top of page
รูปภาพนักเขียนUrbinner

เหนื่อย เครียดแค่ไหนแต่ก็ต้องตื่นไปทำงาน: ชีวิตของคนทำงานในยุคใหม่ที่สุดแสนจะล้า

อัปเดตเมื่อ 16 ต.ค. 2564

ไลน์งานเข้ามาตลอด งานออกมายังไงหัวหน้าก็ไม่พอใจ โดนควบคุมทุกขั้นตอนเหมือนไม่ได้ทำงาน ความรับผิดชอบเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เกินจะทนไหว สังคมที่ทำงานไม่ดี จะทำงานต่อดีไหม? จะโดนเลิกจ้างงานเมื่อไหร?



ความเครียดที่ถาโถมมาใส่ระหว่างทำงานมักเกิดขึ้นเสมอ หลายคนเปลี่ยนงานเพราะคิดว่าที่ทำงานใหม่จะดีกว่า แต่พอมาเจอจริงๆ กลับยิ่งเลวร้าย ความเจ็บปวดและความเครียดจากการทำงานนับวันยิ่งสูงขึ้นในยุคที่การเรียนรู้เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว มีการเปลี่ยนแปลงตลอด และตำแหน่งงานที่ลดลงเรื่อยๆ เพราะมีเทคโนโลยีเข้ามาแทนที่ ยิ่งอยู่ไปก็ยิ่งเครียด ไม่ว่าจะอยู่ที่สภาพแวดล้อม ภาระการทำงาน เศรษฐกิจ เหมือนมีแต่ปัญหารุมเร้าในทุกๆ ด้าน


"การทำงานกับสภาพสังคมกดดันขึ้นเรื่อยๆ จนเราทนไม่ไหวสุดท้ายเกือบๆปีก็ลาออก"

"ผมเครียดกับงานมาก จนไม่อยากตื่น ไม่อยากกินข้าว"


คนที่เครียดจากการทำงานมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคซึมเศร้า

สังคม สภาพแวดล้อมในที่ทำงานต่างวางความกดดันไว้ที่พนักงาน เพราะการเติบโตและการแข่งขันในทุกวันนี้ทำให้ทุกคนต้องเร่งเพิ่มคุณภาพจนอาจทำให้เกิดผลตามมาอย่างมหาศาลได้ ปัญหาความเครียดที่เกิดขึ้นทั่วไปจากการทำงานเช่น

  • มีงานหนักที่ต้องอาศัยการจดจ่อมาก

  • ต้องทำงานที่ต้องใช้ความสร้างสรรค์อย่างต่อเนื่อง

  • ความยากลำบากในการดูแลชีวิต งาน และครอบครัว

  • การถูกแทนที่จากเทคโนโลยี

  • ไม่เข้ากับสังคมในการทำงาน

สิ่งเหล่านี้ทำให้เกิดความเครียด จนอาจนำไปสู่ภาวะซึมเศร้าได้


จากการสำรวจของ Labour Force ของอังกฤษพบว่า 44% ของความเครียด ซึมเศร้า หรือภาวะวิตกกังวลมีสาเหตมาจากภาระการทำงาน



Work-Family Conflict ปัญหาความสมดุลย์ที่เกิดขึ้นระหว่างการทำงานและครอบครัว

ปัญหาจากการทำงานเหล่านี้ไม่ได้ส่งผลเฉพาะกับคนทำงานเท่านั้น แต่ยังส่งผลทางอ้อมไปยังความสัมพันธ์ และครอบครัว


"แฟนทำงานจนไม่มีเวลาให้ เราควรทำยังไงดี"

"สามีไม่มีเวลาอยู่กับครอบครัว ชอบออกไปไหนตัวคนเดียว"


ชีวิตที่ไม่สมดุลย์ในงานเหล่านี้เป็นสิ่งที่เราต้องพบเป็นประจำ โดยเฉพาะกับพ่อแม่ครอบครัวที่เราเองก็อยากมีเวลาให้ แต่กลับทำไม่ได้เพราะต้องทำงานตามเป้า และมีความรับผิดชอบสูง


ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นทำให้ทุกอย่างเร็วขึ้นและเป็นไปตามความต้องการแบบ "ทันที" ของทุกคนไม่ว่าจะเป็นหัวหน้าหรือลูกค้า แทนที่เทคโนโลยีจะช่วยลดภาระและอำนวยความสะดวกในการทำงาน แต่กลับเพิ่มความคาดหวังในที่ทำงานที่ต้องอาศัยการแข่งขันมากขึ้นจนทำให้หลายคนต้องอยู่ทำงานนานขึ้น เอางานกลับมาทำที่บ้าน หรือตอบไลน์ ตอบแชทแก้งานในเวลาที่ควรจะอยู่กับครอบครัว


"แฟนทำงานจนไม่มีเวลาให้ เราควรทำยังไงดี"

หากคุณเคยได้ยินคนสำคัญหรือครอบครัวบอกกับคุณว่า

  • คุณทำงานมากไป

  • ไม่มีเวลาให้

  • ไม่ใส่ใจเหมือนเมื่อก่อน

คุณควรกลับมาทบทวนตัวเองอีกครั้งว่างานที่คุณทำส่งผลทำให้เกิด Work-Family Conflict หรือไม่ เพราะครอบครัวและคนสำคัญอาจไม่บอกสิ่งเหล่านี้บ่อยๆ หรือตรงไปตรงมา แต่กลับจะใช้วิธีการอดทน และรอจนปัญหาไม่สามารถแก้ไขได้อีกแล้ว



วิกฤตเศรษฐกิจและสุขภาพที่มาพร้อมๆ กับปัญหาการทำงาน

หลายคนไม่ว่าจะทำยังไงตอนนี้ก็จะต้องอดทนอยู่กับที่ทำงานเดิมต่อไปให้ได้ เพราะปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มว่าจะเกิดขึ้นไม่ว่าจะเป็นการปิดตัวลงของบริษัทและธนาคาร ซึ่งถูกแทนที่ด้วยเครื่องจักรและเทคโนโลยี ความผันผวนของค่าเงินและอสังหาริมทรัพย์ และจำนวนคนว่างงานที่มีแนวโน้มว่าจะเพิ่มสูงขึ้น


ปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจไม่ใช่ปัญหาเดียวที่เป็นสาเหตุของความเครียดและความกดดัน แต่ยังมีปัญหาจากสุขภาพ ซึ่งเป็นเรื่องที่สร้างความกังวลในการดูแลและรับมือให้กับคนที่กำลังทำงานอยู่เพราะโรคมะเร็งกลายเป็นโรคใกล้ตัว ที่อย่างน้อยคุณจะต้องมีคนรู้จักที่ป่วยเป็นโรคนี้ โดยข้อมูลจากสถาบันมะเร็งแห่งชาติพบว่า 1 ใน 10 ของคนไทยเป็นโรคมะเร็ง


ขณะที่กำลังคิดเรื่องย้ายงานไปงานที่มีความกดดันลดลง หรือสภาพแวดล้อมใหม่ แต่ความไม่มั่นคงเหล่านี้ยังคงสร้างความเครียดให้กับคนที่ตัดสินใจอยู่เสมอ และยังไม่มีท่าทีว่าปัญหาเรื่องความเครียดในการทำงานจะลดลง


แล้วคุณจะมีวิธีการดูแลอย่างไรกับความสุขและการดูแลตัวเองตอนนี้?




แหล่งข้อมูลอ้างอิงเพิ่มเติม

 

Urbinner เป็นพื้นที่ให้ทุกคนได้เติบโตจากการเรียนรู้ในทุกช่วงเวลาของชีวิต โดยทีมนักจัดกระบวนการจะพาคุณไปเรียนรู้ทักษะที่นำไปสู่การเข้าใจตัวเอง สร้างความสัมพันธ์ที่ดี และการตระหนักรู้ร่วมกัน เพื่อให้ทุกคนสามารถทำในสิ่งที่มีคุณค่าและความหมายสำหรับตัวเอง องค์กร และชุมชนของเราได้

ดู 4,493 ครั้ง0 ความคิดเห็น

Comentarios


bottom of page