กระบวนการเรียนรู้ที่อาศัยปัญญา 3 ฐาน เป็นการเรียนรู้ที่เกิดจากความเข้าใจในการเรียนรู้ของ ศูนย์หัว ศูนย์ท้อง ศูนย์ใจ หรือ cognitive, psychomotor, affective domain of learning โดยการเรียนรู้สามารถเริ่มต้นได้ด้วยการประเมินตนเองในเบื้องต้นว่าแต่ละคนมีความถนัด คุ้นเคย หรือใช้ปัญญาส่วนไหนเป็นประจำ เพื่อที่จะเพิ่มหรือเติมเต็มในส่วนอื่นๆ
ปัญญา 3 ฐานในการเรียนรู้
การใช้ปัญญา 3 ฐานในการเรียนรู้ จะมีลักษณะแตกต่างจากการเรียนรู้ที่หลายคนมักเคยเรียนในห้องเรียนซึ่งมีรูปแบบเป็นการอภิปราย การอ่าน การบอกเล่าให้ฟังเพียงอย่างเดียว แต่จะนำองค์ประกอบทั้งสามของ Head Hand Heart ทำให้เกิดการเรียนรู้ โดยตัวอย่างการเรียนที่ของฐานคิด ฐานใจ และฐานกายมีดังนี้
ฐานคิด เรียนรู้จากการฟัง การบรรยาย การอ่าน การวิเคราะห์ เช่นการอ่านหนังสือ ฟังบรรยาย
ฐานใจ เรียนรู้ผ่านความพยายามเข้าใจ เชื่อมโยง เช่นการสะท้อนความรู้สึก การเรียนรู้คุณค่า
ฐานกาย เรียนรู้จากประสบการณ์การทำตามตัวอย่าง เช่นการทำงานตามคู่มือ การวาดภาพตามแบบ
ตัวอย่างการเรียนรู้เพื่อพัฒนาปัญญา 3 ฐาน
การเรียนรู้ที่ผสมผสานปัญญา 3 ฐาน จะช่วยทำให้ได้เรียนรู้และรู้จักความสามารถของปัญญา 3 ฐานได้เพิ่มขึ้น ซึ่งเราอาจจะเห็นได้ในตัวอย่างเช่น
ฐานคิดและฐานใจ เช่น การทำบทพูดของตัวละคร
ฐานคิดและฐานกาย เช่น การออกแบบสิ่งก่อสร้าง โครงสร้างของหน่วยงาน
ฐานใจและฐานกาย เช่น การวาดภาพ การร้องเพลง
ฐานคิด ฐานใจ และฐานกาย เช่น สร้างสวนสาธารณะ การอ่านหนังสือเสียงให้คนตาบอด
ในกิจกรรมแต่ละกิจกรรม หรือการเรียนรู้ จะมีองค์ประกอบของศูนย์หัว ศูนย์ใจ ศูนย์กายอยู่ ขึ้นอยู่กับลักษณะของสิ่งที่เกิดขึ้น และลักษณะของการเรียนรู้เช่น การร้องเพลง อาจสามารถสร้างการเรียนรู้ได้ทั้งศูนย์หัว ศูนย์ใจ ศูนย์กาย โดย
ศูนย์หัว เรียนรู้เกี่ยวกับ ทฤษฎีดนตรี
ศูนย์ใจ เรียนรู้เกี่ยวกับ การแสดงออกของความรู้สึกระหว่างการร้องเพลง
ศูนย์กาย เรียนรู้เกี่ยวกับ ทักษะการร้องด้วยเสียงประเภทต่างๆ
หรือการเรียนรู้ของวิทยาศาสตร์ที่ดูเหมือนกับเป็นศูนย์หัวเพียงอย่างเดียวนั้นก็สามารถสร้างพื้นที่การเรียนรู้ของปัญญา 3 ฐานได้เช่นในเรื่องปัญหาสิ่งแวดล้อมอาจเรียนรู้ได้จาก
ศูนย์หัว เรียนรู้เกี่ยวกับ ที่มาที่ไปของปัญหาสิ่งแวดล้อม การคาดการณ์ปัญหา
ศูนย์ใจ เรียนรู้เกี่ยวกับ สัตว์หรือชุมชนของผู้ที่ตกเป็นเหยื่อจากปัญหา
ศูนย์กาย เรียนรู้เกี่ยวกับ ประสบการณ์จริงจากการปลูกต้นไม้
การสร้างพื้นที่การเรียนรู้ให้เอื้อต่อการเรียนรู้ทั้ง Head Heart Hand ช่วยทำให้ผู้เรียนรู้มีแรงบันดาลใจ แรงจูงใจที่จะเรียนรู้ไปอย่างต่อเนื่องได้มากขึ้น เพราะมีองค์ประกอบทั้ง 3 สิ่งอยู่ นอกจากนี้ยังเป็นการเปิดโอกาสให้กลุ่มผู้เรียนรู้ที่มักจะทำตามความคุ้นชินเดิมๆ ของตัวเองได้ลงมือทำสิ่งที่แตกต่างออกไปจาก comfort zone ของตนเองด้วย
Urbinner เป็นพื้นที่ให้ทุกคนได้เติบโตจากการเรียนรู้ในทุกช่วงเวลาของชีวิต โดยทีมนักจัดกระบวนการจะพาคุณไปเรียนรู้ทักษะที่นำไปสู่การเข้าใจตัวเอง สร้างความสัมพันธ์ที่ดี และการตระหนักรู้ร่วมกัน เพื่อให้ทุกคนสามารถทำในสิ่งที่มีคุณค่าและความหมายสำหรับตัวเอง องค์กร และชุมชนของเราได้
コメント