมตีที่ตัวบุคคลพบได้มากในบริบทของสังคมไทย ไม่ว่าจะเป็นองค์กร บริษัทที่ทำงาน หรือการเมืองระดับประเทศ การโจมตีที่ตัวบุคคลนี้เป็นวิธีที่ง่ายในการแสดงความไม่เห็นด้วยออกมาแต่มักจะไม่ทำให้เกิดการพัฒนาหรือองค์ความรู้ใหม่ๆ นอกจากนั้นยังเป็นการส่งเสริมระบบพี่พึ่งพาเครือข่ายโดยปราศจากเหตุผลด้วย


ระดับที่ 2 โจมตีที่โทนการเล่าเรื่อง

วิธีการในขั้นนี้จะไม่โจมตีตัวบุคคลแล้ว แต่จะโจมตีวิธีการเล่าเรื่อง โทนของเนื้อเรื่อง ท่าทีที่เล่าเรื่อง ซึ่งไม่มีเหตุผลอะไรเข้ามาเกี่ยวข้องเช่น "ดูน่าโมโหมาก" "เขาดูหยิ่งผยองมากตอนที่เล่า" ซึ่งมันไม่เกี่ยวว่าผู้พูดจะพูดอะไร แต่โจมตีว่าผู้พูดพูดออกมาด้วยท่าทีอย่างไร โดยไม่ได้แสดงออกมาว่าสิ่งที่พูดนั้นผิดอย่างไร


โจมตีที่โทนการเล่าเรื่องนี้มักจะพบได้ในการโต้แย้งเชิงวิชาการหรือการดีเบท (debate) ซึ่งก้าวข้ามการโจมตีที่ตัวบุคคลไป


ระดับที่ 3 แสดงสิ่งตรงข้าม

ระดับนี้คือการบอกตัวอย่างตรงกันข้ามลอยๆ แต่ไม่ได้บอกข้อเท็จจริงอะไรที่จะสนับสนุนมันมากนัก ซึ่งบางครั้งสิ่งที่ยกตัวอย่างมาอาจจะถูก แต่โดยมากมันมักจะผิด เพราะตัวอย่างตรงข้ามมักจะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในความคิดตัวเอง จินตนาการ หรือสถานการณ์สมมุติลอยๆ ตัวอย่างเช่น"ฉันไม่เชื่อว่าพุทธศาสนาเป็นสิ่งงมงาย เพราะพุทธศาสนาเป็นวิทยาศาสตร์"


ตัวอย่างนี้ควรจะแสดงให้เห็นว่าพุทธศสนาไม่ใช่สิ่งงมงายอย่างไร หรือควรมีคำอธิบายเพิ่มเติมว่าพุทธศาสนาเป็นวิทยาศาสตร์ได้อย่างไร แล้วทำให้เกิดความไม่งมงายได้อย่างไร


เราอาจเจอการยกตัวอย่างตรงข้ามแบบลอยๆ นี้ได้ในทฤษฎีสมคบคิด หรือคำกล่าวอ้างเพื่อใช้จูงใจคนหมู่มาก


ระดับที่ 4 ตอบโต้ข้อถกเถียง

ในระดับนี้การโต้แย้งจะเป็นการยกตัวอย่างสถานการณ์ตรงข้าม แต่ครั้งนี้จะแตกต่างจากระดับที่ 3 ตรงที่จะมีข้อมูลและเหตุผลมาสนับสนุน การยกตัวอย่างสถานการณ์ตรงข้ามที่มีเหตุผลนั้นหรือหลักฐานมากประกอบนั้นดีกว่าการยกตัวอย่างสถานการณ์ตรงข้ามลอยๆ หรือสถานการณ์ตรงข้ามที่คิดขึ้นมาจากจินตนาการเพื่อมาแสดงความขัดแย้ง


การยกตัวอย่างสถานการณ์ที่ตรงกันข้ามที่แม้จะมีเหตุผลก็อาจไม่ประสิทธิภาพมากนัก แต่ก็สามารถโน้มน้าวคนอื่นได้ค่อนข้างดี


ระดับที่ 5 การปฏิเสธ

ในระดับนี้จะเป็นการปฏิเสธและบอกเหตุผลว่าข้อความต่างๆ ที่กล่าวมานั้นผิดพลาด ทำไมมันถึงผิดพลาด มีสิ่งไหนที่ผิดพลาดบ้าง


การปฏิเสธในระดับนี้โดยมากมักจะเกิดขึ้นกับรายละเอียดเล็กน้อย ซึ่งการค้นหาข้อเท็จจริงในส่วนที่มีรายละเอียดเล็กน้อยนั้นอาจทำได้ง่ายกว่าการปฏิเสธที่ตรงประเด็น


ระดับที่ 6 การปฏิเสธที่ตรงประเด็น

แสดงความไม่เห็นด้วยที่ดีที่สุดที่เกิดจากการบอกเหตุผลที่ว่าทำไมสิ่งเหล่านั้นถึงผิดอย่างตรงประเด็น ซึ่งเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการแสดงข้อโต้แย้ง ตัวอย่างเช่น การกล่าวว่าผู้เขียนกล่าวว่า... แต่สิ่งนั้นเป็นสิ่งที่ผิดเพราะเหตุผลดังต่อไปนี้...


การปฏิเสธที่ตรงประเด็นเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นน้อยมากในสังคม เพราะเป็นวิธีที่ยากที่สุดที่นอกจากจะต้องแสดงเหตุผล หลักฐานข้อมูลที่แสดงให้เห็นว่าอีกฝ่ายผิดได้แล้วยังต้องหาประเด็นที่มีความผิดพลาด ไม่เป็นจริง ไม่เห็นด้วยออกมาอย่างชัดเจน


การแสดงความไม่เห็นด้วยทั้ง 6 วิธีนี้สามารถเริ่มต้นได้จากชีวิตประจำวันของตัวเอง โดยไม่จำเป็นต้องรอเวลาที่เรากำลังจะต้องไปโต้แย้งในสถานการณ์ที่สำคัญหรือในที่ประชุม เพราะหากเราได้ฝึกการแสดงความไม่เห็นด้วยที่ตรงประเด็นในชีวิตประจำวันแล้ว เมื่อเราไปอยู่ในสถานการณ์สำคัญเหล่านั้นเราจะสามารถใช้ได้อย่างเป็นธรรมชาติ และไม่ยึดติดกับการแสดงความไม่เห็นด้วยที่ไปโจมตีส่วนอื่นแทน


แหล่งอ้างอิงและข้อมูลเพิ่มเติม


ดู 469 ครั้ง0 ความคิดเห็น
Facebook group Banner.jpg
bottom of page