จิตตปัญญาศึกษา (Contemplative Education) คือ การศึกษาที่นำการสำรวจใคร่ครวญ การเรียนรู้ผ่านประสบการณ์ เข้ากับการศึกษาในรูปแบบเพื่อความเข้าใจในตัวเอง สังคม และความเชื่อมโยงกับโลก โดยจิตตปัญญาศึกษาจะมองเห็นและตระหนักถึงความไม่สมดุลย์ของการเรียนรู้ในรูปแบบที่มุ่งเน้นแต่ความรู้ทางวิชาการ โดยละเลยความสำคัญของความหมายของชีวิต เรียนรู้ว่าตนเองเป็นใคร และมองเห็นเพื่อนความเป็นมนุษย์ของกันและกันร่วมกับเพื่อนร่วมชั้นเรียน
จิตตปัญญาศึกษาถูกเรียกโดยหลายๆ ชื่อเช่น การเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลง (Transformative Education) การเรียนรู้อย่างใคร่ครวญ การเรียนรู้สำหรับการตื่นรู้ (Awakening Learning) การเรียนรู้แบบองค์รวม (Holistic Learning)ซึ่งสิ่งเหล่านี้คือการศึกษาที่ทำให้เกิดการสำรวจตนเองภายใน การตระหนักรู้ และเข้าใจความเชื่อมโยงของมนุษย์กับชุมชน สังคม และโลก
จิตตปัญญาศึกษา คืออะไร?
จิตตปัญญาศึกษา คือ การศึกษาที่ทำให้เข้าใจโลกภายในของตัวเอง มีมุมมองที่หลากหลายเกี่ยวกับชีวิตและความจริงของมนุษย์ เพื่อก่อให้เกิดความสุข อิสระ และความรัก โดยอาศัยการเรียนรู้ผ่านการใคร่ครวญ การสังเกตสิ่งที่เกิดขึ้นภายในจิตใจ ความคิด และอารมณ์ ผ่านประสบการณ์ตรงจากการเรียนในรูปแบบของการมีประสบการณ์ตรง
จิตตปัญญาศึกษาแตกต่างกับการศึกษาทั่วไปอย่างไร
จิตตปัญญาศึกษาเป็นกระบวนการศึกษาที่มุ่งเน้นการเรียนรู้ภายในตนเองเป็นหลัก ซึ่งจะเกิดจากการเรียนรู้ที่ทำให้ผู้เรียนได้ตระหนักถึงสิ่งที่เกิดขึ้นภายในตนเอง ผ่านกิจกรรมที่สนับสนุนให้เกิดการเรียนรู้ ทำให้เห็นความเชื่อมโยงของเพื่อนมนุษย์
“การศึกษาที่แท้คือ การศึกษาที่ไม่เอาตำราเป็นตัวตั้ง แต่ต้องเป็นความรู้ทางปัญญาที่จะเกิดขึ้นได้ด้วยความเชื่อมโยงกันในสามภาค คือ ความรู้ ภาควิชาชีพ และภาคจิตวิญญาณ"
สิริริตน์ นาคิน
แนวทางการปฏิบัติของจิตตปัญญาศึกษา (Tree of Contemplative Practices)
การปฏิบัติ กระบวนการ หรือแนวคิดของจิตตปัญญาสามารถมองภาพเปรียบเทียบกับต้นไม้ได้ โดยที่มีทั้งลำต้น กิ่งก้าน และใบที่มีชีวิต แม้ว่าใบจะเกิดจากกิ่ง และกิ่งเกิดจากลำต้น แต่ทั้งสามสิ่งคือสิ่งที่สำคัญของต้นไม้ โดยสามารถฝึกปฏิบัติได้ดังนี้
การปฏิบัติผ่านความสงบนิ่ง (stillness practice) เป็นการมุ่งเน้นความสงบ และตั้งมั่นของร่างกาย จิตใจ สามารถฝึกปฏิบัติได้ผ่านกระบวนการเช่น การสัมผัสความเงียบ, การทำสมาธิ หรือการสงบใจ
การปฏิบัติผ่านกิจกรรมรังสรรค์(generative practices) เป็นการฝึกเพื่อให้เกิดความรักความเมตตา หรือมีจิตที่บริสุทธิ์ สามารถฝึกปฏิบัติได้ผ่านกระบวนการเช่น การสวดมนต์ การฝึกปฏิบัติความรักและเมตตา ภาวนา ทองเล็น
การปฏิบัติผ่านกระบวนการเชิงสร้างสรรค์ (creation process practices) หมายถึง การสังเกตใคร่ครวญภายในและพัฒนาญาณทัศนะ (intuition) และความละเอียดอ่อนประณีต สามารถฝึกปฏิบัติได้ผ่านกระบวนการเช่น การวาดภาพ จัดดอกไม้ การร้องเพลง
การปฏิบัติผ่านการทำกิจกรรมทางสังคม (activist practice) เป็นการสัมผัสเรียนรู้และใคร่ครวญเห็นความเชื่อมโยงแห่งเหตุปัจจัยของความสุข และทุกข์ในชีวิตจริง สามารถฝึกปฏิบัติได้ผ่านกระบวนการเช่น การทำกิจกรรมจิตอาสา การทำงาน
การปฏิบัติผ่านกระบวนการเชิงความสัมพันธ์ (relational practice) เป็นการฝึกสติ เฝ้ามองสภาวะภายใน สะท้อนตนเอง อาศัยความสัมพันธ์ ของกัลยาณมิตรสะท้อนซึ่งกันและกัน สามารถฝึกปฏิบัติได้ผ่านกระบวนการเช่น สุนทรียสนทนา การฝึกฟังอย่างลึกซึ้ง การปรึกษาในรูปแบบวงสนทนา การสนทนากับเสียงภายใน (Voice Dialogue) การเล่าเรื่อง
การปฏิบัติผ่านการเคลื่อนไหว (movement practice) เป็นการฝึกสังเกตและมีสติอยู่กับการ เคลื่อนไหวร่างกาย สามารถฝึกปฏิบัติได้ผ่านกระบวนการเช่น โยคะ ซี่กง ไทเก๊ก การเดินสมาธิ การเต้น ไอกิโด
การปฏิบัติผ่านพลังพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ (ritual/cyclical practice) เป็นการสัมผัสพลัง/จิตวิญญาณขออง ธรรมชาติ และสัมผัสเรียนรู้ตนเอง เพื่อพัฒนาความสงบเย็นและละเอียดประณีตภายใน สามารถฝึกปฏิบัติได้ผ่านกระบวนการเช่น การสวดมนต์ภาวนา นิเวศภาวนา (Vision Quest) การปลีกวิเวก สัมผัสธรรมชาติ (Retreat)
นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมอื่นๆ ที่ไม่ได้กล่าวมาในนี้ ซึ่งไม่ได้หมายความว่ากิจกรรมหรือการฝึกปฏิบัติเหล่านั้นไม่ได้ทำให้เกิดความเข้าใจในจิตตปัญญาศึกษา แต่หากเป็นกิจกรรม กระบวนการ หรือการฝึกปฏิบัติ เพื่อบ่มเพาะเมล็กพันธุ์แห่งปัญญาและความตระหนักรู้ ก็ล้วนแต่เป็นกระบวนการปฏิบัติของจิตตปัญญาเช่นกัน
Urbinner เป็นพื้นที่ให้ทุกคนได้เติบโตจากการเรียนรู้ในทุกช่วงเวลาของชีวิต โดยทีมนักจัดกระบวนการจะพาคุณไปเรียนรู้ทักษะที่นำไปสู่การเข้าใจตัวเอง สร้างความสัมพันธ์ที่ดี และการตระหนักรู้้ร่วมกัน เพื่อให้ทุกคนสามารถทำในสิ่งที่มีคุณค่าและความหมายสำหรับตัวเอง องค์กร และชุมชนของเราได้
Comments